มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) โดยคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (SCI-TU) ผนึก บริษัท เคซีจี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (KCG) เปิดตัวนวัตกรรมซุปเปอร์ฟู้ด "ไรซ์เบอร์รี่สเปรด" (Riceberry Spread) แยมข้าวไรซ์เบอร์รี่น้ำตาลต่ำ ที่มาพร้อมคุณประโยชน์ทางโภชนาการสูงและกระตุ้นระบบขับถ่าย ด้วยส่วนผสมของวัตถุดิบหลัก 4 ชนิดดังนี้ 1. แป้งข้าวไรซ์เบอร์รี่ จากข้าวไรซ์เบอร์รี่ออร์แกนิค โดยมูลนิธิโครงการเพื่อนพึ่งภาฯ 2. น้ำมัลเบอร์รี่ ที่ต่างมีองค์ประกอบของสารแอนโธไซยานินที่ช่วยในเรื่องต้านอนุมูลอิสระ 3. น้ำเชื่อมพรีไบโอติกจากแก่นตะวัน ที่มีคุณสมบัติให้พลังงานน้อย และ 4. นมสด ช่วยเพิ่มกลิ่นรสและเนื้อสัมผัส พร้อมแนะเอสเอ็มอีพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารตอบโจทย์ผู้บริโภคด้วยโครงการ "ทดสอบผลิตภัณฑ์อาหารทางประสาทสัมผัส" ทั้งนี้ พิธีลงนามในสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในผลงานวิจัย เรื่อง "สูตรและกรรมวิธีการผลิตไรซ์เบอร์รี่สเปรด" ระหว่าง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ บริษัท เคซีจี คอร์ปอเรชั่น จำกัด จัดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ โดยมีผู้บริหารทั้ง 2 หน่วยงานและพันธมิตรเข้าร่วมจำนวนมาก ณ อาคารโดมบริหาร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. โทร. 02-564-4440-59 ต่อ 2010 เฟซบุ๊กแฟนเพจ www.facebook.com/ScienceThammasat เว็บไซต์ www.sci.tu.ac.th
รองศาสตราจารย์ เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) เผยว่า จากนโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรมของรัฐบาล โดย มธ. ได้มุ่งสร้างฐานรากให้มีความเข้มแข็ง เพื่อพัฒนาต่อยอดงานวิจัย ด้านเทคโนโลยี และนวัตกรรม ให้สามารถออกสู่เชิงพาณิชย์ได้ ซึ่งที่ผ่านมา มธ. ได้สร้างสรรค์ผลงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมต่าง ๆ จำนวนมาก ทั้งนวัตกรรมด้านการแพทย์ วิศวกรรม อาหาร สมุนไพร และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงาม โดยที่ล่าสุด ได้ร่วมลงนามในสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในผลงานวิจัย เรื่อง "สูตรและกรรมวิธีการผลิตไรซ์เบอร์รี่สเปรด" ระหว่าง "มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์" และ "บริษัท เคซีจี คอร์ปอเรชั่น จำกัด" (KCG) เพื่อนำงานวิจัยไปพัฒนาต่อยอดสร้างเป็นผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ ตลอดจนยกระดับอุตสาหกรรมอาหารของประเทศไทยสู่ตลาดซุปเปอร์ฟู้ด (Super Food) หรืออาหารที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูงตอบโจทย์กับความต้องการของทั่วโลก
อันสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์การพัฒนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560-2564) ที่มุ่งสร้างสรรค์งานวิจัยและนวัตกรรมที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเชิงพัฒนาต่อสังคมไทยและสังคมโลก ผ่านการจัดสรรงบประมาณ/ทุนสนับสนุนแก่คณาจารย์รายคณะ ในการศึกษาดูงานและพัฒนางานวิจัยอย่างต่อเนื่อง รวมถึงสร้างเครือข่ายความร่วมมือภายในและภายนอกประเทศ ทั้งนี้ มธ. วางเป้าหมายสู่การเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศให้ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี นวัตกรรมนำผลงานวิจัยออกสู่เชิงพาณิชย์มากยิ่งขึ้น พร้อมสร้างความเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง อาทิ หน่วยงานผู้ให้ทุน สถาบันวิจัย มหาวิทยาลัย นักวิจัย ผู้ถือครองสิทธิด้านทรัพย์สินทางปัญญา ผู้ประกอบการ ภาคเอกชน และบุคคลทั่วไป เพื่อเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการ และประเทศสู่ระดับสากลต่อไป
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ณัฐธนนท์ หงส์วริทธิ์ธร คณบดี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. หรือ SCI-TU กล่าวว่า SCI-TU ในฐานะสถาบันการศึกษาและวิจัยทางด้านวิทยาศาสตร์ระดับชั้นนำของเอเชีย ซึ่งมุ่งเน้นบูรณาการองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พัฒนานวัตกรรมที่มีคุณค่าต่อธุรกิจ (SCI-BUSINESS) ได้ขานรับนโยบายของมหาวิทยาลัย ด้วยการจัดอบรม ส่งเสริมและผลักดันคณาจารย์นักวิจัย และนักศึกษาในหลักสูตรต่างๆ ให้ต่อยอดองค์ความรู้ สู่นวัตกรรมสร้างสรรค์ที่ตอบโจทย์ที่มีการปรับเปลี่ยนตลอดเวลาของภาคอุตสาหกรรมในหลากหลายมิติ ทั้งด้านอาหาร การเกษตร และสิ่งแวดล้อม ตลอดจนสามารถคว้ารางวัลจากเวทีประกวดงานวิจัย ทั้งในระดับประเทศและนานาชาติได้สำเร็จ ตลอดจนสามารถต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ร่วมกับบริษัทเอกชนได้จริงจำนวนมาก โดยที่ล่าสุดคือ "ไรซ์เบอร์รี่สเปรด" แยมข้าวน้ำตาลต่ำและให้พลังงานต่ำ
"นับเป็นโอกาสครั้งสำคัญของคนไทยทั้งประเทศ ในการเลือกรับประทานผลิตภัณฑ์อาหารที่ดีต่อสุขภาพ เนื่องจากมีส่วนประกอบหลักจากวัตถุดิบออร์แกนิคจากภาคการเกษตรของไทย อีกทั้งยังเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ ข้าวไรซ์เบอร์รี่และรายได้ที่เพิ่มขึ้นของเกษตรกรไทย ซึ่งถือเป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจของมหาวิทยาลัย ในการผลักดัน 'งานวิจัยขึ้นห้าง' ได้สำเร็จอย่างมีศักยภาพ และตอกย้ำการเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง"
นอกจากนี้ SCI-TU ยังมีโครงการ "ทดสอบผลิตภัณฑ์อาหารทางประสาทสัมผัส" (Sensory) โดยความร่วมมือกับศูนย์ประเมินคุณภาพทางประสาทสัมผัส มธ. ศูนย์รังสิต และ KCG การประเมินคุณภาพอาหารตามหลักการทางวิทยาศาสตร์ โดยที่ผู้เชี่ยวชาญจะทำการวิเคราะห์ผ่านประสาทสัมผัส ทั้ง 5 มิติคือ การมองเห็น การได้กลิ่น การรับรส การสัมผัส และการได้ยิน เพื่อแยกแยะผลิตภัณฑ์ว่ามีความเหมือนหรือต่าง ค้นหาความต้องการผู้บริโภคได้ วิเคราะห์ข้อมูลความชอบและการยอมรับผลิตภัณฑ์อาหารของผู้บริโภค ฯลฯ เพื่อเป็นข้อมูลสำคัญที่ช่วยภาคธุรกิจตัดสินใจ และนำไปสู่แนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์ตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภค สร้างโอกาสทางการตลาดที่เหนือกว่าบริษัทคู่แข่ง ตลอดจนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันยุคอุตสาหกรรม 4.0 ได้ในอนาคต
ด้าน ดร. สุธีรา วัฒนกุล ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพ ในการพัฒนาสูตรและทดสอบการยอมรับของผู้บริโภค อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. กล่าวเสริมว่า จากแนวคิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนยุคใหม่ ที่เร่งรีบและอาจจะพลาดมื้ออาหารที่สำคัญ ทีมวิจัยจึงได้พัฒนาซุปเปอร์ฟู้ด "ไรซ์เบอร์รี่สเปรด" (Riceberry Spread) แยมข้าวไรซ์เบอร์รี่น้ำตาลต่ำ ที่มาพร้อมคุณประโยชน์ทางโภชนาการสูงและกระตุ้นระบบขับถ่าย ด้วยส่วนผสมของวัตถุดิบหลัก 4 ชนิดดังนี้ 1. แป้งข้าวไรซ์เบอร์รี่ (Riceberry Flour) จากข้าวไรซ์เบอร์รี่ออร์แกนิค โดยมูลนิธิโครงการเพื่อนพึ่งภาฯ 2. น้ำมัลเบอร์รี่ (Mulberry) ที่ต่างมีองค์ประกอบของสารแอนโธไซยานินที่ช่วยในเรื่องต้านอนุมูลอิสระ 3. น้ำเชื่อมพรีไบโอติกจากแก่นตะวัน (Jerusalem artichoke syrup) ประกอบด้วยฟรุกโทโอลิโกแซคคาไรด์ (fructo-oligosaccharides; FOS) ซึ่งเป็นใยอาหารและพรีไบโอติกและ 4. นมสด ช่วยเพิ่มกลิ่นรสและเนื้อสัมผัส
ทั้งนี้ แยมข้าวดังกล่าว จะมีลักษณะคล้ายแยมทั่วไป ข้นหนืด แต่มีกลิ่นหอมของแป้งข้าวไรซ์เบอร์รี่ และมัลเบอร์รี่ พร้อมบรรจุผลิตภัณฑ์ในขวดหรือถุง และฆ่าเชื้อด้วยวิธีการทำให้อาหารปลอดภัยโดยการใช้ความร้อน (Pasteurization) สามารถเก็บได้นานมากกว่า 6 เดือนที่อุณหภูมิห้อง เพื่อให้สะดวกต่อการเก็บรักษา พกพาและรับประทาน ทั้งในรูปแบบทาขนมปัง/แซนวิชเพื่อเป็นมื้อเช้า ทานเป็นอาหารว่างคู่กับกล้วย หรือเลือกดื่มคู่กับนมร้อนสักแก้ว ฯลฯ โดยผลิตภัณฑ์ดังกล่าว ได้รับความร่วมมือจากทีมนักวิจัยร่วมสาขาฯ คือ ดร.กฤติยา เขื่อนเพชร อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร และทีมนักวิจัยของ รศ.ดร.สาโรจน์ ศิริศันสนียกุล คณะอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ในการสนับสนุนองค์ความรู้และวัตถุดิบ คือ น้ำเชื่อมพรีไบโอติกจากแก่นตะวัน เพื่อทำการวิจัยและพัฒนา
อย่างไรก็ดี ผลิตภัณฑ์แยมข้าวไรซ์เบอร์รี่น้ำตาลต่ำนี้ ได้รับรางวัลเหรียญทองแดงและ Special Price จากประเทศกาตาร์ การันตีคุณภาพเป็นที่เรียบร้อยแล้ว จากเวทีประกวดนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ ระดับนานาชาติ ประจำปี 2559 (Seoul International Invention Fair: SIIF 2016) ณ กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ นอกจากนี้ ยังมีนวัตกรรมของคณะที่ได้รับรางวัลจากเวทีดังกล่าว ในปี 2562 (SIIF 2019) คือ "ผงปรุงรสจากเปลือกกุ้งล็อปสเตอร์" แคลเซียมสูง โปรตีนสูง โซเดียมต่ำ "วาฟเฟิลชะอมกรอบ" ไส้แยมกระเจี๊ยบเขียวรสแกงส้ม และ "แครกเกอร์มังสวิรัติจากแป้งข้าวไรซ์เบอร์รี่" ปราศจากกลูเตน โปรตีนสูง และไฟเบอร์สูง
ดร. วาทิต ตมะวิโมกษ์ กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เคซีจี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (KCG) กล่าวถึงแนวโน้มอุตสาหกรรมอาหารเพื่อสุขภาพว่า ถือเป็นตลาดที่มีศักยภาพและมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพราะจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่หันมาใส่ใจดูแลสุขภาพยิ่งขึ้น ทั้งจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ วัยทำงาน และผู้สูงอายุ เป็นผลให้ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมต่างเร่งพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด บริษัทฯ จึงจับมือร่วมกับภาคการศึกษาอย่าง มธ. โดย คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อต่อยอด "ไรซ์เบอร์รี่สเปรด" สู่เชิงพาณิชย์ ภายใต้แบรนด์ อิมพีเรียล (Imperial) ซึ่งปัจจุบันบริษัทฯ มีผลิตภัณฑ์เบเกอร์รี่ต้นตำรับและมีคุณภาพระดับพรีเมี่ยมหลากหลายจำหน่ายในตลาด
สำหรับแผนการตลาด KCG เตรียมนำผลิตภัณฑ์ดังกล่าว จำหน่ายในรูปแบบ B2B (Business to Business) ให้กับกลุ่มธุรกิจอาหาร โรงแรม โดยขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างพัฒนาแพกเกจจิ้ง ตราสินค้า ขนาด เพื่อให้สอดรับกับการใช้งานในแต่ละธุรกิจ รวมทั้งขยายสู่ช่องทางจำหน่ายในรูปแบบ B2C (Business to Consumer) ผ่านโมเดิร์นเทรด ร้านค้าสะดวกซื้อ เป็นต้น เพื่อเจาะกลุ่มผู้บริโภคที่ใส่ใจต่อสุขภาพ ขณะเดียวกันยังมีแผนนำวัตถุดิบหรือไส้ไปพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เบเกอรี่อื่น ๆ ตามสายการผลิตของบริษัทฯ อาทิ เวเฟอร์ คุกกี้ และบิสกิต เพื่อสร้างความหลากหลายให้กับผลิตภัณฑ์
ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) โดยคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (SCI-TU) และศูนย์ทรัพย์สินทางปัญญาและบ่มเพาะวิสาหกิจ (TUIPI) ได้จัดพิธีลงนามในสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในผลงานวิจัย เรื่อง "สูตรและกรรมวิธีการผลิตไรซ์เบอร์รี่สเปรด" ระหว่าง "มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์" และ "บริษัท เคซีจี คอร์ปอเรชั่น จำกัด" เพื่อนำงานวิจัยไปพัฒนาต่อยอดสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ ออกสู่เชิงพาณิชย์ เมื่อเร็วๆ นี้ ณ อาคารโดมบริหาร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สำนักงานเลขานุการคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. โทร. 02-564-4440-59 ต่อ 2010 เฟซบุ๊กแฟนเพจ www.facebook.com/ScienceThammasat เว็บไซต์ www.sci.tu.ac.th