คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จัดงานเสวนาเชิงวิชาการในหัวข้อ “ธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรีในยุคนิวนอร์มอล กับบทบาทของภาครัฐในการกำกับดูแลที่เอื้อต่อการพัฒนาของเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล” โดยได้รับเกียรติจาก 3 นักวิชาการชั้นนำระดับประเทศ ประกอบด้วย ดร. ปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรคและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ พรรคประชาธิปัตย์ รศ.ดร.คณิสร์ แสงโชติ อาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ รศ.ดร.เจษฎ์ โทณะวณิก นักวิชาการทางกฎหมาย ร่วมแสดงทรรศนะที่มีต่ออุตสาหกรรมการสั่งอาหารออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชันหรือฟู้ดเดลิเวอรี ทั้งทิศทางและแนวโน้มการเติบโต ผลกระทบและความท้าทายต่างๆ ตลอดจนบทบาทของภาครัฐที่มีต่อการกำกับดูแลธุรกิจดังกล่าวให้เอื้อต่อการพัฒนาในด้านเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล โดยมีเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานราชการ ผู้ให้บริการแอปพลิเคชัน ผู้ประกอบการร้านอาหาร สื่อมวลชนและบุคคลที่สนใจเข้าร่วมรับฟัง
อาจารย์แทนรัฐ คุณเงิน อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้นำเสนอบทความวิชาการในหัวข้อ “บริการจัดส่งอาหารออนไลน์ในประเทศไทย: ทำความเข้าใจรูปแบบของอุตสาหกรรม ผลกระทบ และอนาคต” โดยระบุว่า ปัจจุบัน ฟู้ดเดลิเวอรีหรือการจัดส่งอาหารออนไลน์ถือเป็นหนึ่งในธุรกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็วในช่วง 1 - 2 ปีที่ผ่านมา ผู้ประกอบการร้านอาหารจำนวนมากเริ่มหันมาใช้แอปพลิเคชันหรือแพลตฟอร์มต่างๆ ในการเข้าถึงผู้บริโภคเพื่อสร้างรายได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เนื่องจากมีความจำเป็นต้องจัดหาช่องทางที่จะช่วยชดเชยยอดขายที่หายไปจากลูกค้าหน้าร้าน โดยข้อมูลจากศูนย์วิจัยกสิกรไทยรายงานว่า ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้มีร้านอาหารขนาดกลางและขนาดเล็กสมัครเข้าร่วมการใช้งานแพลตฟอร์มบริการส่งอาหารอย่างน้อย 20,000 ร้านต่อสัปดาห์ในช่วงการล็อคดาวน์ โดยผู้ให้บริการแอปพลิเคชันอย่างไลน์แมนระบุว่ามีจำนวนร้านอาหารเพิ่มขึ้นกว่า 15,000 ร้านภายในเวลาเพียง 10 วัน จากปกติต้องใช้เวลาหลายเดือน ขณะที่ฟู้ดแพนด้ามียอดคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น 20 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหลังการพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องของออเดอร์สั่งอาหารในช่วงปลดล็อค นอกจากนี้ ธุรกิจดังกล่าวยังก่อให้เกิดการสร้างงานและรายได้ให้กับคนขับนับหลายแสนรายอีกด้วย
การเติบโตแบบก้าวกระโดดของธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรียังทำให้เกิดประเด็นสำคัญที่ถูกจับตามองเป็นอย่างมาก นั่นคือ รูปแบบการดำเนินธุรกิจที่ถูกมองว่าอาจก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันหรือการกีดกันทางการค้า ส่งผลให้หน่วยงานภาครัฐเข้ามามีบทบาทในการกำหนดแนวปฏิบัติต่างๆ ที่ส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรมกับทุกฝ่าย อาทิ การประกาศของกระทรวงพาณิชย์ให้บริการขนส่งสินค้าสำหรับธุรกิจออนไลน์เป็นสินค้าและบริการควบคุม รวมถึงการจัดทำร่างประกาศ “แนวทางพิจารณาการปฏิบัติทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบธุรกิจให้บริการรับและส่งอาหารผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์กับผู้ประกอบธุรกิจร้านอาหาร” โดยสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (สขค.) เป็นต้น
“ในฐานะนักวิชาการด้านกฎหมาย เราคาดหวังที่จะเห็นการสร้างสภาวะการแข่งขันที่เป็นธรรมเพื่อส่งเสริมเสรีภาพทางการค้าและก่อให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะรูปแบบของเศรษฐกิจดิจิทัลซึ่งถือเป็นช่องทางแห่งยุคสมัยที่มีศักยภาพอย่างสูงในการสร้างการหมุนเวียนของเม็ดเงินในระบบ ในขณะเดียวกัน ภาครัฐควรเข้ามามีบทบาทในการส่งเสริมการแข่งขันทางธุรกิจให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย รวมถึงการสร้างสมดุลระหว่าง 4 องค์ประกอบของธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี ได้แก่ ผู้ให้บริการแอปพลิเคชัน ร้านอาหาร คนขับ และผู้ใช้บริการด้วยเช่นกัน” อาจารย์แทนรัฐ กล่าว