จากสถานการณ์ โควิด-19 ในประเทศไทย ณ ปัจจุบัน ที่ดูเหมือนจะคลี่คลายไปได้ในระดับหนึ่ง (คณะผู้เขียน เขียนบทความนี้เมื่อวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2563) อ้างอิงจากตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ในประเทศที่มีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่อง มาตรการต่างๆที่รัฐออกมาคุมเข้ม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มาตรการปิดเมือง ปิดพื้นที่เสี่ยงในหลายๆจังหวัด รวมถึงการประกาศคำสั่งห้ามประชาชนออกนอกเคหสถานในเวลากลางคืนทั่วประเทศ ดูเหมือนจะใช้ได้ผลจริงถึงแม้ว่าจะต้องแลกมาด้วยการสูญเสียทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างใหญ่หลวงก็ตาม
แต่คำถามหนึ่งที่คนไทยหลายคนคงมีอยู่ในใจตอนนี้คือ “แล้วไงต่อ?” ถ้าเปิดเมืองแล้วจะเป็นยังไง รัฐจะมีมาตรการอะไรออกมาเพื่อทำให้ประชาชนมั่นใจว่า โควิด-19 จะไม่กลับมาระบาดอีกครั้ง ไม่อย่างนั้นแล้ว มาตรการต่างๆที่รัฐทำไปในรอบนี้ก็จะไร้ประโยชน์ และอาจจะต้องมีการปิดเมืองรอบสองตามมาในอีกไม่ช้านี้ นอกจากนี้แล้ว รัฐก็จำเป็นจะต้องให้ความสำคัญต่อการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจของประเทศควบคู่ไปด้วย เพราะเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ว่า หลายธุรกิจหรือหลายสาขาอาชีพยังคงจะได้รับผลกระทบเชิงลบจากสถานการณ์ โควิด-19 ในประเทศไทยต่อไปอีกสักระยะถึงแม้ว่าการระบาดจะสามารถควบคุมได้ในรอบนี้ พูดง่ายๆก็คือ หลังเปิดเมืองแล้ว เราจะทำอย่างไรไม่ให้เรา “การ์ดตก” ตามคำเปรียบเปรยของ นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ทั้งในด้านจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 และ ด้านผลกระทบทางเศรษฐกิจของประเทศ
อะไรเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยต้องกลับมาเจอกับการระบาดของโควิด-19 อย่างรุนแรงอีกครั้ง หรือ ที่หลายคนใช้คำว่า “คลื่นลูกที่สอง” เหมือนที่ ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ กำลังประสบปัญหานี้อยู่ ในบทความนี้ทางคณะผู้เขียนมีความตั้งใจที่จะนำเสนอมุมมองและคำแนะนำเกี่ยวกับนโยบายหรือแนวทางปฏิบัติที่รัฐควรจะต้องคำนึงถึงโดยอ้างอิงจากลักษณะงานที่ประยุกต์ใช้แนวคิดการเว้นระยะห่างทางสังคม (หรือ social distancing) ในระดับที่แตกต่างกันซึ่งอาจจะเป็นสาเหตุสำคัญอันหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยต้องกลับมาเจอคลื่นลูกที่สองของการระบาดโควิด-19 อย่างรุนแรงอีกครั้งก็เป็นได้
ทางคณะผู้เขียนได้นำข้อมูลของ ONET มาศึกษา ONET หรือ The Occupational Information Network คือฐานข้อมูลที่ถูกจัดทำขึ้นจากการสนับสนุนของกระทรวงแรงงานประเทศสหรัฐอเมริกา โดยทำการสำรวจลักษณะและรูปแบบการทำงานของอาชีพต่างๆมากกว่า 900 อาชีพ (ในประเทศไทยเราไม่มีข้อมูลในลักษณะนี้) นักวิจัยในหลายประเทศรวมทั้งในประเทศไทยก็ได้นำข้อมูลจาก ONET มาศึกษาโดยอาศัยสมมุติฐานที่ว่า โดยรวมแล้วการทำงานประเภทเดียวกันในประเทศต่างๆจะมีลักษณะและรูปแบบการทำงานที่ใกล้เคียงกัน (เช่น ครูในประเทศสหรัฐอเมริกามีรูปแบบการทำงานไม่แตกต่างกันมากนักเมื่อเทียบกับครูในประเทศไทย ทั้งคู่ต้องมีความสามารถในด้านการสื่อสาร เป็นต้น) จากข้อมูลของ ONET ทางคณะผู้เขียนพบว่ามีอาชีพจำนวนไม่น้อยที่การประยุกต์ใช้แนวคิดการเว้นระยะห่างทางสังคมในการทำงานอาจจะเป็นเรื่องยาก
ตารางที่ 1 แสดงให้เห็นถึงตัวชี้วัดและตัวอย่างอาชีพที่ประยุกต์ใช้การเว้นระยะห่างทางสังคมในระดับความยาก/ง่ายที่แตกต่างกัน โดยคณะผู้เขียนได้อาศัยวิธีการของ Koren และ Peto (2020) จุดเด่นของวิธีนี้คือการอาศัยตัวชี้วัดจาก O*NET ที่ค่อนข้างครอบคลุม และมีมากกว่า 10 ตัวชี้วัด โดยแบ่งตัวชี้วัดออกเป็นทั้งหมด 3 กลุ่ม ดังนี้ กลุ่มแรกคืองานที่ต้องทำกันเป็นทีมและใช้การสื่อสารแบบซึ่งหน้าเป็นหลัก กลุ่มที่สองคืองานที่ต้องพบปะลูกค้าภายนอกและใช้การสื่อสารแบบซึ่งหน้าเป็นหลัก และ กลุ่มที่สามคืองานที่ต้องทำในที่ทำงานเท่านั้นและเป็นงานที่ต้องทำร่วมกับผู้อื่นในห้องเดียวกัน
ทั้งนี้จะเห็นได้ว่า อาชีพต่างๆมีความจำเป็นในการเว้นระยะห่างทางสังคมที่แตกต่างกันไปแล้วแต่ลักษณะกลุ่มอาชีพ บางอาชีพเป็นงานที่ไม่ได้ทำงานเป็นทีมและไม่ได้ใช้การสื่อสารแบบซึ่งหน้าเป็นหลัก ยกตัวอย่างเช่น นักการตลาดทางโทรศัพท์ หรือ คนพิสูจน์อักษร แต่ในทางตรงกันข้าม บางอาชีพเป็นงานที่ต้องทำเป็นทีมและใช้การสื่อสารแบบซึ่งหน้าเป็นหลัก ยกตัวอย่างเช่น ผู้จัดการทั่วไปและผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการ อาชีพเหล่านี้ก็จะเป็นอาชีพที่การเว้นระยะห่างทางสังคมเป็นไปได้ยากกว่าโดยธรรมชาติของงานเอง เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว ในการพิจารณาที่จะเปิดเมืองเพื่อที่จะนำไปสู่การเดินต่อของภาคธุรกิจ และ เป็นการควบคุมการระบาดของ โควิด-19 ด้วยนั้น การคำนึงถึงลักษณะของอาชีพและความจำเป็นในการทำงานใกล้ชิดกับผู้อื่นมาเป็นส่วนประกอบในการวางนโยบายและมาตรการต่างๆในการเปิดเมือง อาจจะส่งผลไม่มากก็น้อยต่อการบริหารจัดการคลื่นลูกที่สองของการระบาด โควิด-19 และการขับเคลื่อนของภาคธุรกิจต่อไป
ทางคณะผู้เขียนขอนำเสนอตัวอย่างนโยบายตามลักษณะกลุ่มอาชีพที่สามารถนำไปเป็นกรอบกำหนดนโยบายในตารางที่ 2 ดังนี้
มาตรการช่วยเหลือ: การเปิดเมืองคือการลดการเว้นระยะห่างทางสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งถ้าหากรัฐให้ทุกอาชีพกลับไปทำงานตามปกติพร้อมๆกัน (แม้ว่าจะมีการรณรงค์เรื่องการใส่หน้ากากอนามัยหรือการล้างมือบ่อยๆก็ตาม) อาชีพที่ยากในการเว้นระยะห่างทางสังคมก็จะมีความเสี่ยงสูงและอาจจะเป็นสาเหตุให้เกิดคลื่นลูกที่สองของการระบาด โควิด-19 ได้ เพราะอาชีพเหล่านั้น โดยธรรมชาติของอาชีพเอง การเว้นระยะห่างทางสังคมอาจจะเป็นเรื่องยากหากต้องปฏิบัติงานให้ได้ประสิทธิภาพและประสิทธิผลตามปกติ ดังนั้น คณะผู้เขียนมีความเห็นว่า อาชีพกลุ่มนี้ควรได้รับการดูแลในเชิงนโยบายเป็นกรณีพิเศษ อาทิเช่น ถ้าหากให้กลุ่มนี้กลับไปทำงานจริง รัฐอาจจะต้องมีผู้เชี่ยวชาญที่เข้ามาช่วยเหลือคนในอาชีพเหล่านี้ให้ปรับตัวและทำงานโดยให้มีระยะห่างทางสังคมให้มากที่สุด อาจจะมีมาตรการที่เกี่ยวกับอุปกรณ์หรือเทคโนโลยีการสื่อสาร อุปกรณ์ป้องกันเชื้อโรคแพร่ระบาดที่เฉพาะสำหรับงานในอาชีพกลุ่มนี้ หรือ การให้น้ำหนักกับการตรวจ โควิด-19 ในสาขาอาชีพที่มีความจำเป็นต้องทำงานใกล้ชิดกับผู้อื่นสูงก่อน เช่น ทันตแพทย์ (ซึ่งในกรณีนี้ก็รวมไปถึงผู้ป่วยที่มีความจำเป็นต้องได้รับการรักษาจากทันตแพทย์ด้วยเช่นกัน)
มาตรการเยียวยา: หากรัฐเปิดเมืองอย่างค่อยเป็นค่อยไป อาทิ เช่น ค่อยๆทะยอยเปิดในบางจังหวัดที่มีความเสี่ยงน้อยก่อน และอาจจะไม่ให้ทุกอาชีพกลับไปทำงานตามปกติพร้อมๆกัน รัฐจำเป็นจะต้องมีการเยียวยาคนกลุ่มที่ยังไม่สามารถกลับไปทำงานได้อย่างเหมาะสม เพราะคนที่ได้รับผลกระทบจาก โควิด-19 มากเท่าไหร่ ก็จะต้อง“ดิ้นรน” เพื่อเอาชีวิตรอดจากพิษเศรษฐกิจมากขึ้นเท่านั้น เช่น ต้องเดินทางกลับบ้านที่ต่างจังหวัดเพราะไม่มีเงินจ่ายค่าเช่าบ้านในเมือง อาจจะต้องแอบทำงานถ้าหากรัฐให้คนในอาชีพเหล่านี้หยุดงานต่อ หรือตัวเองอาจจะต้องกลายไปเป็นมิจฉาชีพในท้ายที่สุด
ดังนั้นการเปิดเมือง รัฐจะต้องทำอย่างเป็นระบบเพื่อที่จะนำสังคมของเรากลับไปสู่การปลอดเชื้อ โควิด-19 หรืออย่างน้อย เราก็สามารถควบคุมการแพร่และการติดเชื้อ โควิด-19 ในระดับที่ระบบสาธารณสุขของเราสามารถบริหารจัดการได้ โดยรัฐจะต้องคำนึงถึงผลกระทบต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจและความเสี่ยงของประชาชนในการติดเชื้อ โควิด-19 ควบคู่กันไป
อ้างอิง
Koren, M. & Peto, R. (2020), “Business disruptions from social distancing”, Covid Economics, Issue 2, 8 April 2020.
บทความโดย
ผศ.ดร. สบิณฑ์ ศรีวรรณบูรณ์
ผศ.ดร. ภัทเรก ศรโชติ
รศ.ดร. พัฒนาพร ฉัตรจุฑามาส
ผศ.ดร. ปิยะชาติ ภิรย์สวัสดิ์
ศ.ดร. เกื้อ วงศ์บุญสิน คณาจารย์ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ( Sasin School of Management )
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit