นักวิชาการ ม.อ. ระบุการแพร่ระบาด COVID-19 เป็นบททดสอบสังคมไทยมีความเข้มแข็งเพียงใด ต่อการรับมือวิกฤตทางสังคม หลังประชาชนมีคุณภาพชีวิตลดลง ชูการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ตอบโจทย์การท่องเที่ยวยุคใหม่ พร้อมชูนำหลักมนุษยธรรมนำความมั่นคงเพื่อร่วมมือภาครัฐแก้ปัญหาความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนใต้
รศ.ดร.พันธ์ ทองชุมนุม รองอธิการบดี วิทยาเขตภูเก็ต มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) เปิดเผยในรายการ PSU Live: This is PSU Series EP4 ในหัวข้อ 'มองสังคมและวิถีความเป็นอยู่ หลัง COVID-19 ม.สงขลานครินทร์ขับเคลื่อนสังคมสู่ความเข้มแข็งอย่างไร’ ว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ถือเป็นบททดสอบสภาพความเข้มแข็งสังคมไทย และการแก้ปัญหาเพื่อรับมือผลกระทบปัจจัยลบที่เกิดขึ้น มีผลให้คุณภาพชีวิตทั้งระดับภาคครัวเรือนและระดับสังคมของไทยเนื่องจากรายได้ของประชาชนที่ลดลง ซึ่งคาดว่าต้องใช้เวลาอีกสักระยะหรือจนกว่าจะมีวัคซีนป้องกันโรค จึงจะทำให้สถานการณ์คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น
ทั้งนี้ ส่วนของพื้นที่ภาคใต้ซึ่งพึ่งพาเศรษฐกิจท่องเที่ยว ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ม.อ. เข้าไปมีส่วนช่วยขับเคลื่อนเพื่อตอบโจทย์การแก้ปัญหาในส่วนนี้ที่เน้นพัฒนาหลักสูตรการเรียน ที่อิงกับความต้องการของผู้ประกอบการ ในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อรองรับการท่องเที่ยวแนวใหม่ที่เน้นท่องเที่ยวเชิงเกษตร ภาษา วัฒนธรรม อาหาร สุขภาพที่เป็นภูมิปัญญาแฝงของคนท้องถิ่น นอกจากนั้น ยังใช้เทคโนโลยีด้านการเกษตรเข้าสู่ชุมชนชนบทที่เป็นชุมชนเกษตรกรรม เพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหารในระยะยาว
ขณะเดียวกัน ม.อ. ยังได้ปรับบทบาทร่วมแก้ปัญหาของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ตอนล่าง หรือ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยใช้นโยบายนำหลักมนุษยธรรมหรือคุณภาพชีวิตมานำความมั่นคง เพื่อจะสร้างให้ภาครัฐ ภาควิชาการ มีความใกล้ชิดกันมากขึ้น และทำให้ชุมชนในพื้นที่รู้ว่าได้รับการดูแลจากหน่วยงานภาครัฐมากขึ้น
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit