จากข้อมูลกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในปี 2561 พบว่ามีจำนวนผู้พิการทางการได้ยินหรือสื่อความหมายทั่วประเทศ 375,680 คน (ร้อยละ 18.41) โดยผู้พิการส่วนใหญ่ได้รับการศึกษาอยู่ในระดับประถมศึกษามากที่สุด ซึ่งเป็นวัยที่กำลังเปิดรับความรู้ในเรื่องต่าง ๆ การปลูกฝังการเรียนรู้ให้กับเด็กนั้นถือเป็นรากฐานของการเติบโตในอนาคต ดังนั้น นางสาวภัทรวดี บรรพบุตร และนางสาวอรพรรณ ดวงภมร นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาเทคโนโลยีมัลติมีเดีย คณะเทคโนโลยีสื่อสารมวลชน จึงได้จัดทำหนังสือเสริมการเรียนการสอนผู้บกพร่องทางการได้ยิน “สำนวน สุภาษิต และคำพังเพย” ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงงานเรื่องเทคโนโลยีความจริงเสริมการเรียนการสอนสำนวนไทยสำหรับผู้บกพร่องทางการได้ยิน
นางสาวภัทรวดี บรรพบุตร เปิดเผยว่า ถึงแม้ว่าผู้บกพร่องทางการได้ยินจะมีข้อจำกัดในการเรียนรู้มากกว่าคนปกติทั่วไป แต่เทคโนโลยีในปัจจุบันสามารถทำให้เกิดการเรียนการสอนในรูปแบบใหม่ๆ ผ่านสื่อที่หลากหลาย โดยเฉพาะเทคโนโลยีความจริงเสริม (Augmented Reality หรือ AR) นำมาผสมผสานกับหนังสือเสริมการเรียนการสอน โดยนำความรู้ในห้องเรียนมาประยุกต์ใช้กับการออกแบบหนังสือนิทานสำนวน สุภาษิต และคำพังเพย เพื่อให้นักเรียนที่มีความบกพร่องทางการได้ยินได้ใช้เสริมทักษะทางการเรียนการสอน โดยมอบชุดนิทานให้กับโรงเรียนเศรษฐเสถียร ในพระราชูปถัมภ์ ซึ่งเป็นโรงเรียนสอนคนหูหนวกแห่งแรกของประเทศไทย หนังสือนิทานเล่มนี้จะเป็นต้นแบบในการเรียนรู้เพื่อสร้างโอกาสให้กับผู้พิการได้เรียนรู้ผ่านเทคโนโลยีรูปแบบใหม่ ๆ สำหรับความยากของผลงานนี้คือการวาดภาพตัวละคร และฉากหลังให้ออกมาน่าสนใจและดึงดูดผู้อ่าน รวมถึงแอปพลิเคชันที่ใช้ในการ แสกน AR ที่ต้องสร้างขึ้นใหม่เพื่อรองรับการใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยได้รับคำปรึกษาจากผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ฉันทนา ปาปัดถา อาจารย์สาขาวิชาเทคโนโลยีมัลติมีเดีย และเพื่อนๆ ในสาขาที่ฝึกงานด้านการทำ AR
ด้าน นางสาวอรพรรณ ดวงภมร อธิบายเพิ่มเติมว่า ขั้นตอนในการทำนิทานผู้บกพร่องทางการได้ยิน ผ่านเทคโนโลยี AR ได้แบ่งออกเป็น 3 ขั้นตอน ได้แก่ การออกแบบลักษณะตัวละครให้เหมาะสม และฉากหลังแต่ละสำนวน เน้นการใช้สีในเรื่องให้ดูสดใส น่าอ่าน โดยใช้โปรแกรม Adobe Illustrator ขั้นตอนต่อไปการนำตัวละครมาทำ Motion หรือภาพเคลื่อนไหว พร้อมใส่เสียงบรรยายประกอบ วิดีโอภาษามือ เพื่อให้งานดูมีลูกเล่นมาก และขั้นตอนสุดท้ายการผลิตหนังสือ ผ่านโปรแกรม InDesign “รู้สึกภูมิใจกับผลงานที่ออกมา ซึ่งนอกจากจะเป็นการช่วยให้นักเรียนที่บกพร่องทางการได้ยิน ได้เรียนรู้ผ่านเทคโนโลยีใหม่ ๆ ยังได้ใช้ความรู้จากห้องเรียนในทุก ๆ วิชามาผสมผสานให้เกิดผลงานที่มีประโยชน์ต่อสังคมอีกด้วย”
ถือเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมที่นอกจากจะช่วยพัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้ให้ผู้พิการทางการได้ยินแล้ว ยังเป็นการสร้างแรงบัลดาลใจในการพัฒนา คิดสร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรมต่อยอดเพื่อผู้พิการทางการได้ยินต่อไป