ด้านอุปสงค์ในประเทศของภาคเอกชน มีแนวโน้มขยายตัวได้แต่ในอัตราที่ชะลอลง โดยแม้ว่าภาคส่งออกจะมีโอกาสฟื้นตัว แต่การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนยังมีทิศทางชะลอตัวต่อเนื่องตามหลายปัจจัยกดดัน ไม่ว่าจะเป็นการลดลงของการจ้างงานโดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรม ความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ลดต่ำต่อเนื่อง รายได้นอกภาคเกษตรที่เริ่มหดตัว ส่วนรายได้ภาคเกษตรก็มีแนวโน้มได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง รวมถึงหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ล้วนส่งผลกระทบต่อการจับจ่ายใช้สอยของครัวเรือนโดยเฉพาะในหมวดสินค้าคงทนในระยะต่อไป ส่วนด้านการลงทุนภาคเอกชน นอกจากจะมีแนวโน้มชะลอลงตามกำลังซื้อในประเทศแล้ว อัตราการใช้กำลังการผลิต (CapU) ที่อยู่ในระดับต่ำ และระดับสินค้าคงคลัง (inventory) ภาคอุตสาหกรรมที่อยู่ในระดับสูง ก็จะส่งผลต่อการชะลอตัวของการลงทุนภาคเอกชนในระยะข้างหน้า นอกจากนี้ ยอดขายรถยนต์เพื่อการบริโภคและการพาณิชย์ที่มีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่อง รวมถึงการก่อสร้างภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการ LTV ในช่วงก่อนหน้า ก็จะเป็นอีกปัจจัยกดดันภาคอุปสงค์ในประเทศในระยะต่อไป อย่างไรก็ดี ภาครัฐจะเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในการประคับประคองเศรษฐกิจปี 2563 ทั้งในรูปแบบการกระตุ้นเศรษฐกิจและดูแลกลุ่มเปราะบางระยะสั้น การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และการกำหนดแนวนโยบายเศรษฐกิจที่สนับสนุนการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชน (Enabler) โดยเฉพาะการเปิดประมูลโครงการ 5G ที่จะผลักดันให้เกิดการลงทุนภาคโทรคมนาคมและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม ประกอบกับการจัดทำงบประมาณที่ล่าช้าจากเมื่อปลายปี 2562 จึงทำให้หลายโครงการมีการเลื่อนเบิกจ่ายมาในปี 2563
สำหรับภาวะการเงินในประเทศ อัตราดอกเบี้ยจะยังอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องทั้งปี ขณะที่เงินบาทจะมีแรงกดดันให้อยูในระดับแข็งค่าต่อเนื่อง โดยอีไอซีคาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะยังใช้นโยบายการเงินในระดับผ่อนคลายต่อเนื่องเพื่อช่วยสนับสนุน การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดย กนง. มีแนวโน้มที่จะคงอัตราดอกเบี้ยที่ 1.25% ตลอดทั้งปี 2563 และอาจปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมอีก 1 ครั้งหากเศรษฐกิจชะลอตัวมากกว่าที่คาด สำหรับค่าเงินบาทมีแนวโน้มทรงตัวในระดับแข็งค่าต่อเนื่อง โดยคาดว่า อัตราแลกเปลี่ยน ณ สิ้นปี 2563 จะอยู่ในช่วง 29.5 – 30.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ตามแรงกดดันของดุลบัญชีเดินสะพัดไทยที่ยังจะเกินดุลในระดับสูง ขณะที่การเปิดเสรีการลงทุนในต่างประเทศเพิ่มเติมทั้งด้านการทำธุรกิจและการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศจะมีส่วนลดแรงกดดันค่าเงินบาทได้ค่อนข้างจำกัดในระยะสั้น และคงต้องใช้เวลาในการลดข้อจำกัดเชิงโครงสร้าง เช่น การเพิ่มความรู้ความเข้าใจทางการเงิน การยกระดับความสามารถในการลงทุนต่างประเทศ ตลอดจนกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่ยังเป็นอุปสรรค จึงจะทำให้มีเงินทุนเคลื่อนย้ายไหลออกในระดับสูงและสามารถลดแรงกดดันต่อการแข็งค่าของเงินบาทอย่างมีนัย
ความเสี่ยงหลักของเศรษฐกิจไทยปี 2563 มี 3 ปัจจัย ได้แก่ ความไม่แน่นอนของสงครามการค้า ความเสี่ยงเชิงภูมิรัฐศาสตร์ และความเปราะบางทางการเงินของภาคครัวเรือนและธุรกิจ ด้านสงครามการค้า แม้ล่าสุดจะมีข้อตกลงการค้าระยะแรกระหว่างสหรัฐฯ และจีน (Phase-1 deal) แต่นโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ ยังมีความไม่แน่นอนสูงและอาจกระทบต่อการค้าโลกได้ อาทิ การเจรจากับจีนในระยะต่อไป การตอบโต้ทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับสหภาพยุโรป และการพิจารณาของสหรัฐฯ ในการตัดสิทธิ GSP ของหลายประเทศ ขณะที่ความเสี่ยงเชิงภูมิรัฐศาสตร์ (geopolitical risks) โดยเฉพาะความขัดแย้งระหว่างอิหร่านและสหรัฐฯ การประท้วงที่ยืดเยื้อในฮ่องกง และประเด็น Brexit ยังเป็นปัจจัยเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ขณะที่ความเสี่ยงภายในประเทศ คือ ความเปราะบางทางการเงินของภาคครัวเรือนและธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีหนี้ในระดับสูงและการสร้างรายได้ถูกกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี (technology disruption) และการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit