นายณรงค์ แผ้วพลสง เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เปิดเผยว่า ตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องการเปิดเรียนของสถานศึกษาในสังกัดและในกำกับของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งจะเปิดภาคเรียนในวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 โดยให้สถานศึกษาจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับประกาศ และสถานการณ์ฉุกเฉิน เนื่องจากการระบาดของโรคโควิด-19 สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้ส่งมาตรการกำชับให้สถานศึกษาเตรียมความพร้อมรองรับเปิดเทอม พร้อม “คู่มือสำหรับสถานศึกษาในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข” โดยแบ่งเป็นระยะต่าง ๆ ดังนี้ การเตรียมความพร้อมการเปิดภาคเรียน คือช่วงระหว่างนี้ ไปจนถึงวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ให้สถานศึกษาทุกแห่งปฏิบัติ ตามคู่มือฯ โดยจัดอาคารสถานที่ ห้องเรียน ห้องเรียนรวม เข่น ห้องคอมพิวเตอร์ ห้องสมุด ห้องประชุม หอประชุม สนามกีฬา โรงอาหาร ฯลฯ ตามแนวปฏิบัติด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมในคู่มือฯ ซึ่งในส่วนของสถานศึกษาอาชีวศึกษา ได้เพิ่มเติมในเรื่องของการจัดการห้องปฏิบัติการหรือโรงฝึกงาน ต้องให้มีการระบายอากาศที่ดีภายในห้อง เช่น ประตู หน้าต่าง หลีกเหลี่ยงการใช้เครื่องปรับอากาศ ซึ่งหากจำเป็น ต้องให้ระบายอากาศทุกๆ 1 ชั่วโมง และทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ รายวัน รายสัปดาห์ การวางโต๊ะ เก้าอี้ เครื่องมือ อุปกรณ์ และวัสดุที่ใช้ในการฝึกปฏิบัติ ให้มีการเว้นระยะห่าง หรือบริหารให้มีการเหลื่อมเวลาการฝึกกลุ่มย่อย ทำความสะอาดพื้นที่ปฏิบัติงาน และวัสดุอุปกรณ์ ต่างๆ เมื่อสิ้นสุดการใช้งาน ให้มีแอลกอฮอล์ หรือจุดล้างมือภายในห้องปฏิบัติการฯ มีการคัดกรองนักเรียน นักศึกษา โดยอนุญาตให้นักเรียน นักศึกษาที่ผ่านการคัดกรองแล้วเท่านั้นที่สามารถเข้ารับการฝึกปฏิบัติในห้องปฏิบัติการฯ และนักเรียน นักศึกษาจะต้องสวมใส่หน้ากากอนามัย / Face Shield ถุงมือขณะปฏิบัติงานอย่างเคร่งครัด
เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวต่อไปว่า ในช่วงที่ปิดสถานศึกษาทีมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สอศ. ได้มีการพัฒนาผู้เรียนเพื่อไม่ให้ขาดช่วงการเรียนรู้ โดยเน้นทักษะที่สำคัญ 3 ด้าน ได้แก่ทักษะภาษาอังกฤษ โดยแอพพลิเคชั่น EchoVE เป็นการพัฒนาการพูด ฟัง การอ่านออกเสียงศัพท์ภาษาอังกฤษจากภาพยนตร์ ทักษะที่สอง คือภาษจีน โดยเข้าเรียนหลักสูตรภาษาจีนออนไลน์ ของ Tang Chinese Education & Technology Ltd. จำนวน 100,000 บัญชี โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เป็นระยะเวลา 3 เดือน และสอบวัดความรู้โดยใช้แอพพลิเคชั่น Tang Class และทักษะที่สาม คือ การใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Literacy) โดยพัฒนาผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งผู้ผ่านการฝึกอบรมจะได้รับวุฒิบัตรรับรอง
สำหรับการเตรียมความพร้อมในด้านอื่นๆ เช่นการพัฒนาครู ซึ่ง สอศ. ได้ดำเนินการมาระยะหนึ่งแล้ว เช่น ด้านการใช้เทคโนโลยี เพื่อพัฒนาครูอาชีวศึกษา ให้สร้างบทเรียนออนไลน์ สื่อการสอน เทคนิควิธีสอน และการประเมินผลที่เหมาะสม โดยกำหนดบาทบาทครู เป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่ม Excellent Teacher, Mentor Teacher และ Network Teacher ซึ่งมีเป้าหมายรวม จำนวน 10,000 คน ด้านการพัฒนาชุดการเรียนการสอนออนไลน์ (Online Course) เพื่อใช้กับลักษณะ DLTV โดยการพัฒนารายวิชาทั้งหมดจากหลักสูตร ประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ระยะแรกนี้ดำเนินการในหมวด สมรรถนะแกนกลาง และรายวิชาหมวดสมรรถนะวิชาชีพ ในสาขาที่มีผู้เรียนจำนวนมาก เป้าหมายรวม 200 รายวิชา ซึ่ง สอศ. ได้แจ้งสถานศึกษาในสังกัดทุกแห่งสมัครเข้าร่วมพัฒนาชุดการเรียนการสอนออนไลน์ หรือ VEC Online Course เพื่อเป็นการส่งเสริมให้มีรูปแบบการเรียนการสอนที่หลากหลาย สถานศึกษาสามารถนำสื่อและเทคโนโลยีมาปรับใช้ในการเรียนการสอน และผู้เรียนสามารถเข้าศึกษาและทบทวนบทเรียนได้สะดวก โดยมีการปรับปรุงให้สอดคล้องกับสถานการณ์ช่วงโควิด-19 พร้อมกันนี้ในส่วนของฝ่ายบริหาร ของ สอศ. ก็ได้มอบหมายให้แบ่งโซนพื้นที่ดำเนินการกำกับ ติดตามสถานศึกษา เพื่อทราบถึงผลการดำเนินการงานต่างๆ ปัญหาอุปสรรค เพื่อนำมาทบทวน ปรับปรุงแนวทางและมาตรการต่าง ๆ เพิ่มเติม เพื่อให้รองรับกับแนวปฏิบัติ สถานการณ์ และบริบทพื้นที่ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยแก่ผู้เรียน ครู และบุคลากรทุกคนให้ห่างไกลจากโรคโควิด-19
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit