นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธีมอบ
รางวัลอุตสาหกรรม ประจำปี พ.ศ. 2563 เผยผู้ประกอบการ
ภาคอุตสาหกรรมไทย ตื่นตัวด้านเทคโนโลยี และนวัตกรรม พร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงและก้าวสู่อุตสาหกรรม 4.0พลเอก ประยุทธ์
จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้เกียรติเป็นประธานในพิธี
มอบรางวัลอุตสาหกรรม ประจำปี พ.ศ. 2563 (The Prime Minister's Industry Award 2020) ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมจัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 28 โดยมี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวงอุตสาหกรรม ข้าราชการ และผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมร่วมงานกว่า 350 คน ทั้งนี้ ภายในงานมีการจัดนิทรรศการแสดงผลงานและความสำเร็จของผู้ประกอบการที่ได้รับรางวัลอุตสาหกรรม ประจำปี พ.ศ. 2563 จำนวน 79 รางวัล ประกอบด้วย รางวัลอุตสาหกรรมยอดเยี่ยม 1 รางวัล รางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น 48 รางวัล และรางวัลอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมดีเด่น 30 รางวัล พร้อมมอบรางวัลชมเชย 5 รางวัลเพื่อเป็นกำลังใจให้กับผู้ประกอบการในการพัฒนาธุรกิจและอุตสาหกรรมของประเทศต่อไป พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวแสดงความยินดีกับผู้ประกอบการที่ได้รับรางวัลอุตสาหกรรม ประจำปี พ.ศ. 2563 พร้อมเน้นย้ำว่า ภาคอุตสาหกรรม มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศไปสู่ยุค 4.0 โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่แนวโน้มเศรษฐกิจของโลกมีการเปลี่ยนแปลงและเติบโตอย่างรวดเร็ว การนำเทคโนโลยี และนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้เสริมสร้างศักยภาพทั้งด้านการผลิต และผสานความคิดสร้างสรรค์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์สินค้า ถือเป็นการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับภาคอุตสาหกรรมไทย ตามนโยบายของรัฐบาล ที่มุ่งเน้นการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและนำประเทศไปสู่ ประเทศไทย 4.0"การพัฒนาภาคอุตสาหกรรมไปสู่เป้าหมายหลักของประเทศนั้น หัวใจสำคัญ คือ ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม ซึ่งต้องร่วมมือร่วมใจกันขับเคลื่อนพัฒนาเพื่อให้เกิดคุณภาพมาตรฐาน นำเทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้ในการบริหารจัดการ ปรับปรุงระบบการผลิตและการให้บริการอย่างเหมาะสมสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงและแนวโน้มเศรษฐกิจของโลก เพื่อทำให้เกิดศักยภาพทางการแข่งขันในตลาดสากลได้อย่างมั่นคง เข้มแข็งต่อไป"นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ยังได้ฝากให้ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมไทย คำนึงถึงความใส่ใจต่อผู้บริโภค ความปลอดภัย และช่วยกันดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมทั้งชุมชนโดยรอบและของประเทศอย่างสมดุล รวมทั้งเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมรายอื่นๆ นำไปปรับใช้และปฏิบัติตามด้านนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า จากสถานการณ์และการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของโลกที่ผ่านมา ส่งผลให้ผู้ประกอบการเกิดความตระหนักและตื่นตัว ในการพัฒนาธุรกิจเพื่อให้พร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงและโอกาสใหม่ๆ เพื่อก้าวไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 โดย กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ดำเนินการตามนโยบายหลักของรัฐบาลในการยกระดับความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมสู่ 4.0 เพื่อขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศให้เกิดความมั่นคง และเข้มแข็ง โดย กำหนดเป้าหมาย ยุทธศาสตร์ และออกมาตรการเชิงบูรณาการอย่างต่อเนื่อง เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนผู้ประกอบการ ทั้งภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ขนาดกลางและขนาดเล็ก ให้เข้าถึงและสามารถใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการพัฒนาบุคลากรให้ตอบโจทย์อุตสาหกรรมเป้าหมาย เร่งสร้างทักษะ ปรับปรุง และพัฒนาองค์ความรู้ต่าง ๆ อย่างสอดคล้องกับสภาวการณ์การแข่งขันในปัจจุบันและอนาคตทั้งนี้การมอบรางวัลอุตสาหกรรม นับเป็นกิจกรรมหลักในการสนับสนุน ส่งเสริม และพัฒนาผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม ให้มีคุณภาพมาตรฐาน และเสริมสร้างความพร้อมในการแข่งขันระดับสากลอีกด้วย สำหรับรางวัลอุตสาหกรรม ประจำปี พ.ศ. 2563 คณะกรรมการได้พิจารณาตัดสินตามเกณฑ์ที่กำหนด โดยมีผู้ประกอบการได้รับรางวัลรวม 79 ราย จากผู้สมัครทั้งสิ้น 260 ราย ประกอบด้วยรางวัลอุตสาหกรรมยอดเยี่ยม 1 รางวัล ผู้ประกอบการที่ได้รับรางวัลในปีนี้ คือ บริษัท เอฟแอนด์เอ็น แดรี่ส์ (ประเทศไทย)จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค ภายใต้ตราสินค้า คาร์เนชัน ทีพอท แมกโนเลีย ตราหมี ฯลฯ ซึ่งการันตรีความสำเร็จด้วยมาตรฐานความเป็นเลิศ 3 ด้าน ได้แก่ รางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น ประจำปี 2557 ประเภทการเพิ่มผลผลิต รางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น ประจำปี 2558 ประเภทการจัดการพลังงาน และรางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น ประจำปี 2560 ประเภทการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม สำหรับรางวัลอุตสาหกรรมยอดเยี่ยม เป็นการพิจารณาตัดสินจากผู้ที่เคยได้รับรางวัลอุตสาหกรรมดีเด่นมาแล้วไม่ต่ำกว่า 3 ประเภทรางวัล โดยปีนี้มีผู้สมัครเข้ารับการคัดเลือก จำนวน 3 ราย
รางวัลอุตสาหกรรมดีเด่น จำนวน 48 รางวัล แบ่งออกเป็น 8 ประเภทรางวัล ได้แก่ ประเภทการเพิ่มผลผลิต จำนวน 2 รางวัล, ประเภทการรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม จำนวน 4 รางวัล, ประเภทการบริหารความปลอดภัย จำนวน 4 รางวัล, ประเภท การบริหารงานคุณภาพ จำนวน 14 รางวัล, ประเภทการจัดการพลังงาน จำนวน 6 รางวัล, ประเภทการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน จำนวน 4 รางวัล, ประเภทอุตสาหกรรมศักยภาพ จำนวน 6 รางวัล, และประเภทความรับผิดชอบต่อสังคม จำนวน 8 รางวัลรางวัลอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมดีเด่น จำนวน 30 รางวัล แบ่งออกเป็น 4 ประเภทรางวัล ได้แก่ ประเภทการบริหารจัดการ จำนวน 6 รางวัล, ประเภทการพัฒนาผลิตภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์ จำนวน 10 รางวัล,ประเภทการจัดการเทคโนโลยีเชิงนวัตกรรม จำนวน 11 รางวัล และประเภทบริหารธุรกิจสู่สากล จำนวน 3 รางวัลนอกจากนี้ ยังได้มีการพิจารณามอบรางวัลชมเชย ให้กับผู้ประกอบการในส่วนของรางวัลอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมดีเด่น อีกจำนวน 5 รางวัล เพื่อเป็นกำลังใจให้ผู้ประกอบการในการปรับปรุงพัฒนาธุรกิจต่อไป