ฟิทช์ประกาศคงอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของบริษัทไทยรับประกันภัยต่อที่ 'A-’ แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

29 Apr 2020

ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศคงอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินสากล (Insurer Financial Strength Rating: IFS Rating) ของบริษัท ไทยรับประกันภัยต่อ จำกัด (มหาชน) หรือ THRE ที่ 'A-’ (หรืออยู่ในระดับ “แข็งแกร่ง”) แนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพ

ปัจจัยสนับสนุนอันดับเครดิต

การประกาศอันดับเครดิตดังกล่าวพิจารณาจากการประเมินผลกระทบของการแพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัสที่อาจมีผลต่อระบบเศรษฐกิจภายใต้สมมติฐานที่ระบุไว้ในส่วนท้าย ซึ่งฟิทช์ใช้สมมติฐานดังกล่าวในการประเมินตัวเลขทางการเงินเพื่อเทียบเคียงกับหลักเกณฑ์การจัดอันดับเครดิตของฟิทช์และปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต (rating sensitivities) ที่ได้ระบุไว้ในการประกาศอันดับเครดิตของ THRE ในครั้งก่อน

การประกาศคงอันดับเครดิตของ THRE สะท้อนถึงโครงสร้างธุรกิจประกันภัยของบริษัทที่ยังแข็งแรง (Favorable Business Profile) เมื่อเทียบกับบริษัทประกันวินาศภัยอื่นภายในประเทศ ระดับเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง และระดับความเสี่ยงทางด้านการลงทุนและสภาพคล่องที่อยู่ในเกณฑ์ที่ดี ซึ่งปัจจัยดังกล่าวช่วยรองรับความเสี่ยงและความไม่แน่นอนของผลประกอบการของบริษัทที่อาจได้รับผลกระทบจากผลการดำเนินงานของธุรกิจรับประกันภัยในอดีตที่ยังขาดทุน

ฟิทช์มีความเห็นว่าระดับของเงินกองทุนของ THRE ที่แข็งแรงนั้นเป็นปัจจัยสนับสนุนหลักต่ออันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของบริษัท โดยการที่ส่วนทุนของบริษัท (equity) อยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับหนี้สินประกันภัยนั้นเป็นปัจจัยที่ช่วยเกื้อหนุนความแข็งแรงของเงินกองทุนและจะช่วยรองรับค่าสินไหมทดแทนจ่ายที่เกี่ยวข้องกับการระบาดของโคโรน่าไวรัส รวมถึงผลขาดทุนของเงินลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากความผันผวนของตลาดการเงินตามสมมติฐานของฟิทช์ ทั้งนี้ฟิทช์คาดว่าระดับเงินกองทุนของบริษัทจะยังคงสอดคล้องกับอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินของบริษัทในปัจจุบัน โดยระดับของเงินกองทุนของบริษัทเมื่อประเมินจากแบบจำลอง Prism Factor-Based Capital Model (Prism FBM) จะอยู่ในระดับ “แข็งแกร่งมาก” ('Very Strong’) โดยเป็นการพิจารณารวมถึงผลกระทบจากโคโรน่าไวรัสตามสมมติฐานของฟิทช์ ซึ่งระดับของเงินกองทุนดังกล่าวยังคงอยู่สูงกว่าระดับเงินกองทุนที่ระบุไว้ในปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตในอนาคต ทั้งนี้ระดับของเงินกองทุนที่ต้องดำรงตามระดับความเสี่ยง (Risk-based capital ratio) ของบริษัทน่าจะยังคงสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำที่ 140% อยู่มาก

ผลการดำเนินงานของบริษัทเมื่อพิจารณาตามสมมติฐานข้างท้ายอาจปรับตัวแย่ลงกว่าระดับที่กำหนดไว้ตามปัจจัยที่อาจมีผลกระทบต่ออันดับเครดิตในอนาคต โดยอัตราส่วนรวมค่าสินไหมทดแทนและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานเฉลี่ย 3 ปี (combined ratio) อาจเพิ่มขึ้นเป็น 109% ในกรณีฐาน (Rating Case) ในขณะที่อัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (return on equity) ปรับลดเป็นประมาณ 2% ซึ่งสะท้อนถึงโอกาสที่ค่าสินไหมทดแทนที่เกี่ยวข้องกับโคโรน่าไวรัสที่สูงขึ้น ในขณะที่ผลกระทบดังกล่าวจะถูกลดทอนลงบางส่วนจากค่าสินไหมทดแทนของผลิตภัณฑ์ประกันภัยทางรถยนต์ที่ลดลง นอกจากนี้ ฟิทช์คาดว่าอัตราส่วนรวมค่าสินไหมทดแทนและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานจะลดลงจากการที่ธุรกิจรับประกันภัยในอดีตที่ยังมีผลขาดทุนจะทยอยครบกำหนดในช่วงปี 2563-2564 และความเสี่ยงต่อรายได้ของบริษัทจะถูกบรรเทาลงจากปริมาณธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการรับประกันภัยด้านสุขภาพที่มีสัดส่วนจำกัดที่ประมาณ 20% ของเบี้ยประกันภัยรับสุทธิ

สมมติฐานของผลกระทบจากโคโรน่าไวรัส (กรณีฐาน)

ฟิทช์ใช้สมมติฐานหลักดังต่อไปนี้เพื่อประเมินผลกระทบที่อาจมีต่อบริษัทสำหรับการพิจารณาอันดับเครดิตข้างต้น

  • ดัชนีของตลาดหลักทรัพย์ลดลง 35% เทียบกับระดับของดัชนีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563
  • อัตราการผิดนัดชำระหนี้สะสมระยะเวลาสองปีของพันธบัตรและหุ้นกู้ที่อัตรา 16% สำหรับพันธบัตรและหุ้นกู้ที่มีอันดับเครดิตในระดับต่ำกว่าระดับลงทุน (non-investment grade bond) และสำหรับพันธบัตรและหุ้นกู้ที่มีอันดับเครดิตที่ระดับ BBB จำนวน 12% ของมูลค่าสินทรัพย์
  • แรงกดดันจากอัตราดอกเบี้ยทั้งในทิศทางเพิ่มขึ้นและลดลงโดยทำให้ความแตกต่างของอัตราดอกเบี้ยของหุ้นกู้และพันธบัตรรัฐบาล (spread) กว้างขึ้น ซึ่งรวมถึงการคาดการณ์ว่าหุ้นกู้ที่มีอันดับเครดิตต่ำกว่าระดับลงทุนจะมีความแตกต่างของอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 400 เบสิสพอยต์และอัตราดอกเบี้ยของพันธบัตรรัฐบาลลดลงอย่างมาก
  • การเข้าถึงตลาดทุนมีความยากลำบากเพิ่มขึ้นสำหรับผู้ออกตราสารหนี้ไม่ด้อยสิทธิที่มีอันดับเครดิตที่ระดับ BBB หรือต่ำกว่า
  • อัตราการติดเชื้อ COVID-19 เท่ากับ 5% และอัตราการเสียชีวิตที่ 1% ของอัตราผู้ติดเชื้อ
  • สำหรับอุตสาหกรรมประกันวินาศภัยและประกันภัยต่อ ผลกระทบเชิงลบต่ออัตราการจ่ายค่าสินไหมทดแทนในระดับอุตสาหกรรมของปีอุบัติเหตุเพิ่มขึ้น 3.5% ในขณะที่อัตราการจ่ายค่าสินไหมทดแทนรวมที่เพิ่มขึ้นบางส่วนจะถูกชดเชยจากค่าสินไหมทดแทนของผลิตภัณฑ์ประกันภัยทางรถยนต์ที่ลดลง 1.5%

ปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคต

อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินจะยังมีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงที่มีนัยสำคัญของสมมติฐานในกรณีฐาน (Rating Case) ของฟิทช์จากเหตุการณ์แพร่ระบาดของโคโรน่าไวรัส ทั้งนี้มีความเป็นไปได้ว่าฟิทช์จะทำการปรับปรุงสมมติฐานที่ใช้เป็นระยะเพื่อสะท้อนถึงการจัดการโรคระบาดของภาครัฐที่อาจเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว รวมถึงเพื่อสะท้อนถึงข้อมูลใหม่ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการทางด้านสาธารณสุขสืบเนื่องจากการแพร่ระบาด ทั้งนี้การคาดการณ์ถึงผลกระทบที่อาจมีต่ออันดับความแข็งแกร่งทางการเงินภายใต้สมมติฐานของกรณีผลกระทบรุนแรง (stress-case) ซึ่งระบุในส่วนท้ายของประกาศเพื่อใช้ในการพิจารณาปัจจัยที่อาจมีผลต่ออันดับเครดิตในอนาคตภายใต้กรณีที่ได้รับผลกระทบเชิงลบอย่างมาก (a severe downside scenario)

ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงลบหรือส่งผลให้เกิดการปรับลดอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน)

  • การเปลี่ยนแปลงของสมมติฐานที่ใช้ประกอบการพิจารณาอันดับเครดิตของฟิทช์ในทิศทางที่เป็นลบอย่างมากจากผลกระทบของโคโรน่าไวรัส
  • การเพิ่มขึ้นของอัตราส่วนรวมค่าสินไหมทดแทนและค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงาน (combined ratio) ที่สูงกว่า 103% เป็นระยะเวลาต่อเนื่อง ทั้งในกรณีที่พิจารณาตามสมมติฐานของฟิทช์หรือจากผลที่เกิดขึ้นจริงตามรายงานผลประกอบการของบริษัท
  • การปรับตัวลดลงของระดับเงินกองทุนที่วัดจากอัตราส่วนเงินกองทุนที่ต้องดำรงตามระดับความเสี่ยง (RBC) มาอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 280% และการปรับตัวลดลงของระดับเงินกองทุนของบริษัทซึ่งวัดจากแบบจำลอง Prism FBM มาอยู่ต่ำกว่าระดับบนของกลุ่ม “แข็งแกร่ง” ('Strong’) เป็นระยะเวลาต่อเนื่องทั้งในกรณีที่พิจารณาตามสมมติฐานของฟิทช์หรือจากผลที่เกิดขึ้นจริงตามรายงานผลประกอบการของบริษัท

ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบเชิงบวกหรือส่งผลให้เกิดการปรับเพิ่มอันดับเครดิต (ปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยรวมกัน)

  • การเปลี่ยนแปลงของสมมติฐานที่ใช้ประกอบการพิจารณาอันดับเครดิตของฟิทช์ในทิศทางที่เป็นบวกอย่างมากเมื่อพิจารณาผลกระทบของโคโรน่าไวรัสแล้ว
  • การเปลี่ยนแปลงของอันดับความแข็งแกร่งทางการเงินในเชิงบวกจะเกิดขึ้นหลังจากที่ฟิทช์สามารถคาดการณ์ได้อย่างชัดเจนมากขึ้นถึงผลการดำเนินงานของทั้งอุตสาหกรรมประกันวินาศภัยไทยและของ THRE
  • การปรับตัวเพิ่มขึ้นของความสามารถในการทำกำไรซึ่งสะท้อนจากอัตราส่วนรวมค่าสินไหมทดแทนและค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงาน (Combined Ratio) ที่ต่ำกว่า 96% ในขณะที่สามารถรักษาอัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (Return on equity) ในระดับสูงกว่า 10% เป็นระยะเวลาต่อเนื่องทั้งในกรณีที่พิจารณาตามสมมติฐานของฟิทช์และจากผลที่เกิดขึ้นจริงตามรายงานผลประกอบการของบริษัท
  • การปรับตัวเพิ่มขึ้นของระดับเงินกองทุนซึ่งวัดจากแบบจำลอง Prism FBM ของฟิทช์และสามารถคงอยู่ในระดับบนของกลุ่ม “แข็งแกร่งมากที่สุด” ('Extremely Strong’) ได้อย่างต่อเนื่องทั้งในกรณีที่พิจารณาตามสมมติฐานของฟิทช์และจากผลที่เกิดขึ้นจริงตามรายงานผลประกอบการของบริษัท

การวิเคราะห์กรณีที่ได้รับผลกระทบเชิงลบรุนแรง (Stress Case Sensitivity Analysis)

  • ฟิทช์กำหนดสมมติฐานในกรณีที่ได้รับผลกระทบเชิงลบรุนแรง โดยให้ดัชนีของตลาดหลักทรัพย์ลดลง 60% อัตราการผิดนัดชำระหนี้สะสมระยะเวลาสองปีของหุ้นกู้ที่มีอันดับเครดิตต่ำกว่าระดับลงทุนที่ 22% อัตราความแตกต่างของอัตราดอกเบี้ยของหุ้นกู้ที่มีอันดับเครดิตต่ำกว่าระดับลงทุนเพิ่มขึ้นเป็น 600 เบสิสพอยต์ อัตราดอกเบี้ยของพันธบัตรรัฐบาลลดลงอยู่ในระดับต่ำเป็นระยะเวลายาวนาน การเข้าถึงตลาดทุนมีความยากลำบากมากขึ้น อัตราการติดเชื้อ COVID-19 เพิ่มขึ้นเป็น 15% โดยมีอัตราการเสียชีวิตที่ 0.75% และผลกระทบเชิงลบต่ออัตราการจ่ายค่าสินไหมทดแทนในระดับอุตสาหกรรมของปีอุบัติเหตุเพิ่มขึ้น 7% ในขณะที่อัตราการจ่ายค่าสินไหมทดแทนรวมที่เพิ่มขึ้นบางส่วนจะถูกชดเชยจากค่าสินไหมทดแทนของผลิตภัณฑ์ประกันภัยทางรถยนต์ที่ลดลง 2%
  • ผลกระทบต่ออันดับความแข็งแกร่งทางการเงินในกรณีที่ได้รับผลกระทบเชิงลบเป็นอย่างมากคืออันดับความแข็งแกร่งทางการเงินจะถูกปรับลดอันดับไม่เกิน 1 อันดับ

การพิจารณาปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) หากไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดเพิ่มเติมในส่วนนี้ แสดงว่าบริษัทมีระดับคะแนนความสัมพันธ์ของ ESG ต่ออันดับเครดิต ไม่เกินระดับ 3 ซึ่งหมายความว่าปัจจัยด้าน ESG จะไม่ส่งผลกระทบหรืออาจมีผลกระทบในระดับที่น้อยมากต่ออันดับเครดิตของบริษัท ไม่ว่าจะด้วยปัจจัยจากลักษณะของธุรกิจหรือจากการบริหารจัดการของบริษัทก็ตาม

ข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับ ESG หาได้จาก https://www.fitchratings.com/esg