เตรียมตัวให้พร้อม TCAS63! ฟูลรีวิวปลดล็อค 10 สาขา 10 ไลฟ์สไตล์ ใครฝันอยากเป็นเด็กคณะวิทย์ ลูกแม่โดม ต้องอ่าน

16 Jan 2020
แม้ว่าโลกจะเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว วิทยาศาสตร์ยังคงมีบทบาทสำคัญต่อทุกสิ่งอยู่เสมอ อีกทั้งยังมีความเกี่ยวข้องกับชีวิตของมนุษย์ในเกือบทุกด้าน แต่โลกของเราจะไม่มีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว หากไม่มีต้นทางที่สามารถผลิตบุคลากรที่ตอบสนองความต้องการเหล่านั้นได้ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) สถาบันการศึกษา มีเป้าหมายและวางปณิธานที่ต้องการผลิตบัณฑิต ที่มีความเป็นเลิศทั้งวิชาการและการวิจัยเพียบพร้อมด้วยคุณธรรม จริยธรรม ซึ่งสามารถบูรณาการความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต และพัฒนาสังคม
เตรียมตัวให้พร้อม TCAS63! ฟูลรีวิวปลดล็อค 10 สาขา 10 ไลฟ์สไตล์ ใครฝันอยากเป็นเด็กคณะวิทย์ ลูกแม่โดม ต้องอ่าน

โดยครั้งนี้จะพาทุก ๆ คน ไปเจาะลึกทำความรู้จัก 10 สาขา รวมถึงหลักสูตรทั้งภาคปกติและภาคอินเตอร์ ของคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. ที่เปิดสอนอยู่ในปัจจุบันกันให้มากขึ้น ซึ่งน้อง ๆ ทุกคนที่เข้ามาเรียนที่นี่จะได้เรียนรู้ทั้งภาคทฤษฏีและปฏิบัติ อีกทั้งยังได้รับประสบการณ์ระหว่างเรียน เพราะว่าที่นี่เน้นหนักการเรียนรู้แบบActive และ Project based learning รวมทั้งการคิดแบบผู้ประกอบการ (SCI + BUSINESS) ที่ไม่ว่าจะเรียนจบในหลักสูตรหรือสาขาไหนก็มีงานรองรับแน่นอน

  • ผสานวิทย์บริสุทธิ์–วิทย์ประยุกต์ก่อเกิดสิ่งใหม่

วิทยาศาสตร์สาย Pure หรือวิทยาศาสตร์บริสุทธิ์ เป็นความรู้ทางวิทยาศาสตร์ขั้นพื้นฐาน ประกอบด้วย ข้อเท็จจริง หลักการ กฎ ทฤษฎี ส่วน Applied science หรือวิทยาศาสตร์ประยุกต์นั้น เมื่อเรียนแล้วสามารถประยุกต์ใช้ศาสตร์เพื่อไปช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ได้จริง ศาสตร์ทั้งสองอย่างมีความเกี่ยวข้องกับทุกสิ่งรอบตัวเรา และเป็นอาชีพที่มีความสำคัญของประเทศ

มาเริ่มต้นที่ สาขาวิชาคณิตศาสตร์และสถิติ (Department of Mathematics and Statistics) เป็นหนึ่งสาขาที่เก่าแก่ที่สุด น้อง ๆ จะได้ศึกษาศาสตร์ทางคณิตศาสตร์และสถิติทั้งภาคทฤษฎีและภาคประยุกต์ นอกจากนี้ยังมีหลักสูตรเฉพาะที่น่าสนใจ อย่างคณิตศาสตร์การจัดการ วิทยาการประกันภัย โดยทุกหลักสูตรของสาขาวิชามีทั้ง Pure Science และ Applied science และเน้นผลิตบัณฑิตที่มีทักษะกระบวนการคิดแก้ปัญหาที่มีเหตุและผล นำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในสายงานต่าง ๆ อาทิ การวางแผนและพัฒนา โลจิสติกส์ ธุรกิจประกันภัย และธุรกิจการเงิน

สาขาวิชาฟิสิกส์ (Department of Physics) น้อง ๆ จะได้เรียนรู้เกี่ยวกับฟิสิกส์ เกี่ยวกับปรากฏการณ์ทางกายภาพต่างๆ ทั้งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและมนุษย์สร้างขึ้น ซึ่งสามารถอธิบายหลักการทางทฤษฎีและทดลองปฏิบัติได้ เน้นเรียนทางด้านกลศาสตร์ ไฟฟ้า การคิดและวิเคราะห์ในส่วนของเครื่องมือและอุปกรณ์ต่าง ๆ นอกจากนี้ได้เรียนรู้ฟิสิกส์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นหลักสูตรที่รวมองค์ความรู้ทางด้านฟิสิกส์และอิเล็กทรอนิกส์ เรียนรู้ทางด้านอุปกรณ์สารกึ่งตัวนำ วงจรอิเล็กทรอนิกส์เบื้องต้น วงจรดิจิตอล และการประยุกต์ใช้ในการสร้างหุ่นยนต์ขนาดเล็กและควบคุมฮาร์ดแวร์ด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เพื่อสร้างเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ เช่น การผลิตหุ่นยนต์ รถยนต์อัจฉริยะ สมาร์ทฟาร์ม รองรับกับการเติบโตของอุตสาหกรรม

พร้อมทั้งได้เรียนรู้ทักษะการเป็นผู้ประกอบการ จากการทำวิจัยกับคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญ รวมถึงมีโอกาสจบการศึกษาภายใน 3 ปีครึ่ง และสามารถศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาของสาขาวิชาฟิสิกส์ได้อย่างต่อเนื่องที่ มธ.

ต่อกันที่ สาขาวิชาเคมี (Department of Chemistry) น้อง ๆ จะรู้ซึ้งในศาสตร์ทางเคมีและเคมีประยุกต์ จะศึกษาและทำความเข้าใจถึงกระบวนการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในธรรมชาติ และที่อยู่รอบตัวเราว่ามีลักษณะ ประกอบด้วยอะไร มีโครงสร้าง และมีความสัมพันธ์กันอย่างไร มีคุณมีโทษอย่างไร ความเป็นอยู่ของมนุษย์และสัตว์ที่เกี่ยวข้องกับสารเคมี ดังนั้นเคมีเป็นกุญแจสำคัญที่ใช้ในการแก้ปัญหาที่พบในชีวิตประจำวัน เพราะเกี่ยวข้องกับการพัฒนาทางเทคโนโลยีชีวภาพ ที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนายา วัสดุสังเคราะห์ต่าง ๆ และเป็นจักรกลสำคัญในศาสตร์ใหม่ เช่น นาโนเทคโนโลยี เป็นต้น น้องๆ สามารถต่อยอดจนเกิดเป็นผลงานวิจัย ที่สามารถนำไปพัฒนาในเชิงพาณิชย์ได้ ผ่านการเรียนการสอนของอาจารย์ทรงคุณวุฒิ และยังได้รับความร่วมมือจากบุคลากร องค์กรต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ โดยผลงานวิจัยของสาขานี้ได้รับการยอมรับทั้งในระดับชาติและนานาชาติมากมาย

สาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ (Department of Computer Science) เป็นสาขาเก่าแก่และได้รับความนิยมจากน้อง ๆ มีการเรียนการสอนด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ ทั้งในภาคทฤษฎีและปฏิบัติด้วยเทคโนโลยีทันสมัย น้องๆ จะได้เรียนเกี่ยวกับทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ของระบบคอมพิวเตอร์ ระบบเครือข่ายและความปลอดภัย ซึ่งสามารถเป็นพื้นฐานอย่างดีให้นำไปประยุกต์ต่อยอดในวิชาเลือกเฉพาะทางในศาสตร์คอมพิวเตอร์อื่นๆ เช่น การประมวลผลแบบคลาวด์ (Cloud Computing)วิศวกรรมซอฟต์แวร์ (Software Engineering) ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และวิทยาการข้อมูล (Data Science) ซึ่งตอบโจทย์ทั้งผู้ที่ต้องการมุ่งสู่การศึกษาในระดับสูงขึ้น หรือประกอบอาชีพในองค์กรหรือธุรกิจได้หลากหลาย นอกจากนี้ยังมีโอกาสได้ทำวิจัยหรือโปรเจคร่วมกับสถาบันชั้นนำ ไปแลกเปลี่ยนระยะสั้นในสถาบันการศึกษา วิจัย และธุรกิจชั้นนำทั้งในระดับชาติและนานาชาติ

  • นักประยุกต์สรรค์สร้างนวัตกรรม

เมื่อโลกก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล น้อง ๆ ที่สนใจเรียนวิทยาศาสตร์ประยุกต์ เพื่อนำเทคโนโลยีมาสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ มาดูว่ามีสาขาใดบ้าง เริ่มต้นที่ สาขาวิชาเทคโนโลยีการเกษตร (Department of Agricultural Technology) มุ่งศึกษาเทคโนโลยีการเกษตร ทั้งการผลิตพืชและสัตว์ เพื่อให้นักศึกษาสามารถนำความรู้และเทคโนโลยีที่เหมาะสม พร้อมกับรักษาและฟื้นฟูระบบนิเวศ ตลอดจนการพัฒนาเทคโนโลยีการเกษตรให้เหมาะสมและยั่งยืน ซึ่งหากน้อง ๆ เรียนจบจะสามารถประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร เช่น อาจารย์ นักวิชาการเกษตร นักวิจัย และนักส่งเสริมการเกษตร

สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร (Department of Food Science and Technology) น้อง ๆ จะได้เรียนทั้งภาคทฤษฎี และปฏิบัติในด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีการแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหาร ไปพร้อมกับการเสริมประสบการณ์เรียนรู้ในหน่วยงานหรือโรงงานอุตสาหกรรมอาหารชั้นนำต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่สำคัญถือเป็นอีกหนึ่งสาขาที่มีผลงานวิจัยและนวัตกรรมมากมาย ที่สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศจากการประกวดชั้นนำ ทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ ที่สามารถนำผลงานเหล่านั้นไปประยุกต์ใช้หรือต่อยอดกับการทำงาน หรือธุรกิจของตนเองในอนาคตได้

สาขาวิชาเทคโนโลยีชีวภาพ (Department of Biotechnology) น้อง ๆ ที่เข้ามาเรียนสาขานี้ ได้รับความรู้หลากหลายสาขาวิชาทางเทคโนโลยีชีวภาพ ได้แก่ เทคโนโลยีชีวภาพพืช เทคโนโลยีชีวภาพอุตสาหกรรม เทคโนโลยีชีวภาพสิ่งแวดล้อม และยังได้รับประสบการณ์ในการทำวิจัยกับอาจารย์ที่มีความชำนาญพิเศษในห้องปฏิบัติการที่มีเครื่องมือเฉพาะสำหรับงานวิจัยขั้นสูง งานวิจัยหลักของคณาจารย์ในภาควิชาฯ อาทิ การศึกษากระบวนการหมักและเทคโนโลยีชีวภาพที่ใช้ในอุตสาหกรรม การประยุกต์ความรู้ทางเทคโนโลยีชีวภาพเพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม และนักศึกษามีโอกาสที่จะได้เรียนรู้และร่วมทำงานกับนักวิจัยในสถาบันระดับชาติ เมื่อเรียนจบสามารถประกอบอาชีพหลากหลาย อาทิ นักวิจัยทางเทคโนโลยีชีวภาพ อาจารย์ นักวิจัยและพัฒนา (R&D) ในหน่วยงานด้านการศึกษาและในภาคอุตสาหกรรม งานควบคุมกระบวนการผลิตและการตลาด

สาขาวิชาเทคโนโลยีวัสดุและสิ่งทอ (Department of Textile Science and Technology) เพราะอุตสาหกรรมสิ่งทอมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของชาติ สร้างรายได้ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) จำนวนมหาศาล แต่ปัจจุบันประเทศไทย ต้องเผชิญกับการค้าเสรีในระดับโลก ทำให้ต้องปรับตัวเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม จึงจำเป็นที่ต้องเร่งทำการวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างนวัตกรรมสิ่งทอคุณสมบัติใหม่ ๆ เช่น สิ่งทอเทคนิคและสิ่งทอสมบัติพิเศษ การพัฒนาด้านการออกแบบ เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขัน หากเรียนสายนี้รับรองว่ามีงานรองรับแน่นอน น้อง ๆ ที่เข้ามาเรียนสาขานี้ จะได้ศึกษาเกี่ยวอุตสาหกรรมสิ่งทอ สิ่งทอเทคนิค เครื่องนุ่งห่ม การผลิต การออกแบบดีไซน์ และการใช้เทคโนโลยีในด้านต่าง ๆ เพื่อนำไปประยุกต์ใช้งานได้จริง เมื่อเรียนจบสามารถประกอบอาชีพ ทั้งนักวิทยาศาสตร์ นักวิจัยนักวิชาการ และผู้ประกอบการ

  • วิทย์ประยุกต์สายรักษ์โลก-สังคม

เป็นที่รู้กันดีว่าตอนนี้โลกเผชิญกับปัญหามลพิษต่าง ๆ รวมทั้งประเทศไทยด้วย สาขาวิชาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อม (Department of Environmental Science)อีกหนึ่งสาขาที่โดดเด่นของคณะวิทย์ฯ มธ. ปัจจุบันมีการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมและการจัดการสิ่งแวดล้อมในด้านต่าง ๆ ได้แก่ มลพิษทางอากาศ เสียง และความสั่นสะเทือน การจัดการขยะ การจัดการสารพิษ และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศทางภูมิศาสตร์ หากเรียนจบสามารถทำงานด้านสิ่งแวดล้อมทุกด้าน บอกเลยว่ามีงานของทั้งภาครัฐและเอกชนรองรับแน่นอน เพราะปัจจุบันประเทศไทยขาดบุคลากรและนักวิเคราะห์วิจัยด้านสิ่งแวดล้อมจำนวนมาก

ตามด้วย สาขาวิชาเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนายั่งยืน (Department of Sustainable Development Technology) สาขานี้มุ่งเน้นความสำคัญของการพัฒนากำลังคนและงานศึกษาวิจัยทางเทคโนโลยีที่เหมาะสม เพื่อการพัฒนาชุมชนและชนบทอันเป็นพื้นฐานของการพึ่งพาตนเอง อันจะนำไปสู่การพัฒนาชุมชนและชนบทอย่างยั่งยืน โดยนำองค์ความรู้ทางด้านวิศวกรรม วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สังคมและเศรษฐกิจเข้าด้วยกัน หากเรียนจบสาขานี้สามารถทำงานการบริการวิชาการสู่สังคมในเรื่องระบบภูมิสารสนเทศ เพื่อการพัฒนาท้องถิ่น การฝึกอบรมบุคลากรทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน รัฐวิสาหกิจ ตลอดจนหน่วยงานพัฒนาท้องถิ่นต่าง ๆ ได้

  • เก่งวิทย์ได้ภาษา ต้องหลักสูตรอินเตอร์

มาดูกันที่ภาคอินเตอร์บ้าง เริ่มต้นกันที่ หลักสูตรการออกแบบเชิงนวัตกรรมดิจิทัล หลักสูตรนานาชาติ (Innovative Digital Design International Program)หรือ IDD โดยหลักสูตรนี้เป็นการร่วมมือกันของ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. และสถาบันเทคโนโลยีดิจิเพน (DigiPen Institute of Technology) ประเทศสหรัฐอเมริกา น้อง ๆ ที่เรียนหลักสูตรนี้ สามารถนำทักษะที่ได้จากการเรียนไปทำงานในอุตสาหกรรมที่กำลังขยายตัว ไม่ว่าจะเป็น นักพัฒนาซอฟต์แวร์แบบจำลองและเกม นักพัฒนาโปรแกรม ปัญญาประดิษฐ์ วิศวกรควบคุมคุณภาพซอฟต์แวร์ เป็นต้น อีกทั้งสามารถเลือกเรียนได้ที่ มธ. ทั้ง 4 ปี หรือจะเลือกเรียนที่ มธ. 2 ปี และไปศึกษาต่อที่ สถาบันเทคโนโลยีดิจิเพน อีก 2 ปี ก็ได้ หากเลือกเรียนทั้ง 2 ที่ เรียนจบจะได้รับปริญญาจากทั้ง 2 สถาบันเลย

ต่อกันที่หลักสูตรเทคโนโลยีพลังงานชีวภาพและการแปรรูปเคมีชีวภาพ (Bioenergy and Biochemical Refinery Technology Program) หรือที่เรียกกันว่าBEB หลักสูตรนี้น้อง ๆ จะได้เรียนรู้เกี่ยวกับอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ ผ่านการเรียนรู้แบบบูรณาการใน 3 สาขาวิชา คือ เทคโนโลยีชีวภาพ เคมี และพื้นฐานทางวิศวกรรมศาสตร์ รวมถึงยังมีโอกาสได้ฝึกประสบการณ์กับสถานประกอบการจริงเป็นเวลา 1 ปีการศึกษา เพื่อให้ได้ทักษะการแก้ปัญหากระบวนการผลิตในโรงงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ สู่การทำงานในอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New S-curve) ได้แก่ อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพของไทย

  • นักวิทย์สายพันธุ์ใหม่ สู่ฟู้ดเทค

หลักสูตรวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมทางอาหาร (Food Science and Innovation Program) หรือเรียกง่าย ๆ ว่า FIN อาหารยังคงเป็นสิ่งจำเป็นต่อมนุษย์ทุกคน และวิทยาศาสตร์เป็นหนึ่งในปัจจัยขับเคลื่อนอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารด้วยนวัตกรรม น้อง ๆ จะได้เรียนรู้เพื่อก้าวสู่การเป็นนักนวัตกรรมอาหารที่มีความรู้ทางวิชาชีพ (Technical skills) ตามมาตรฐานสากล (The Institute of Food Technologists; IFT) และข้อกำหนดของสภาวิชาการอุตสาหกรรมเกษตร ผ่านการฝึกฝนความชำนาญในโรงงานอุตสาหกรรมอาหารที่ร่วมจัดการเรียนการสอน หากเรียนจบสาขานี้ สามารถประกอบอาชีพทั้งเจ้าหน้าที่วิจัย วิเคราะห์ตรวจสอบกำกับนโยบายทางด้านอาหาร ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงอุตสาหกรรม ทำงานโรงงานอุตสาหกรรมอาหาร ธุรกิจร้านอาหาร

ปิดท้ายกันด้วย หลักสูตรวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมข้อมูล (Data Science and Innovation Program) หนึ่งในหลักสูตรยอดฮิตของคณะวิทย์ ที่เกิดขึ้นเพื่อตอบสนองความก้าวหน้าของเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างก้าวกระโดด โดยหลักสูตรนี้ น้องๆ จะได้เรียนรู้ข้อมูลประกอบ 3 มิติ ได้แก่ 1. มิติความรู้พื้นฐาน คณิตศาสตร์ สถิติ และคอมพิวเตอร์ 2. มิติวิทยาศาสตร์ข้อมูล ซึ่งจะเน้นกระบวนการนำข้อมูลมาช่วยในการแก้ปัญหา 3. มิติธุรกิจ และการสร้างนวัตกรรม สำหรับหลักสูตรดังกล่าว ยังมีลักษณะproject-based learning คือ มุ่งเน้นให้นักศึกษานำองค์ความรู้ไปใช้ในการแก้ปัญหาจริงจากภาคธุรกิจ โดยเป็นอาชีพที่กำลังเป็นที่ต้องการอย่างมากของตลาดแรงงานในปัจจุบันและอนาคต นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจสามารถที่จะเลือกเรียน ผ่านการเรียนแบบ Module-based ที่มีความสมบูรณ์ในตัว โดยใช้เวลาเรียน 4 เดือน สามารถเรียนผ่านช่องทางออนไลน์หรือ MOOC ซึ่งเป็นช่องทางที่เรียนได้ทุกที่ ทุกเวลา

เห็นไหมว่าเรียนการวิทยาศาสตร์ก็น่าสนใจไม่แพ้การเรียนสายอื่น ๆ นอกจากนี้ เมื่อน้อง ๆ ได้เข้าเรียนแล้ว จะได้พบกับวิชากลางของคณะอย่าง SC300 ที่ช่วยส่งเสริมแนวคิดและความรู้ด้านธุรกิจ รวมถึงการเลือกเรียนวิชาโท ที่สามารถเลือกเรียนข้ามศาสตร์ได้ทั้งในและต่างคณะ ซึ่งเป็นจุดเด่นของ มธ. ในการผลิตบัณฑิตให้มีความรู้ที่หลากหลาย และปั้นเด็กวิทย์ลูกแม่โดมให้แตกต่างจากสถาบันอื่น

โดยน้อง ๆ คนไหนสนใจหรืออยากเรียน คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มธ. ศูนย์รังสิต โทรศัพท์ 02-564-4440-59 ต่อ 2010 หรือเข้าไปที่เว็บไซต์ www.sci.ac.th และเฟสบุ๊คแฟนเพจ www.facebook.com/ScienceThammasat

เตรียมตัวให้พร้อม TCAS63! ฟูลรีวิวปลดล็อค 10 สาขา 10 ไลฟ์สไตล์ ใครฝันอยากเป็นเด็กคณะวิทย์ ลูกแม่โดม ต้องอ่าน เตรียมตัวให้พร้อม TCAS63! ฟูลรีวิวปลดล็อค 10 สาขา 10 ไลฟ์สไตล์ ใครฝันอยากเป็นเด็กคณะวิทย์ ลูกแม่โดม ต้องอ่าน เตรียมตัวให้พร้อม TCAS63! ฟูลรีวิวปลดล็อค 10 สาขา 10 ไลฟ์สไตล์ ใครฝันอยากเป็นเด็กคณะวิทย์ ลูกแม่โดม ต้องอ่าน