สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เป็น 1 ใน 7 หน่วยบริหารและจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมของประเทศ (Program Management Unit : PMU) ที่รับผิดชอบบริหารทุนสนับสนุนงานวิจัยเชิงกลยุทธ์ (Strategic Fund) ตาม 4 แพลตฟอร์ม 16 โปรแกรม โดย สวรส. เป็น PMU บริหารจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมด้านสุขภาพ ทำหน้าที่กำหนดนโยบายและเกณฑ์ในการจัดสรรทุนวิจัยที่ตอบสนองปัญหาด้านสาธารณสุขและความต้องการของประเทศ สนับสนุนทุนวิจัยให้แก่หน่วยงานที่มีภารกิจทำวิจัย บริหารจัดการงานวิจัยและส่งเสริมเชื่อมโยงเครือข่ายเพื่อร่วมกันดำเนินการวิจัย ตลอดจนการติดตามประเมินผลการดำเนินงานของหน่วยงานที่ได้รับการจัดสรรทุนบางส่วนภายใต้แพลตฟอร์มที่ 2 การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ท้าทายของสังคม โปรแกรมที่ 9 เรื่องสังคมคุณภาพและความมั่นคง รวมถึงแพลตฟอร์มที่ 3 การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน โปรแกรมที่ 10 เรื่องยกระดับความสามารถการแข่งขันและวางรากฐานทางเศรษฐกิจ
ที่ผ่านมา สวรส. ได้ทำการชี้แจงการเปิดรับข้อเสนอโครงการเพื่อขอรับการจัดสรรงบประมาณประจำปี 2563-2564 ในโปรแกรมที่ 9 เฉพาะประเด็นระบบการแพทย์และสาธารณสุข และโปรแกรมที่ 10 ประเด็นการแพทย์จีโนมิกส์ โดยมีรายละเอียดของกรอบวิจัยในแต่ละโปรแกรม และการรับข้อเสนอโครงการผ่านระบบบริหารจัดการงานวิจัยแห่งชาติ รวมถึงได้ระบุเกณฑ์ในการพิจารณาข้อเสนอโครงการ โดย สวรส. จัดการพิจารณาโดยผู้มีส่วนได้เสียสำคัญ ผู้ใช้ประโยชน์จากงานวิจัยและผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อพัฒนาการวิจัยที่ตอบเป้าหมายและ OKR (Objective Key Result) ของแต่ละโปรแกรม เช่น คนทุกช่วงวัยมีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุขและมีคุณค่า, สามารถจัดการปัญหาท้าทายเร่งด่วนสำคัญทางสังคมของประเทศได้อย่างเหมาะสม ด้วยองค์ความรู้ที่เกิดจากการวิจัยและนวัตกรรม, การแก้ปัญหาภาระโรคที่เป็นปัญหา 1 ใน 3 ของประเทศ, นโยบายหรือมาตรการเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยและสังคมโลกที่ได้จากองค์ความรู้ที่สร้างขึ้น, ประชากรมีสุขภาพดีและพึ่งพาตัวเองได้ และลดอุบัติการณ์การเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCD)
งบประมาณปี 2563 สวรส. ได้ดำเนินการบริหารจัดการการวิจัยตามกรอบงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (ววน.) โปรแกรมที่ 9 ประเด็นระบบการแพทย์และสาธารณสุข รวม 12 โครงการ จำนวนประมาณกว่า 100 ล้านบาท เช่น การพัฒนาระบบบริการ ระบบยา ระบบเทคโนโลยีทางการแพทย์ และโปรแกรมที่ 10 ประเด็นการแพทย์จีโนมิกส์ รวม 31 โครงการ จำนวนประมาณกว่า 500 ล้านบาท เช่น การวิเคราะห์ข้อมูลพันธุกรรม การวิจัยเพื่อต่อยอดการใช้ข้อมูลพันธุกรรมเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ การพัฒนาระบบจัดเก็บ DNA และระบบบริการหาลำดับเบสจีโนม การผลิตบุคลากรด้านชีวสารสนเทศ แพทย์ด้านเวชพันธุศาสตร์ การสนับสนุนการศึกษาความเป็นไปได้เชิงธุรกิจ การจัดทำแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการใช้ประโยชน์การแพทย์จีโนมิกส์ ตลอดจนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน Genome Data Center รองรับการบริหารจัดการ จัดเก็บ ประมวลผล และรักษาความปลอดภัยข้อมูลพันธุกรรมประชากร เป็นต้น ส่วนปัญหาสถานการณ์การระบาดของไวรัส Covid-19 สวรส. ได้แบ่งบทบาทการสนับสนุนทุนวิจัยกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดย วช. จะสนับสนุนงบประมาณสำหรับวิจัยในประเด็นเร่งด่วนของเชื้อไวรัสโคโรนา เช่น การศึกษาและพัฒนาแบบจำลองทางคณิตศาสตร์เพื่อความเข้าใจการแพร่กระจายของเชื้อสำหรับการเตรียมรับมือการระบาดและการแพร่ระบาดของไวรัส ส่วน สวรส. จะสนับสนุนทุนวิจัยในการแก้ปัญหาเชิงระบบ
สำหรับกรอบการบริหารและจัดการทุนวิจัยและนวัตกรรมของ PMU สวรส. ในปี 2564 ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ ผู้จัดการงานวิจัยอาวุโส สวรส. ได้กล่าวในการประชุมการยกระดับคุณค่างานวิจัย โอกาสและความท้าทายภายใต้มุมมองของหน่วย PMU ในงานมหกรรมงานวิจัยส่วนภูมิภาค ปี 2563 ณ ม.ราชภัฎอุตรดิตถ์ เมื่อวันที่ 2 มี.ค. 2563 ที่ผ่านมาว่า สวรส. ได้กำหนดโจทย์วิจัยบนพื้นฐานที่สอดคล้องกับความต้องการของประเทศตามแผนยุทธศาสตร์ชาติระยะ 20 ปี และประเด็นปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข เช่น การสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพในระบบหลักประกันสุขภาพ โดยให้มีวัคซีนและการรักษาโรคติดต่อที่กำหนดไว้เพื่อความมั่นคงด้านสุขภาพกับทุกคนในประเทศ การพัฒนานโยบายหรือมาตรการเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยและสังคมโลก การวิเคราะห์กำลังคนด้านสุขภาพภายใต้บริบทที่มี AI โดยครอบคลุมบุคลากรวิชาชีพ/สาขาสนับสนุนที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงด้านเศรษฐกิจ สังคม และระบาดวิทยา การศึกษาและพัฒนาวัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือและเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ ที่ผลิตใช้เองในประเทศให้มีคุณภาพมาตรฐานเทียบเคียงกับผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าได้ ตลอดจนการแก้ปัญหาภาระโรคที่เป็นปัญหาประเทศ เช่น มะเร็ง เบาหวาน เพื่อลดอุบัติการณ์การเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เป็นต้น
“เชื่อว่าหน่วยที่ทำวิจัยในพื้นที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสถาบันอุดมศึกษา บุคลากรทางด้านสุขภาพ ฯลฯ มีศักยภาพและสามารถที่จะมาร่วมกันทำวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาของพื้นที่และประเทศได้ เช่น ในภาคเหนือยังมีโจทย์ท้าทายทางสุขภาพไม่ว่าจะเป็นเรื่องแนวทางการจัดการปัญหามลพิษ PM.2.5 ที่เกิดจากการเผาป่า แนวทางลดการใช้ยาฆ่าแมลง การลดอุบัติเหตุบนท้องถนน การตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร ซึ่งหากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายๆ ภาคส่วนมาร่วมคิดหาโจทย์ปัญหา วิธีการแก้ไข และเครื่องมือจัดการปัญหา ก็จะช่วยได้ผลลัพธ์ที่ช่วยคลายปมปัญหาได้” ผศ.ดร.จรวยพร กล่าว
ผศ.ดร.จรวยพร ได้กล่าวปิดท้ายว่า สำหรับปี 2564 สวรส. จะเปิดรับโครงการ Flagship เรื่องการแพทย์จีโนมิกส์ ตามโปรแกรมที่ 10 การวิจัยและสร้างนวัตกรรมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน เช่น กรอบวิจัยในการศึกษาด้านโรคมะเร็ง โรคหายาก โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ด้านเภสัชพันธุศาสตร์ โดยมีเป้าหมายให้ประชาชนมีสุขภาพดีด้วยเทคโนโลยีการแพทย์จีโนมิกส์ สามารถยืดอายุผู้ป่วยโรคมะเร็ง การป้องกันโรคติดเชื้อที่เป็นปัญหาสาธารณสุข การลดการแพ้ยารุนแรง รวมทั้งการส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมการแพทย์สมัยใหม่ เพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในอนาคต
ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมา สวรส. โดย ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ ได้ร่วมประชุมชี้แจงเพื่อทำความเข้าใจบทบาทใหม่และทิศทางสำคัญของ สวรส. ตลอดจนเกณฑ์การจัดสรรทุน การบริหารจัดการงานวิจัยสู่เป้าหมายประเทศให้แก่เครือข่ายนักวิจัย/นักวิชาการ ทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค ทั้งนี้ เพื่อเตรียมความพร้อมการขับเคลื่อนงานวิจัยและการเปลี่ยนแปลงสำคัญในครั้งนี้
HTML::image( HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit