เมื่อพิจารณาเป็นรายภาค พบว่า ดัชนีความผาสุกของเกษตรกรในภาคใต้ ภาคเหนือ ภาคกลาง อยู่ที่ระดับ 81.81 81.67 81.14 ตามลำดับ ซึ่งเป็นการพัฒนาอยู่ในระดับดี ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนืออยู่ที่ระดับ 79.31 เป็นการพัฒนาอยู่ในระดับ ปานกลาง โดยปัจจัยด้านสุขภาพและด้านสังคมในแต่ละภาคมีการพัฒนาอยู่ในระดับดีและดีมาก สำหรับด้านเศรษฐกิจของภาคใต้และภาคกลางมีการพัฒนาอยู่ในระดับดี ขณะที่ด้านเศรษฐกิจของภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีการพัฒนาอยู่ในระดับปานกลาง และภาคเหนืออยู่ในระดับต้องปรับปรุง ส่วนด้านการศึกษาและด้านสิ่งแวดล้อมในแต่ละภาคมีการพัฒนาอยู่ในระดับต้องปรับปรุงและต้องเร่งแก้ไข
ด้านนายพลเชษฐ์ ตราโช ผู้อำนวยกองนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตร กล่าวเสริมถึงแนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเกษตรกร ซึ่งจะต้องเดินหน้าพัฒนาอย่างต่อเนื่องในทุกภูมิภาค โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ ส่งเสริมเกษตรกรทุกระดับน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ โดยเน้นให้เกษตรกรรายย่อยสามารถพึ่งพาตนเองได้ สำหรับเกษตรกรขนาดกลางและเชิงพาณิชย์ให้มีการต่อยอดไปสู่การเป็นเกษตรกรมืออาชีพที่ ส่งเสริมให้เกษตรกรจัดทำบัญชีฟาร์ม พร้อมส่งเสริมการรวมกลุ่มของเกษตรกร ด้านการศึกษา เนื่องจากเกษตรกรส่วนใหญ่ที่อยู่ในช่วงสูงวัย จึงควรถ่ายทอดองค์ความรู้และพัฒนาทักษะในด้านต่าง ๆ ให้แก่เกษตรกรผู้สูงวัยอย่างเหมาะสม พัฒนาศักยภาพทายาทเกษตรกร และเกษตรกรไทยรุ่นใหม่ให้มีความเข้มแข็ง และด้านสิ่งแวดล้อม สร้างความตระหนักรู้และถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับการทำเกษตรที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อก่อให้เกิดการผลิตที่สมดุล ถ่ายทอดความรู้ในการปรับปรุงบำรุงดินและการใช้สารอินทรีย์ทดแทนการใช้สารเคมีทางการเกษตร รวมทั้งสนับสนุนการฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรม สวนป่าชุมชน ป่าเศรษฐกิจ เพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ของประเทศ
ทั้งนี้ สศก. ได้จัดทำดัชนีความผาสุกของเกษตรกร เป็นประจำทุกปี ซึ่งวิเคราะห์จากปัจจัยพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับความผาสุกของเกษตรกร ทั้ง 5 ด้าน ประกอบด้วย ด้านเศรษฐกิจ ด้านสุขอนามัย ด้านการศึกษา ด้านสังคม และ ด้านสิ่งแวดล้อม สำหรับท่าน ที่สนใจข้อมูล ผลการศึกษา สามารถสอบถามได้ที่ ส่วนนโยบายและแผนพัฒนาเกษตรกรและองค์กรเกษตรกร กองนโยบายและแผนพัฒนาการเกษตร โทร. 0 2579 2816 ในวันและเวลาราชการ