ภัยแล้ง-โควิด ฉุดภาคเกษตร Q1 หดตัว 4.8% เกษตรฯ พร้อมมาตรการรองรับ มั่นใจ หลังการระบาดคลี่คลาย

23 Mar 2020

นายระพีภัทร์  จันทรศรีวงศ์  เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรช่วงไตรมาส 1 ปี 2563 (มกราคม - มีนาคม 2563) หดตัวร้อยละ 4.8 เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ของปี 2562 โดยสาขาพืช สาขาประมง สาขาบริการทางการเกษตร หดตัวลง ขณะที่สาขาปศุสัตว์และสาขาป่าไม้ยังคงขยายตัว สาเหตุหลักมาจากสถานการณ์ภัยแล้งที่รุนแรง ผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยเมื่อพิจารณาแต่ละสาขา พบว่า สาขาพืช หดตัวร้อยละ 7.3 เป็นผลจากผลผลิตข้าวนาปรัง อ้อยโรงงาน และมันสำปะหลัง ลดลง เนื่องจากสถานการณ์ภัยแล้งที่รุนแรง ทำให้ผลผลิตเสียหาย และมีปริมาณน้ำไม่เพียงพอสำหรับการเพาะปลูกและการเติบโตของพืช ส่งผลให้ผลผลิตต่อไร่ลดลง โดยผลผลิตพืชที่สำคัญของไตรมาส 1 ได้แก่ ข้าวนาปรัง มีเนื้อที่เพาะปลูกลดลงจากปีที่ผ่านมาร้อยละ 41.2 ผลผลิตลดลงร้อยละ 41.6 อ้อยโรงงาน ผลผลิตลดลงร้อยละ 12.7 และมันสำปะหลัง มีผลผลิตลดลงร้อย 5.4 นอกจากนี้ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ สับปะรดโรงงาน ปาล์มน้ำมัน และลำไย มีผลผลิตลดลงเช่นกัน เนื่องจากภาวะภัยแล้ง และฝนทิ้งช่วง ส่งผลให้ต้นพืชไม่สมบูรณ์ ผลผลิตน้อย และคุณภาพลดลง

ภัยแล้ง-โควิด ฉุดภาคเกษตร Q1 หดตัว 4.8%  เกษตรฯ พร้อมมาตรการรองรับ  มั่นใจ หลังการระบาดคลี่คลาย

สาขาปศุสัตว์ ขยายตัวร้อยละ 3.8 เป็นผลจากปริมาณความต้องการบริโภคทั้งในและต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น ทำให้เกษตรกรขยายการผลิต ประกอบกับประเทศไทยมีการเฝ้าระวัง ควบคุมโรคระบาดอย่างเข้มงวด ตลาดต่างประเทศ มีความเชื่อมั่น โดยเฉพาะผลผลิตไก่เนื้อที่ตลาดส่งออกหลัก เช่น ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป และจีน มีความต้องการนำเข้าเพิ่มขึ้น ผลผลิตสุกร มีความต้องการบริโภคในประเทศและการส่งออกเพิ่มขึ้น โดยราคาสุกรที่ปรับตัวสูงขึ้น จูงใจให้เกษตรกรขยายการผลิต ผลผลิตไข่ไก่เพิ่มขึ้น เนื่องจากเกษตรกรมีการจัดการฟาร์มที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่งผลดีต่อการออกไข่ของแม่ไก่ และน้ำนมดิบเพิ่มขึ้น เนื่องจากการบริหารจัดการฟาร์มที่ดี และมีการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต

สาขาประมง หดตัวร้อยละ 2.2 ประมงทะเล ปริมาณสัตว์น้ำที่นำขึ้นท่าเทียบเรือในภาคใต้ลดลง เนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวน ส่วนปริมาณกุ้งทะเล (เพาะเลี้ยง) ลดลง เนื่องจากสถานการณ์ภัยแล้ง และการเฝ้าระวังโรคระบาด ทำให้เกษตรกรปรับลดพื้นที่เลี้ยง ลดจำนวนลูกพันธุ์ และชะลอการลงลูกกุ้ง ทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง ส่วนประมงน้ำจืดมีผลผลิตลดลง โดยเฉพาะปลานิลและปลาดุก เนื่องจากภาวะภัยแล้งที่เกิดขึ้นในแหล่งผลิตสำคัญ ประกอบกับปริมาณน้ำในเขื่อนและแหล่งน้ำตามธรรมชาติไม่เพียงพอต่อการเลี้ยง ทำให้ผู้เลี้ยงปลาน้ำจืดทั้งในบ่อดินและในกระชังตามแหล่งน้ำธรรมชาติลดเนื้อที่เลี้ยงปลาลง มีการปล่อยลูกปลาในอัตราน้อยกว่าปกติ หรือชะลอการเลี้ยงออกไป ส่งผลให้ผลผลิตประมงน้ำจืดลดลง

สาขาบริการทางการเกษตร หดตัวร้อยละ 1.3 เนื่องจากไตรมาส 1 เป็นช่วงการจ้างบริการเครื่องจักรกลและอุปกรณ์ทางการเกษตรในการเก็บเกี่ยวข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง และอ้อยโรงงาน โดยมีพื้นที่เก็บเกี่ยวข้าว ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และมันสำปะหลังลดลง ถึงแม้อ้อยโรงงานจะมีการส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรใช้เครื่องจักรกลในการเก็บเกี่ยวอ้อยเพิ่มขึ้น เพื่อลดปัญหา PM 2.5 แต่ในภาพรวมสาขาบริการทางการเกษตรก็ยังคงหดตัว

สาขาป่าไม้ ขยายตัวร้อยละ 1.0 ไม้ยูคาลิปตัส เป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะประเทศจีน ในการนำไปใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตกระดาษและแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ด (Wood Pellet) ไม้ยางพารา ขยายตัวตามพื้นที่การตัดโค่นสวนยางพาราเก่า ประกอบกับตลาดต่างประเทศ เช่น จีน และญี่ปุ่น มีความต้องการไม้ยางพาราเพื่อนำไปผลิตเป็นเฟอร์นิเจอร์และเชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ด (Wood Pellet) ถ่านไม้ มีความต้องการจากประเทศญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นอย่างมาก เพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในการประกอบอาหาร

สำหรับภาวะเศรษฐกิจการเกษตรปี 2563 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 0.3 (อยู่ในช่วงร้อยละ (–0.2) – 0.8) โดยสาขาปศุสัตว์ สาขาประมง สาขาบริการทางการเกษตร และสาขาป่าไม้ ยังขยายตัวได้ มีการบริหารจัดการทั้งในด้านการผลิตและการตลาดที่ดี สำหรับสาขาพืชมีแนวโน้มจะปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง โดยคาดว่าจะสามารถทำการเพาะปลูกได้ตามฤถูกาลปกติ อย่างไรก็ตาม จากการหดตัวลงมากในช่วงไตรมาส 1 ทำให้สาขาพืชในภาพรวมยังมีแนวโน้มหดตัว เนื่องจากผลผลิตพืชสำคัญในปี 2563 มีแนวโน้มลดลง โดยเฉพาะข้าว อ้อยโรงงาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และสับปะรดโรงงาน ทั้งนี้ ปัจจัยบวกที่ส่งผลให้ภาคเกษตรขยายตัว คือ ความต้องการสินค้าเกษตรมีโอกาสเพิ่มมากขึ้น หลังจากสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ที่คาดว่าเมื่อสถานการณ์คลี่คลายจะทำให้มีความต้องการสินค้าอาหารเพิ่มมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากเริ่มมีคำสั่งซื้อข้าวไทยและสินค้าที่เป็นอาหารสำเร็จรูปเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอาหารพร้อมรับประทาน (Ready to Eat) เนื่องจากสะดวกในการบริโภคและสามารถเก็บรักษาได้นาน นอกจากนี้ ในส่วนของมันสำปะหลังก็มีความต้องการมันเส้นเพิ่มมากขึ้นเพื่อนำไปเป็นวัตถุดิบผลิตแอลกอฮอล์ 75% และใช้ผสมทำเจลล้างมือเพื่อฆ่าเชื้อโรค ทำให้แนวโน้มการส่งออกสินค้าเกษตรกลุ่มดังกล่าวมีแนวโน้มดีขึ้น รวมถึงถุงมือทางการแพทย์ ถุงมือยาง อาหารสุขภาพหรือผลิตภัณฑ์สมุนไพร เป็นต้น ขณะที่ยังมีปัจจัยลบจากสถานการณ์ COVID-19 เช่นกัน โดยอาจทำให้ภาวะการค้า การเดินทาง และการขนส่งกระจายสินค้า ได้รับผลกระทบในช่วงแรก และการที่ราคาน้ำมันลดลง จะส่งผลให้ราคายางพาราและราคาพืชพลังงานทดแทนไม่สามารถปรับสูงขึ้นได้มาก รวมทั้งอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทที่ผันผวน อาจทำให้ความสามารถในการแข่งขันทางการค้าลดลง และส่งผลต่อราคาสินค้าเกษตรในประเทศ

อย่างไรก็ตาม กระทรวงเกษตรฯ ได้มีมาตรการรองรับผลกระทบที่เกิดขึ้นเพื่อรองรับสถานการณ์ COVID-19 อาทิ การส่งเสริมและกระตุ้นการบริโภคผลไม้ภายในประเทศให้เพิ่มขึ้นภายใต้แนวคิด Eat Thai First การหาตลาดใหม่เพิ่มเติมจากเดิม และส่งเสริมการแปรรูปและการกระจายสินค้าเกษตรอย่างรวดเร็วผ่านระบบออนไลน์ นอกจากนี้ ได้เตรียมการรองรับแรงงานที่จะไหลกลับไปสู่ภาคเกษตร (Labor Migration) ภายใต้ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและศาสตร์พระราชา โดยมีโครงการสำคัญที่แรงงานไหลกลับเข้าสู่ภาคเกษตร สามารถเข้าไปเรียนรู้และปฏิบัติตาม ได้แก่

  1. โครงการศูนย์ภูฟ้าพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดน่าน
  2. โครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนครศรีธรรมราช
  3. โครงการเกษตรวิชญา จังหวัดเชียงใหม่
  4. โครงการศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดศรีสะเกษ
  5. โครงการพัฒนาพื้นที่หนองอึ่งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดยโสธร
  6. โครงการพัฒนาตามพระราชดำริ อื่น ๆ เช่น ศูนย์บริการและพัฒนาลุ่มน้ำปายตามแนวทางพระราชดำริ จังหวัดแม่ฮ่องสอน โครงการพัฒนาตามพระราชดำริ อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ โครงการพัฒนาพื้นที่ราบเชิงเขา ตามพระราชดำริ จังหวัดสระแก้ว และศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริต่าง ๆ ที่ตั้งอยู่ในทุกภูมิภาคของประเทศอีกด้วย



HTML::image( HTML::image(