นายสายันต์ ตันพานิ ช รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมทีมผู้บริหาร นักวิจัย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร นำผลงาน “นวัตอัตลักษณ์… วว. ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสังคมไทย คืนกำไรสู่สังคม” ที่ผ่านการดำเนินงานโดยโครงการ Thai Cosmetopoeia หรือ โครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสังคมไทยด้วยการสร้างสรรค์คุณค่าเครื่องสำอางตามเอกลักษณ์ท้องถิ่นไทย ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจากน้ำแร่ธรรมชาติ จังหวัดกระบี่ ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มฟังก์ชั่นจากมะขามหวาน “Nature Bright” และเครื่องสำอางจากสารสกัดเมล็ดมะขาม จังหวัดเพชรบูรณ์ เข้าร่วมจัดนิทรรศการเนื่องในงานแถลงข่าวการจัดงานมหกรรมงานวิจัยแห่งชาติประจำปี 2563 ซึ่งจัดโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ในวันที่ 16 กรกฎาคม 2563 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์แอทเซ็นทรัลเวิลด์
อนึ่ง มหกรรมงานวิจัยแห่งชาติประจำปี 2563 กำหนดจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 2-6 สิงหาคม 2563 ณ โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์แอทเซ็นทรัลเวิลด์ ภายใต้แนวคิดหลักของการจัดงานคือ “วิจัยเพื่อพัฒนาประเทศ สู่ความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน” ทั้งนี้เพื่อเป็นกลไกส่งเสริมและถ่ายทอดความรู้เพื่อใช้ประโยชน์ในการพัฒนาประเทศ เชื่อมโยงผู้ผลิตและผู้ใช้ประโยชน์ โดยบูรณาการเชื่อมโยงความร่วมมือระหว่างองค์กรและเครือข่ายในระบบวิจัยทั่วประเทศ
นายสายันต์ ตันพานิช กล่าวว่า วว. มุ่งส่งเสริมและให้ความช่วยเหลือแบบเพื่อนช่วยเพื่อนในชุมชน มีการแบ่งปันอุปกรณ์ แบ่งปันความรู้ โดยประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาดั้งเดิมที่ชุมชนมี แล้วนำมาผสมผสานกับภูมิปัญญาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีที่ วว. ได้สั่งสมองค์ความรู้วิจัยพัฒนาขึ้น โดยมุ่งดำเนินงานเพื่อสร้าง “นวัตอัตลักษณ์” หรือความแตกต่างของผลิตภัณฑ์ในแต่ละชุมชน เพื่อนำไปสู่การค้าการขาย การสร้างอาชีพสร้างรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืน ภายใต้แนวคิดดำเนินงาน “แชร์ ใช้ ทุกคนได้ประโยชน์” ผ่านการดำเนินงาน 2 โครงการ ดังนี้ 1.โครงการ Thai Cosmetopoeia หรือ โครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสังคมไทยด้วยการสร้างสรรค์คุณค่าเครื่องสำอางตามเอกลักษณ์ท้องถิ่นไทย เป็นโครงการตามยุทธศาสตร์การดำเนินงานของ วว. ในการวิจัยและพัฒนาด้านเครื่องสำอาง เมื่อปลายปี พ.ศ. 2562 โดยมีเครือข่ายความร่วมมือทั้งภาครัฐ เอกชน ของจังหวัดต่างๆ ในประเทศไทย มีวัตถุประสงค์โครงการเพื่อส่งเสริมทรัพยากรชีวภาพของแต่ละท้องถิ่นที่มีความเป็นอัตลักษณ์ หรือ เอกลักษณ์ที่โดดเด่น นำมาพัฒนาด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม (วทน.) เพื่อพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ “นวัตอัตลักษณ์เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพของไทย” ซึ่งถือเป็นการเพิ่มมูลค่าวัตถุดิบท้องถิ่นให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์สร้างสรรค์ (creation values) เพื่อให้เป็นที่รู้จักในระดับชาติและช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากให้เกิดความยั่งยืน รวมทั้งส่งเสริมนโยบาย BCG ให้เกิดการขยายตัวอย่างสร้างสรรค์และยั่งยืน ตัวอย่างผลงานวิจัยและพัฒนาภายใต้โครงการ Thai Cosmetopoeia ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มฟังก์ชั่นจากมะขามหวาน “Nature Bright” ซึ่งมีฤทธิ์ทางชีวภาพ ในการเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่เกิดขึ้นภายในเซลล์ กระตุ้นการทำงานของไมโทคอนเดรีย ต้านการอักเสบ ต้านการเกิดเม็ดสีผิว วว. ได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตให้แก่ ห้างหุ้นส่วน ดร. เซอร์วิส จำกัด และได้รับทุนจากโครงการ Research Gap Fund จาก กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในการผลิตระดับอุตสาหกรรม ณ โรงงานนวัตกรรมอาหาร หรือ FISP ของ วว.
เครื่องสำอางจากสารสกัดเมล็ดมะขาม มีสรรพคุณเพื่อความกระจ่างใสและบำรุงผิวหน้า ซึ่งในท้องตลาดยังไม่มีผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางที่พัฒนาจากสารสกัดเมล็ดมะขาม ขณะนี้ วว. ได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีแก่ บริษัท รีเสิร์ช เอ็กซ์ จำกัด (Research X Co.Ltd.)
ผลิตภัณฑ์บำรุงผิวหน้าจากสารสกัดอะโวคาโด ซึ่ง วว. ร่วมดำเนินงานกับบริษัท เอสแอนด์เจ อินเตอร์เนชั่นแนล เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) มีประสิทธิภาพต้านอนุมูลอิสระ ชะลอริ้วรอย ต้านการเกิดเม็ดสีผิว โดยใช้วัตถุดิบจากอำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์
ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจากน้ำแร่ธรรมชาติ จ.กระบี่ วว. ใช้วิทยาศาสตร์ ตรวจ วิเคราะห์ ทดสอบและพัฒนาน้ำพุร้อนเค็ม พบว่า น้ำพุร้อนเค็มมีองค์ประกอบของแร่ธาตุที่มีผลดีต่อผิวในด้านการเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ต้านเชื้อแบคทีเรีย และให้ความชุ่มชื้นต่อผิว มีคุณสมบัติในการสมานแผลได้ดีกว่าสารสกัดจากว่านหางจระเข้ ด้วยคุณสมบัติดังกล่าว วว. นำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางต้นแบบสำหรับผิวหน้า ในรูปแบบของ สเปรย์น้ำแร่ ซีรัมบำรุงผิว ครีมกันแดด และผลิตภัณฑ์เพื่อผิวกาย โดยทำการทดสอบประสิทธิภาพและประสิทธิผลของผลิตภัณฑ์ต่างๆ ด้วยเครื่องมือวิเคราะห์สภาพผิวหน้าสามมิติที่ทันสมัยและได้มาตรฐาน เช่น VISIA และ ANTERA 3D ทั้งก่อนและหลังใช้ผลิตภัณฑ์ พบว่า ริ้วรอยลดลงและสีผิวเรียบเนียนขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ หลังจากใช้ผลิตภัณฑ์แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางจากน้ำพุร้อนเค็มอย่างชัดเจน
2.โครงการครัวชุมชนในพื้นที่ หรือ ศูนย์ต้นแบบ Shared production services เป็นศูนย์การเรียนรู้ที่ตั้งในพื้นที่ภูมิภาค (Area-based) โดยมีเครื่องมืออุปกรณ์สำหรับใช้ในกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐาน และมีการเชื่อมโยงกิจกรรมกับหน่วยงานต่างๆในระดับพื้นที่ เช่น จังหวัด องค์กร สมาคม สถาบันการศึกษาในพื้นที่ เป็นต้น นอกจากนี้โครงการครัวชุมชน ยังอาศัยการดำเนินงานร่วมกันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากทั้งภาครัฐ ภาคการศึกษา ภาคเอกชน รวมทั้งประชาสังคมในชุมชนที่เกี่ยวข้องในรูปแบบ 4 ประสาน (Quadruple Helix) เพื่อทำให้เกิดความยั่งยืนของชุมชน สังคมชุมชนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขที่มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน
ติดต่อ:
n/a
หมวดข่าว: ราชการ
คำค้น: วว.
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit