ไทยจับมืออินเดียดันอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ

14 Jul 2020

-    จัดสัมมนาออนไลน์อุตฯ อัญมณีและเครื่องประดับไทย-อินเดีย ชูประเด็นกระชับความร่วมมือสองชาติ
-    หวังอุตฯ อัญมณีและเครื่องประดับฟื้นตัวหลัง COVID-19
-    เตรียมพลิกโฉมรูปแบบการจัดงานบางกอกเจมส์

ไทยจับมืออินเดียดันอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ (DITP) ผนึกกำลังเอกชนอินเดีย หารือทางรอดและโอกาสเติบโตของอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับหลังการระบาดของ COVID-19 ประกาศเดินหน้าจัดงานบางกอกเจมส์รูปแบบใหม่ ตอบโจทย์การค้ายุค New Normal    

กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ (DITP) จัดงานสัมมนาออนไลน์รูปแบบ Webinar ในหัวข้อ  “การจัดการวิกฤติ และการบรรเทาผลกระทบกับกลยุทธ์ฟื้นฟูอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับหลัง COVID-19” โดยมีเป้าหมายเพื่อกระชับความสัมพันธ์และส่งเสริมความร่วมมือทางการค้าระหว่างประเทศไทยและอินเดีย ซึ่งได้รับความสนใจอย่างมากจากนักธุรกิจแถวหน้าของวงการอัญมณีและเครื่องประดับทั้งไทยและอินเดีย     นางสาวจิตติมา นาคมโน ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเจนไน ประเทศอินเดีย เปิดเผยว่า การระบาดของ COVID-19 ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับทั่วโลก เนื่องจากมีการล็อกดาวน์ การเว้นระยะห่างทางสังคม ทำให้การซื้อขายและความต้องการอัญมณีและเครื่องประดับลดลงอย่างเห็นได้ชัด ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงเมษายน 2563  โดยมูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับของไทย (ไม่รวมทองคำ) ลดลง 25.31% เหลือ 1,770 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน     อย่างไรก็ตาม นางสาวจิตติมา แสดงความมั่นใจว่า อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของไทยจะกลับมาเข้มแข็งยิ่งกว่าเดิม หลังจากไม่พบผู้ติดเชื้อ COVID-19 ในประเทศแล้ว    

“ด้วยการสนับสนุนของรัฐบาล เรากำลังผลักดันการส่งออกสินค้าไปยังอินเดีย ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และตะวันออกกลางอย่างจริงจัง โดย DITP เป็นกำลังสำคัญที่สนับสนุนอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ โดยเฉพาะด้านการส่งออก”    

ขณะเดียวกัน จากสถานการณ์ทั่วโลกในปัจจุบัน  DITP จึงได้มีการปรับเปลี่ยนการจัดงานแสดงสินค้าเป็นรูปแบบใหม่     “สถานการณ์ COVID-19 ทำให้เราต้องปรับตัว และใช้แพลตฟอร์มออนไลน์เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของไทยมากขึ้นกว่าเดิม” นางสาวจิตติมากล่าว    

นอกจากนี้ DITP ได้ให้ความสำคัญกับการจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs และ MSMEs จำนวนมากในอุตสาหกรรมนี้    

“ เรามีหลักสูตรการตลาดและหลักสูตรการฝึกอบรมหลายหลักสูตรเพื่อสนับสนุนเป้าหมายให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับในภูมิภาคนี้”    

ทั้งนี้ ประเทศไทยพร้อมจัดงาน Bangkok Gems & Jewelry Fair (BGJF) 2020 ในรูปแบบใหม่ ซึ่งสอดคล้องกับการใช้ชีวิตแบบ New Normal การจัดงานรูปแบบใหม่นี้จะเป็นงาน BGJF ที่แตกต่างจากเดิม  และจะเป็นเวทีการค้าอัญมณีออนไลน์ที่น่าจับตามองที่สุดในอาเซียน โดยงานจะจัดขึ้นภายใต้แนวคิด Thailand's Magic Hands ซึ่งยังคงตอกย้ำถึงฝีมือและความเชี่ยวชาญของช่างฝีมืออัญมณีและเครื่องประดับ และให้ความความสำคัญเป็นพิเศษกับพลอยสี พลอยเนื้ออ่อน พลอยเนื้อแข็ง และเครื่องประดับเงิน สำหรับความสัมพันธ์ทางการค้าทวิภาคีระหว่างอินเดียและไทย นางสาวจิตติมาเห็นว่า ยังเป็นเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญเพราะมีช่องทางสร้างความร่วมมือกันได้อีกมาก    

ด้านนาย Sanjay Kothari อดีตประธานสภาส่งเสริมการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับอินเดีย (GJEPC) และประธานสภาทักษะฝีมือแรงงานอัญมณีและเครื่องประดับแห่งอินเดีย (GJSCI) กล่าวว่า เนื่องจากสถานการณ์โลกที่กำลังเป็นอยู่ ทำให้มูลค่าการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับของอินเดียหดตัวลงเหลือประมาณ 18,000-20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ปัจจุบันตลาดอัญมณีและเครื่องประดับของอินเดียมีมูลค่าประมาณ 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ    

นาย Mehul Shah รองประธาน Bharat Diamond Bourse ตลาดเพชรที่ใหญ่ที่สุดในโลกในเมืองมุมไบ ได้กล่าวถึงความมั่นคงของ Bharat Diamond Bourse (BDB) ยังกล่าวอีกว่า สหพันธ์ตลาดค้าเพชรโลก (WFDB) เป็นองค์กรค้าเพชรที่ใหญ่ที่สุดในโลกซึ่งมีสมาชิก 30 รายทั่วโลก ได้หยุดการผลิตเพชรชั่วคราวในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา เนื่องจากการล็อกดาวน์ในประเทศอินเดีย ทำให้ช่วงเวลานี้เป็นเวลาที่ดีสำหรับการลงทุนในเพชร     นายภูเก็ต คุณประภากร กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจมส์บุรี จำกัด ได้กล่าวชื่นชมรัฐบาลไทยที่สนับสนุนอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของประเทศ ผ่านมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ สิ่งอำนวยความสะดวกด้านเทคนิค และการช่วยเหลือแรงงาน    

นายภูเก็ตยังกล่าวอีกว่า ตลาดพลอยจันทบุรีเป็นตลาดค้าอัญมณีแห่งแรก ที่กลับมาเปิดบริการอีกครั้งนับตั้งแต่เกิดการระบาดของ COVID-19 ตอนนี้ตลาดกลับสู่สภาวะปกติ 80% แล้ว และกำลังรอโอกาสส่งออกอัญมณีไปยังประเทศอินเดีย    

นาย Mithun Sancheti ประธานกรรมการบริหาร CaratLane.com กล่าวว่า ผู้บริโภคหันไปซื้อเครื่องประดับออนไลน์มากขึ้น ดังนั้นเป้าหมายหลักตอนนี้คือการเข้าถึงลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย ทั้งนี้ ผู้ร่วมสัมมนาออนไลน์เห็นตรงกันว่า ทั้งอินเดียและไทยสามารถพลิกสถานการณ์การค้าโลกในปัจจุบันด้วยการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดมากขึ้น

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับงาน Bangkok Gems & Jewelry Fair ได้ที่

เว็บไซต์: www.bkkgems.com

เฟซบุ๊ก: bangkokgemsofficial

อินสตาแกรม: bkkgemsofficial

ไทยจับมืออินเดียดันอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ