ด้วยภาพจำทั้งกลิ่นและสภาพแวดล้อมของฟาร์มที่ไม่สู้ดีนัก กลายเป็นหนึ่งในข้อจำกัดที่ทำให้การสร้างฟาร์มหมูเป็นเรื่องยาก การตั้งฟาร์มสักแห่ง ต้องผ่านการทำประชาพิจารณ์ จากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในระดับท้องถิ่น โดยเฉพาะชุมชนรอบข้างเสียก่อน ซึ่งจะผ่านได้ก็ต่อเมื่อ ชุมชนให้การยอมรับและฟาร์มต้องมีการลงทุนด้านสิ่งแวดล้อมและมีระบบการจัดการฟาร์มที่ดีเพื่อให้สามารถอยู่ร่วมกับชุมชนรอบข้างได้
วันนี้มีโอกาสได้เข้าชมความสำเร็จของฟาร์มหมูที่สามารถร่วมกับชุมชนรอบข้างได้อย่างกลมกลืน จากการบริหารจัดการฟาร์มที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่ฟาร์มสุกรโคกอุดม หมู่บ้านบุสูง ต.นาดี อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี ของ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ
ฟาร์มแห่งนี้เป็นโมเดลความสำเร็จที่น่าถ่ายทอด จากความไม่เข้าใจและการปิดกั้นของชุมชน สู่การเปิดใจและทำงานร่วมกันอย่างกลมเกลียว จากคำมั่นสัญญาของฟาร์มที่มีต่อชุมชนว่า จะร่วมพัฒนาชุมชนอย่างต่อเนื่องควบคู่ไปกับการบริหารฟาร์มภายใต้มาตรฐานการผลิตที่เป็นมิตรกับชุมชนและสิ่งแวดล้อม ตามมาตรฐานฟาร์มสีเขียว หรือกรีนฟาร์ม (CPF Green Farm) ที่บริษัทยกระดับฟาร์มเลี้ยงหมูอย่างต่อเนื่อง
จนถึงวันนี้เป็นเวลา 10 ปีแล้ว ที่ฟาร์มโคกอุดม กลายเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนแห่งนี้ เพราะทำตามสัญญาที่ให้ไว้ทั้งการเดินหน้าฟาร์มสีเขียวแบบเต็มรูปแบบ ตั้งแต่การวางระบบฟาร์มปิด เลี้ยงหมูในโรงเรือนระบบปิดที่ทำความเย็นด้วยการระเหยของน้ำ หรือ ระบบอีแวป (EVAP : Evaporative Cooling System) ควบคู่กับการใช้ระบบบำบัดด้วยไบโอแก๊ส ที่ช่วยลดกลิ่นไม่พึงประสงค์และแมลงวันที่อาจจะส่งผลกระทบต่อชุมชนรอบข้างแล้ว ระบบนี้ยังได้ก๊าซมีเทนเป็นผลพลอยได้ มาผลิตไฟฟ้าเป็นพลังงานสะอาดทดแทนเพื่อใช้ภายในฟาร์ม นอกจากนี้ ยังนำระบบฟอกอากาศท้ายโรงเรือนมาใช้อย่างได้ผล ทำให้ไม่มีกลิ่นเล็ดรอดไปรบกวนชุมชน ขณะเดียวกัน ก็ปรับภูมิทัศน์โดยรอบฟาร์มให้สวยงามน่าอยู่ จนดูแทบไม่ออกว่าที่นี่คือฟาร์มหมู
เรียกว่านอกจากจะไร้กลิ่น ไร้แมลงรบกวน ทำให้ฟาร์มอยู่กับชุมชนได้อย่างยั่งยืนแล้ว ระบบทั้งหมดที่กล่าวมายังช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่มีผลต่อภาวะโลกร้อนด้วย ที่สำคัญน้ำในกระบวนการผลิตยังถูกนำเข้าระบบบำบัดตามมาตรฐาน ที่ยังคงมีแร่ธาตุที่เหมาะสมกับพืช จึงสามารถนำกลับไปใช้เป็นน้ำปุ๋ย ที่แบ่งปันให้กับชุมชนรอบข้าง เพื่อใช้ในการปลูกผักสวนครัว ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง สวนผลไม้ ฯลฯ สร้างรายได้ให้กับเกษตรกร
ขณะที่การบริหารจัดการฟาร์มมาตรฐาน เดินหน้าอย่างเป็นระบบ ซีพีเอฟและชาวชุมชนก็ร่วมกันพัฒนาหมู่บ้านให้เข้มแข็ง ด้วยการนำองค์ความรู้ เทคโนโลยี และบุคลากรของบริษัท มาร่วมพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็ง เน้นทำงานร่วมกับสมาชิกในชุมชน ทั้งด้านการเกษตร การแปรรูปสินค้า รวมทั้งการยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับกลุ่มผู้สูงอายุ สร้างความยั่งยืนให้กับทุกคนในชุมชน
ทั้งหมดนี้คือตัวอย่างของฟาร์มหมูที่กลายเป็นสมาชิกของชุมชน และสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข จากการผนึกกำลังและสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้กับชุมชนของพวกเขาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกฟาร์มของบริษัทดำเนินการเช่นเดียวกัน ไม่เพียงในฟาร์มหมู ยังต่อยอดไปถึงฟาร์มไก่เนื้อ ฟาร์มไก่ไข่ และฟาร์มกุ้ง เพื่อให้ “กรีนฟาร์ม” เป็นภาพสะท้อนถึง “ความเป็นมิตร” ที่มีต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม
โชคดีที่เราอยู่ในยุคแห่งการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและวิทยาการสมัยใหม่ ดังนั้นเรื่องการลงทุนด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อให้การเลี้ยงสัตว์เป็นมิตรต่อชุมชน และไม่ส่งผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม จึงไม่ใช่ยาก ที่สำคัญทั้งบริษัทและเกษตรกรต่างตระหนักดีในเรื่องนี้ เพื่อให้ฟาร์มอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืน./
HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit