บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ จับมือชุมชนรอบพื้นที่เขาพระยาเดินธง ต.พัฒนานิคม อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี ผลิตอาหารปลอดภัย จัดโครงการปลูกผักปลอดสารตามวิถีเกษตรธรรมชาติ และจัดตั้งธนาคารเมล็ดพันธุ์ เพื่อความมั่นคงทางอาหารของชุมชน ต่อยอดโครงการซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง หนุนเครือข่ายชุมชนร่วมปกป้องป่าอย่างยั่งยืน
กรมป่าไม้และซีพีเอฟ ร่วมมือเดินหน้าเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับประเทศไทย ผ่านการดำเนินโครงการ"ซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง" โดยตั้งแต่ปี2559-2563 สามารถอนุรักษ์และฟื้นฟูพื้นที่ป่าเขาพระยาเดินธง 5,971 ไร่ พร้อมทั้งได้สร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนรอบพื้นที่ป่า ทำโครงการปลูกผักพื้นบ้านปลอดสารเคมี และส่งเสริมชุมชนจัดตั้งธนาคารเมล็ดพันธุ์ผักตามวิถีภูมิปัญญาชุมชน โดยช่วง 2 ปีแรกของโครงการปลูกผักปลอดสาร (ปี 2562-2563) มีชาวบ้านจาก 8 หมู่บ้าน เข้าร่วมโครงการฯแล้ว 24 ราย ลดค่าใช้จ่ายที่ต้องซื้อผักจากตลาด และทำให้คนในชุมชนมีสุขภาพที่ดีขึ้นจากการบริโภคผักปลอดสาร 100 %
นายประทีป อ่อนสลุง ชาวบ้านตำบลโคกสลุง ในฐานะผู้ประสานงานหลักของโครงการฯ เล่าว่า โครงการปลูกผักปลอดสาร มีระยะเวลาดำเนินโครงการปี 2562-2566 โดยระยะแรก ช่วง 2 ปี (ปี 2562-2563) มีชาวบ้านรอบพื้นที่เขาพระยาเดินธง จาก 8 หมู่บ้าน เข้าร่วมโครงการฯรวม 24 ราย โครงการนี้ มีประโยชน์มากต่อชุมชน ทำให้คนในชุมชนที่อยากปลูกผักไว้บริโภคเองได้ลงมือทำ ส่วนคนที่ทำอยู่แล้วได้เรียนรู้หลักการปลูกพืชวิถีธรรมชาติในวิธีที่ถูกต้องตั้งแต่การเตรียมดิน การเตรียมแปลง การทำปุ๋ยอินทรีย์ไม่กลับกอง นอกจากนี้ ชาวบ้านที่เข้าร่วมโครงการฯ เรียนรู้ที่จะปลูกผักตามฤดูกาล มีการเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้เพื่อขยายพันธุ์ต่อไป เพราะเรามีการตั้งธนาคารเมล็ดพันธุ์ตามวิถีภูมิปัญญาชุมชน
"ชุมชนมองว่าความมั่นคงทางอาหาร ไม่ใช่แค่การปลูกพืชผักไว้เพื่อบริโภคเท่านั้น แต่ต้องมีการเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้เพื่อขยายพันธุ์ต่อไป เป็นความมั่นคงทางอาหารของชุมชน เพราะสุดท้ายแล้วชุมชนต้องยืนได้ด้วยตัวเอง หรือเมื่อเกิดวิกฤติเราก็จะมีอาหารที่ปลอดภัยไว้บริโภค" นายประทีปกล่าว
"ตุ๊กตา" หรือ นางชุติมา ขาวโชติ วัย 54 ปี ชาวบ้านหมู่บ้านห้วยบง หมู่ 3 ต.ห้วยบง อ.พัฒนานิคม จ. ลพบุรี เป็นอีกครอบครัวหนึ่งที่เข้าร่วมโครงการฯ เล่าว่า เธอใช้ชีวิตตามลำพังกับลูกสาวอายุ 26 ปี ซึ่งป่วยจากภาวะโพรงสมองคั่งน้ำตั้งแต่ยังอยู่ในครรภ์ พื้นที่บ้านของเธอเกือบ 2 ไร่ ทำแปลงปลูกผักไว้หลายชนิด ทั้งมะเขือพวง มะเขือกรอบ คะน้า กวางตุ้ง มะนาว กล้วย มะขามเทศ ถั่วฝักยาว บวบ ฟัก แฟง ฟักทอง มะม่วง ขนุน นอกจากจะนำผลผลิตมาบริโภคเองแล้ว ยังแบ่งปันให้กับคนในหมู่บ้าน และนำไปขายที่ตลาด มีรายได้จากการขายผักและผลผลิตที่เก็บไปขายประมาณสัปดาห์ละ 700 -1,500 บาทต่อสัปดาห์ เป็นรายได้เสริมซึ่งตุ๊กตาบอกว่ารายได้จากการขายผักและผลไม้ ช่วยค่าใช้จ่ายค่าน้ำ ค่าไฟได้ และยังพอมีเงินเหลือเพื่อช่วยกิจกรรมในชุมชน เช่น สมทบทุนสร้างบ้านสำหรับผู้ยากไร้ในหมู่บ้าน
ตุ๊กตา เล่าต่อว่า เธอเข้าร่วมโครงการปลูกผักปลอดสารของซีพีเอฟ โดยบริษัทฯสนับสนุนถังพลาสติกเก็บน้ำขนาด 1,000 ลิตร และอุปกรณ์ระบบน้ำหยดมาให้ ช่วยกักเก็บน้ำไว้ใช้ในการปลูกพืชสวนครัวซึ่งช่วยได้มากในช่วงหน้าแล้ง นอกจากนี้ ซีพีเอฟยังมาเข้ามารับซื้อผลผลิตถึงที่สวน หรือสามารถเก็บผลผลิตไปส่งที่โรงงานของซีพีเอฟ ตุ๊กตาบอกด้วยว่า ก่อนหน้าที่จะเข้าโครงการปลูกผักปลอดสาร เธอและสมาชิกคนอื่นๆ ได้ไปตรวจเลือดเพื่อตรวจเช็คสารเคมีตกค้างในเลือด พบว่าบางคนอยู่ในเกณฑ์ปลอดภัย บางคนอยู่ในเกณฑ์เสี่ยงมีสารเคมีตกค้าง และบางคนก็อยู่ในเกณฑ์ไม่ปลอดภัย แต่สำหรับเธอซึ่งบริโภคผักปลอดสารที่ปลูกเองมาโดยตลอด จึงไม่มีปัญหาเรื่องสารเคมีตกค้างในเลือด
นอกจากนี้ เกษตรกรในโครงการปลูกผักปลอดสาร เข้ารับพระราชทานเมล็ดพันธุ์และกิ่งพันธุ์ จากสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ของศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ มูลนิธิชัยพัฒนา โดยได้นำเมล็ดพันธุ์ผัก 10 ชนิด ประกอบด้วย ถั่วฝักยาวสีม่วงสิรินธร, ถั่วฝักยาวลายเสือจักรพันธุ์, ถั่วฝักยาว, แตงกวา, กระเจี๊ยบเขียว, มะเขือเจ้าพระยา, มะเขือยาว, ฟักทอง, บวบหอม มะเขือเทศ และกิ่งพันธุ์ไม้ผล ประกอบด้วย ไผ่กิมซุง, เพกา, มะม่วงน้ำดอกไม้มัน, มะม่วงแก้วขมิ้น, ฝรั่งสุ่ยมี่, ฝรั่งแตงโม, มะขามป้อม, มะตูมแขก และขนุนทวายปีเดียว นำไปปลูกและเก็บเมล็ดพันธุ์เข้าธนาคารเมล็ดพันธุ์ต่อไป
'ลุงพล" หรือ นายชุมพล สำราญสลุง ชาวบ้านโคกสลุง หมู่ 4 ต.โคกสลุง อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี อยู่ห่างจากเขาพระยาเดินธง 24 กิโลเมตร และเข้าร่วมโครงการปลูกผักปลอดสาร เล่าว่า พื้นที่เพาะปลูก 7 ไร่ ไว้ทำนา ทำสวน และปลูกผักสวนครัว มีทั้งคะน้า กวางตุ้ง ฟักทอง ผักกาดหอม พริก มะเขือ มะละกอ ผักกาดขาว ฯลฯ หลังจากที่เข้าร่วมโครงการกับทางซีพีเอฟ บริษัทฯได้นำถังพลาสติกเก็บน้ำและอุปกรณ์ทำระบบน้ำหยดมาให้ใช้กับแปลงเพาะปลูก ผมว่าโครงการนี้ช่วยส่งเสริมให้ชุมชนมีอาชีพและมีรายได้จากการปลูกผักตามวิถีธรรมชาติ และชุมชนยังมีธนาคารเมล็ดพันธุ์และกิ่งพันธุ์ เพื่อให้เกษตรกรมีเมล็ดพันธุ์ผักพื้นบ้านที่ปลอดสารไว้ขยายพันธุ์ต่อไป นอกจากโครงการปลูกผักปลอดสารและธนาคารเมล็ดพันธุ์แล้ว ซีพีเอฟร่วมมือกับชุมชนทำโครงการอนุบาลปลาและปล่อยลงแหล่งน้ำสาธารณะ เพื่อเป็นการสร้างแหล่งอาหารให้ชุมชนด้วย./
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit