จากผลสำรวจมหาวิทยาลัยสีเขียวโลก ปี พ.ศ.2563 (UI Green Metric World University Ranking 2020) ที่จัดทำโดย University of Indonesia (UI) ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อเร็วๆ นี้ ได้ประกาศว่า มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นสถาบันการศึกษาสีเขียวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่สุดในโลก เป็นอันดับที่ 62 ของโลก และอันดับ 1 ของประเทศไทย จากจำนวนมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมการจัดอันดับรวมทั้งสิ้นจำนวน 912 แห่ง โดยได้คะแนนรวมที่ 7,875 คะแนน จากเกณฑ์การประเมิน 6 ด้าน คือ สถานที่ตั้งและระบบสาธารณูปโภค (Setting & Infrastructure) การจัดการพลังงานและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Energy & Climate Change) การจัดการขยะ (Waste) การใช้น้ำ (Water) การจัดการระบบขนส่ง (Transportation) และ การศึกษา/การวิจัย (Education & Research)
ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับการจัดอันดับมหาวิทยาลัยสีเขียวโลก ปี พ.ศ.2563 (UI Green Metric World University Ranking 2020) ที่จัดทำโดย University of Indonesia (UI) ประเทศอินโดนีเซีย เป็นอันดับ 1 ของประเทศไทย 5 ปีซ้อน โดยปีพ.ศ. 2559 ได้อันดับที่ 70 ของโลก ปีพ.ศ.2560 ได้อันดับที่ 86 ของโลก ปีพ.ศ.2561 ได้อันดับที่ 89 ของโลก ปีพ.ศ.2562 ได้อันดับที่ 75 ของโลก และล่าสุด ปีพ.ศ.2563 ได้อันดับที่ 62 ของโลก ซึ่ง มหาวิทยาลัยสีเขียวโลก ปี พ.ศ.2563 (UI Green Metric World University Ranking 2020) ที่จัดทำโดย University of Indonesia (UI) ประเทศอินโดนีเซีย มีสถาบันอุดมศึกษาของไทยติดอันดับทั้งสิ้น 37 แห่ง โดย มหาวิทยาลัยที่ได้ 5 อันดับแรกของไทย คือ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้อันดับ 62 ของโลก (7,875 คะแนน), มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้อันดับ 73 ของโลก (7,775 คะแนน), มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ได้อันดับที่ 81 ของโลก (7,675 คะแนน), มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ อันดับ 82 ของโลก (7,675 คะแนน) และ มหาวิทยาลัยสยาม ได้อันดับที่ 93 ของโลก (7,575 คะแนน) โดย "สุดยอดมหาวิทยาลัยสีเขียว" ของโลกประจำปี 2020 จากผลสำรวจในครั้งนี้ ได้แก่ Wageningen University & Research ประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งได้รับคะแนนจากการประเมินทั้ง 6 ด้านที่ 9,150 คะแนน
"ทรัพยากรที่มีอยู่บนโลกใบนี้ "ถูกทำลาย" ได้เร็วกว่า "การทดแทน" ยกตัวอย่างต้นไม้ใหญ่ซึ่งใช้เวลาตัดด้วยเลื่อยไฟฟ้าด้วยเวลาเพียงไม่ถึง 10 นาที ทั้งๆ ที่กว่าจะปลูกให้ได้เป็นต้นไม้ใหญ่ต้องใช้เวลามากถึง 100 ปีขึ้นไป เช่นเดียวกับการทิ้งขยะที่เป็นถุงพลาสติก ใช้เวลาทิ้งด้วยเวลาเพียง 5 นาที แต่ใช้เวลาย่อยสลายถึง 1,000 ปี จึงอยากให้หันมามองกันว่า จริงๆ แล้วเรามี "ความจำเป็น" ที่จะต้องใช้ทรัพยากรมากถึงขนาดนั้นหรือไม่ หรือเป็นเพียง "ความอยากได้" ถ้าเรา "บริโภคเกินความจำเป็น" จะ "ไม่เป็นการยุติธรรม" สำหรับชีวิตในอนาคต ซึ่งจะกระทบต่อ "สิทธิในการบริโภค" ของคนรุ่นลูกรุ่นหลาน เพราะฉะนั้น "ความพอเพียง" จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เกิด "ความยั่งยืน" ต่อไป" ศาสตราจารย์ นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ กล่าว
รองศาสตราจารย์ ดร.กิติกร จามรดุสิต รองอธิการบดีฝ่ายสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวเสริมว่า "โลกนี้อยู่ได้โดยไม่มีมนุษย์ แต่มนุษย์อยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีโลกนี้" การจัดอันดับ หรือ Ranking เป็นเรื่องสำคัญ เพราะทำให้แต่ละมหาวิทยาลัยรู้ว่า ยังมีจุดใดที่ต้องพัฒนาเพิ่ม จึงอยากเห็นมหาวิทยาลัยไทยให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าวกันให้มากขึ้น โดยในปีนี้มีมหาวิทยาลัยไทยที่สามารถเข้าไปอยู่ในอันดับโลก 37 แห่ง คิดเป็นจำนวนร้อยละ 17 ของมหาวิทยาลัยไทยทั้งหมด ซึ่งในจำนวนนี้มีเพียง 5 แห่งที่สามารถขึ้นในอันดับ Top 100 มหาวิทยาลัยสีเขียวโลก จึงอยากให้มหาวิทยาลัยไทยร่วมขับเคลื่อนไปด้วยกัน เพื่อการสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็งและยั่งยืนต่อไป
HTML::image( HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit