'บมจ.แอดวานซ์อินฟอร์เมชั่นเทคโนโลยี' (AIT) ผู้นำในธุรกิจบริการออกแบบและรับเหมาวางระบบโครงข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เผยผลการดำเนินงานจากงบเฉพาะกิจการในไตรมาส 3/63 มีกำไรสุทธิ 139 ล้านบาท และรายได้อยู่ที่ 2,241 ล้านบาท ส่งผลให้งบ 9 เดือนจากงบเฉพาะกิจการมีกำไรสุทธิรวม 253 ล้านบาท และรายได้ 4,660 ล้านบาท พร้อมตุน Backlog 6,600 ล้านบาท หนุนผลการดำเนินงานทั้งปีแตะ 6,000 ล้านบาท ตามเป้าหมาย ชี้การลงทุนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารมีความจำเป็นในการพัฒนาประเทศ
นายศิริพงษ์ อุ่นทรพันธุ์ ประธานคณะกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอ็ดวานซ์ อินฟอร์เมชั่นเทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ AIT ผู้นำในธุรกิจบริการออกแบบและรับเหมาวางระบบโครงข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานในไตรมาส 3/63 (กรกฎาคม - กันยายน 2563 ) บริษัทฯได้ส่งมอบงวดงานโครงการขนาดใหญ่หลายโครงการได้มากขึ้น เนื่องจากรัฐบาลได้เริ่มมาตรการผ่อนคลายการป้องกันการแพร่ของโรค COVID-19 ทำให้บริษัทฯสามารถดำเนินการโครงการได้เพิ่มขึ้น เช่น โครงการซื้อและติดตั้งระบบ Cloud ของ กสท.โทรคมนาคม โครงการจ้างพัฒนาระบบการจำหน่ายตั๋วโดยสารและสำรองที่นั่ง (D-Ticket) ของการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นต้น จึงส่งผลให้ผลประกอบการจากงบเฉพาะกิจการในไตรมาสนี้ มีรายได้อยู่ที่ 2,241 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 25% เทียบกับงวดไตรมาสเดียวกันของปีก่อนที่ทำได้ 1,799 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 139 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 48% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีกำไรสุทธิ 94 ล้านบาท
ขณะที่ผลการดำเนินงานงวด 9 เดือนแรกจากเฉพาะงบกิจการในปี 2563 (มกราคม-กันยายน 2563) ลดลงมาเล็กน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีกำไรสุทธิ 253 ล้านบาท ลดลง 12% จากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 286 ล้านบาท และมีรายได้รวม 4,660 ล้านบาท ลดลง 3% จากรายได้ในปีที่ผ่านมาที่ 4,796 ล้านบาท โดยเป็นผลมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 อย่างไรก็ตาม หลังจากสถานการณ์ดังกล่าวภายในประเทศเริ่มคลี่คลาย บริษัทฯ ได้เร่งดำเนินงานและส่งมอบงานโครงการในมือทั้งภาครัฐและภาคเอกชนได้ตามแผนที่วางไว้ ซึ่งช่วยสนับสนุนการเติบโตให้แก่ AIT ได้ตามเป้าหมาย
ประธานคณะกรรมการบริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ AIT กล่าวเพิ่มเติมว่า มั่นใจรายได้รวมปีนี้จะทำได้ตามเป้าหมายที่ 6,000 ล้านบาท โดยปัจจุบันมีมูลค่างานในมือ (Backlog) ณ วันที่ 5 พฤศจิกายน 2563 อยู่ที่ 6,600 ล้านบาท ซึ่งจะทยอยรับรู้ในปีนี้ส่วนหนึ่งและจะทยอยรับรู้ในปีต่อๆไป อีกทั้งยังมีงานที่อยู่ระหว่างรอใบคำสั่งซื้อจากลูกค้าประมาณ 85 ล้านบาท นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังเตรียมความพร้อมเข้าร่วมประมูลงานใหม่ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมั่นใจว่าทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจะทยอยลงทุนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารอย่างต่อเนื่อง เพราะมีความจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศ
นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทครั้งที่ 7/2563 เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา ได้มีมติอนุมัติลงทุนเพิ่มเติมใน Campana Pte. Ltd. ("Campana") จำนวนเงิน 1.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ เพื่อรักษาสัดส่วนการถือหุ้นโดยตรงในบริษัทดังกล่าวไม่ต่ำกว่า 5 % อีกทั้งเห็นว่าจะให้ผลประโยชน์ตอบแทนดีในระยะ 5 ปีข้างหน้า โดยปัจจุบัน Campana ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการเดินสายเคเบิ้ลใต้ทะเลในฝั่งอันดามันเพื่อให้บริการเช่าลิงค์ในประเทศสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา (พม่า)ไปยังประเทศสิงคโปร์เพื่อเชื่อมต่อระบบการสื่อสารไปยังนานาประเทศทั่วโลก ซึ่งประกอบด้วย 2 โครงการหลัก ได้แก่ 1.SIGMA โครงการไฟเบอร์ออฟติคเคเบิลใต้น้ำ คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ในปี 2564 และ 2.TARO โครงการไฟเบอร์ออฟติคเคเบิลบนดินเชื่อมต่อระหว่างประเทศพม่ากับประเทศไทย ซึ่งได้เปิดให้บริการแล้วเมื่อต้นปี 2561
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit