นักเศรษฐศาสตร์ชี้ โควิด-19 กระทบความเหลื่อมล้ำรุนแรงขึ้น ทำเด็กหลุดนอกระบบการศึกษา ไม่เรียนต่อเพราะต้องช่วยพ่อแม่ทำงาน ด้านกสศ.จับมือ สพฐ.ตชด.อปท. เดินหน้า“ระบบเฝ้าระวังการหลุดออกจากระบบการศึกษาร่วมกับสถานศึกษาทั่วประเทศ” พร้อมจัดสรรทุนเสมอภาค ช่วยบรรเทาอุปสรรคในการมาเรียน และลดภาระค่าใช้จ่ายช่วงเปิดเทอมให้ครอบครัวนักเรียนยากจนพิเศษมากกว่า7.5แสนคน ในช่วงเปิดเทอมก.ค.นี้ ขณะที่ครูสามารถคัดกรองความยากจนของเด็กๆที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 และยังไม่เคยได้รับทุนเสมอภาคเข้ามาเพิ่มเติมได้
สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา(กสศ.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) และธนาคารโลกประจำสำนักงานประเทศไทย จัดเวทีเสวนา “จับชีพจรความเสมอภาครับเปิดเทอม สู้วิกฤตให้น้องได้กลับโรงเรียน”
ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา กล่าวว่า ช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่กสศ.ได้จัดสรรเงินอุดหนุนฉุกเฉินเพื่อช่วยเหลือค่าอาหาร ให้กับนักเรียนยากจนพิเศษระดับอนุบาลถึงมัธยมศึกษาปีที่3ในสังกัด สพฐ.ตชด.และอปท.จำนวน 753,997คน ทั่วประเทศ กสศ.ได้ใช้โอกาสนี้ร่วมมือกับครูทั้ง3 สังกัด สำรวจความเสี่ยงของนักเรียนยากจนพิเศษ โดยเฉพาะปัญหาการหลุดออกนอกระบบการศึกษาไปด้วย เบื้องต้นพบว่า จากข้อมูลที่คุณครูบันทึกผ่านระบบ isee หรือระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา โดยสุ่มสำรวจนักเรียนชั้น ป.6 และ ม.3 ซึ่งเสี่ยงหลุดออกนอกระบบการศึกษามากที่สุด จากข้อมูล ณ วันที่15 มิ.ย.63 พบ นักเรียนยากจนพิเศษ3,180 คน ที่ยังไม่ได้สมัครเรียน ประกอบด้วย ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน1,246 คน ระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน1,914 คน และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย(เฉพาะ ตชด.) จำนวน 20 คน ทั้งนี้ข้อมูลดังกล่าว ยังเป็นตัวเลขเพียงร้อยละ 60 ของนักเรียนชั้นป.6 และ ม.3 ทั้งหมด161,000 คน เท่านั้น
“สาเหตุส่วนใหญ่ที่นักเรียนยังไม่ได้สมัครเรียน คือ (1)ต้องช่วยพ่อแม่ทำงาน ร้อยละ 57 (2) มีปัญหาทางการเรียน ครอบครัว สุขภาพ และขาดแคลนทุนทรัพย์ร้อยละ31 (3)ไม่มีค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษา ร้อยละ10 (4) ไม่มีค่าเดินทางไปสมัครเรียน ร้อยละ 2 ตามลำดับ โดยตัวเลข 3 พันกว่าคนเป็นเพียงชั้น ป.6 และม.3 เท่านั้น ยังมีเด็กเยาวชนจำนวนมากที่อาจหลุดออกจากระบบการศึกษาในช่วงต้นปีการศึกษานี้ด้วยผลกระทบจาก โควิด-19” ดร.ไกรยส กล่าว
รองผู้จัดการกสศ.กล่าวว่า ช่วงเปิดเทอมในเวลาปกติครัวเรือนยากจน แบกภาระค่าใช้จ่ายเกินกำลัง เมื่อมาเจอผลกระทบโควิด-19 ยิ่งซ้ำเติมความเดือดร้อน หากวิเคราะห์ตัวเลขค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาของครัวเรือนยากจน จากข้อมูลการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมครัวเรือนของ สนง.สถิติแห่งชาติเมื่อปี2560 พบว่า ครัวเรือนที่ยากจนที่สุด10% แรกของประเทศและมีบุตรหลานกำลังศึกษาอยู่ในสถานศึกษารัฐ มีภาระค่าใช้จ่ายด้านการศึกษาในแต่ละปีสูงสุดในช่วงเดือนเปิดเทอม เช่น ค่าธรรมเนียมการศึกษา ค่าเครื่องแบบ และค่าสมุด,หนังสือ,อุปกรณ์การเรียน รวมเป็นตัวเงินแล้วอยู่ระหว่าง1,195-4,829 บาทต่อครัวเรือน ขึ้นอยู่กับระดับการศึกษาของบุตรหลาน (ไม่รวมค่าเดินทาง)
“หากคิดเทียบเฉลี่ยต่อรายได้ครัวเรือนกลุ่มนี้พบว่า ครัวเรือนยากจนในชั้นรายได้ที่1มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนเพียง2,020 บาทต่อเดือน จึงสรุปได้ว่าครอบครัวยากจนที่สุด10% แรกของประเทศต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายในช่วงเปิดเทอมเป็นเกือบทั้งหมดของรายได้เฉลี่ยต่อเดือนที่ได้รับ ซึ่งนำไปสู่การเกิดหนี้สินครัวเรือนเพิ่มขึ้นในช่วงเวลานี้ และครอบครัวที่ไม่สามารถจัดหาค่าใช้จ่ายเหล่านี้ได้ มีแนวโน้มที่จะกระทบโอกาสทางการศึกษา”ดร.ไกรยส กล่าว
ดร.ไกรยส กล่าวว่า ข้อมูลจาก iSEE ทำให้ทราบปัญหาของเด็กๆรายคน สามารถจัดลำดับความเสี่ยงต่อการหลุดออกจากระบบการศึกษาได้เป็นรายคน เพื่อสนับสนุนการจัดทำ “ระบบเฝ้าระวังการหลุดออกจากระบบการศึกษาร่วมกับสถานศึกษาทั่วประเทศ” ซึ่งหลังจากที่ กสศ.ได้รับข้อมูลผลการคัดกรองความยากจนและข้อมูลผลกระทบจากโควิด-19แล้ว ทาง กสศ.จะประสานงานกับ ศูนย์เฉพาะกิจคุ้มครองและช่วยเหลือนักเรียน สพฐ. และสถานศึกษา เพื่อช่วยเหลือต่อไป
ดร.ไกรยส กล่าวว่า นอกจากนี้ ปีการศึกษา 2563 กสศ.ได้จัดทำโครงการจัดสรรเงินอุดหนุนนักเรียนยากจนพิเศษแบบมีเงื่อนไขต่อเนื่อง ช่วยเหลือนักเรียนตั้งแต่ระดับอนุบาล–มัธยมศึกษาตอนต้น ในสังกัด สพฐ.อปท.และตชด.ทั่วประเทศ ซึ่งนักเรียนทุนเสมอภาคที่ผ่านเกณฑ์การคัดกรองระดับยากจนพิเศษ จะได้รับเงินอุดหนุนเพิ่มเติมคนละ3,000 บาท/คน/ปี โดยในภาคเรียนที่1ปีการศึกษา 2563 กสศ.จะจัดสรรเงินให้นักเรียน2,000 บาทในช่วงเดือนกรฎาคม 2563 เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายในช่วงเปิดภาคเรียนของผู้ปกครอง และช่วยเหลือนักเรียนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19ได้อย่างทันเวลา โดยจะมีเด็กๆได้รับการช่วยเหลือมากกว่า7.5 แสน งบประมาณราว1,400 ล้านบาท โดยปีการศึกษา 2563เป็นปีแรกที่ เงินทุนเสมอภาคจะดูแลเด็กอนุบาลทั่วประเทศ และยังขยายการดูแลนักเรียนสังกัดอปท.จากเดิม10 จังหวัดเป็น76 จังหวัดด้วย
รองผู้จัดการกสศ.กล่าวว่า นอกจากนักเรียนกลุ่ม7.5 แสนคน ที่เคยผ่านการคัดกรองเรียบร้อยแล้ว ในช่วงเปิดเทอมนี้ กสศ.ยังเปิดโอกาสให้คุณครูสามารถคัดกรอง ความยากจนของเด็กๆที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 นี้และยังไม่เคยได้รับทุนเสมอภาคเข้ามาเพิ่มเติมได้ เพื่อน้องๆ จะได้รับการช่วยเหลือเพิ่มเติมในปีงบประมาณ 2563 นี้ รวมถึงผู้ปกครองที่พบว่าตนเองได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จนตกอยู่ในสถานะยากจนหรือยากจนพิเศษก็สามารถแจ้งไปที่คุณครูประจำชั้นเพื่อได้รับสิทธิได้การคัดกรองเพื่อให้บุตรหลายได้รับทุนเสมอภาคช่วยเหลือเพิ่มเติม ในช่วงเดือน ส.ค.63 เช่นกัน
ด้านดร.ดิลกะ ลัทธพิพัฒน์ นักเศรษฐศาสตร์ด้านทรัพยากรมนุษย์ ธนาคารโลกประจำสำนักงานประเทศไทย กล่าวว่า ในอดีตความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาในประเทศไทยมีปัญหาอยู่แล้วในหลายมิติ ทั้งด้านทรัพยากร ครู โครงสร้างพื้นฐาน และการเรียนออนไลน์ จากการสำรวจของธนาคารโลกเกี่ยวกับปัญหาด้านการศึกษาในสถานการณ์ปกติ พบว่าแต่ละปีมีเด็กยากจนกว่าร้อยละ 30 ต้องหลุดจากระบบการศึกษาอยู่แล้ว และเมื่อเกิดสถานการณ์วิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ยิ่งส่งผลให้ประเทศไทยมองเห็นปัญหาด้านความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้ชัดเจนและหนักขึ้น
การที่โรงเรียนต้องเลื่อนเปิดเทมอออกไป 2 เดือน ทำให้เด็กต้องเรียนช้าลง ระยะเวลาสั้นๆ เราพอที่จะสอนชดเชยได้ แต่ที่ผมห่วงคือหากโรคโควิดระบาดอีกครั้งที่ 2 ถ้าโรงเรียนต้องเลื่อนเปิดเทมอออกไปอีกครึ่งปี หรือหนึ่งปี จะทำให้เด็กยากจนที่จากเดิมเข้าเรียนล่าช้ากว่าเกณฑ์อยู่แล้ว 1 ปี ต้องเข้าเรียนล่าช้าเพิ่มไปอีก ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นจะทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของเด็กยากจนต่ำลง สอดคล้องกับผลการสอบ PISA ปี 2020 ที่พบว่าเด็กมีผลการสอบต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานถึงร้อยละ 60 ดังนั้นหากเราไม่สามารถแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำได้ทัน ผมคาดว่าปี 2021 ผลการสอบ PISA ของเด็กยากจนจะยิ่งต่ำกว่าเกณฑ์มากขึ้นไปอีก” ดร.ดิลกะ กล่าว
ขณะที่ดร.ชนะ สุ่มมาตย์ ผู้อำนวยการศูนย์เฉพาะกิจคุ้มครองและช่วยเหลือเด็กนักเรียน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) กล่าวว่า ก่อนเปิดภาคเรียน1สัปดาห์ สพฐ.พร้อมทีมสหวิชาชีพ ลงพื้นที่สำรวจสภาพปัญหาและสภาพจิตใจของเด็กยากจน เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนเปิดภาคเรียน พบปัญหาส่วนใหญ่หลายครอบครัวได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 โดยตรง เราจึงได้ทำหนังสือไปยังสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา(สพป.)ทั่วประเทศ เพื่อออกมาตรการช่วยเหลือด้วยการผ่อนปรนค่าเล่าเรียน ลด และขยายเวลาชำระค่าเทอมหรือค่ากิจกรรมต่างๆ ป้องกันไม่ให้เด็กหลุดนอกระบบการศึกษา ทั้งนี้หลังเปิดภาคเรียนหากพบนักเรียนขาดเรียนอย่างต่อเนื่องให้ครูประจำชั้นลงพื้นที่สำรวจถึงบ้าน เพื่อสอบถามปัญหาพร้อมหาวิธีช่วยเหลือ นอกจากนี้ยังได้วางแผนให้ทุกโรงเรียนมีนักจิตวิทยาประจำโรงเรียน คอยดูแลสภาพจิตใจเด็ก เพราะเชื่อว่าสถานการณ์โควิด-19ทำให้เด็กมีความเครียดสูง ทั้งนี้ การทำงานร่วมกันกับทุกภาคส่วน ทำให้สพฐ.มั่นใจว่าทุกโรงเรียนมีความพร้อม100%ในการเปิดภาคเรียน
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit