จุฬาฯ เปิดพรมแดนใหม่ท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ไทย-อาเซียน สร้างเครือข่ายต่อยอดพัฒนาการท่องเที่ยวคุณภาพโดยชุมชน

06 Feb 2020
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดประชุมนานาชาติ "Creative Tourism and Development" จับมือนักวิชาการในไทยและต่างประเทศ ดึงผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ร่วมเปิดมุมมองเสริมความแข็งแกร่ง และแสวงหาแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างสร้างสรรค์ เชื่อมสัมพันธ์อย่างยั่งยืน เพื่อยกระดับและต่อยอดการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ในไทยและกลุ่มประเทศอาเซียน
จุฬาฯ เปิดพรมแดนใหม่ท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ไทย-อาเซียน สร้างเครือข่ายต่อยอดพัฒนาการท่องเที่ยวคุณภาพโดยชุมชน

ศาสตราจารย์ ดร.พิรงรอง รามสูต รองอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยสถาบันเอเชียศึกษา ภายใต้โครงการการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ กำหนดจัดงานประชุมวิชาการนานาชาติ "Creative Tourism and Development" ภายใต้แนวคิด Creativity & Connectivity & Sustainability in ASEAN ระหว่างวันที่ 6-7 กุมภาพันธ์ 2563 ณ ห้องประชุมชั้น 7 อาคารเฉลิมราชกุมารี 60 พรรษา เพื่อเป็นเวทีสำหรับการนำเสนอผลงานวิจัยด้านการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ที่มีความหลากหลายจากภาคีเครือข่ายทั้งภายในและต่างประเทศ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมรวม 220 คนในการประชุมวิชาการระดับนานาชาติครั้งนี้ จะมีการนำเสนอการพัฒนาแนวคิดใหม่ "การท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์" (creative tourism) ผ่านโครงการวิจัย มีการเสนอบทความวิชาการ กรณีศึกษาทั้งในและต่างประเทศ มีการจัดแสดงนิทรรศการที่เป็นผลผลิตขั้นต้นของโครงการวิจัย และมีเวทีเพื่อเป็นพื้นที่สำหรับชุมชนท้องถิ่นในการแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และผลกระทบต่อชีวิตและสิ่งแวดล้อมในชุมชน รวมถึงสร้างภาคีเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญระดับประเทศและนานาชาติที่ทำงานพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับและต่อยอดการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ของประเทศ"กิจกรรมที่เป็นไฮไลท์ในงานคือ Keynote speaker ซึ่งโครงการได้รับเกี่ยรติจากกับ Professor Greg Richards, the Pioneer of World Creative Tourism Idea! ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญและผู้บุกเบิกแนวคิดด้านการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์คนแรกของโลก ที่จะมาให้ความรู้ในหัวข้อ "Creating Creative Tourism and the Big Dream of Creative Placemaking" ในมุมมองเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ รวมถึงปัจจัยแวดล้อมที่เอื้อต่อการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์เพื่อนำมาพัฒนาต่อยอดด้านการท่องเที่ยว ได้แก่ การส่งเสริมการวิจัย พัฒนา และการออกแบบ การสร้างนวัตกรรม การสร้างเครือข่ายวิสาหกิจการท่องเที่ยว การสื่อสารและการคมนาคม การพัฒนาระบบฐานข้อมูล การส่งเสริมการตลาด และการสร้างเรื่องราวเพื่อบอกเล่านักท่องเที่ยว เป็นต้น"นอกจากนี้ ตลอดการประชุมทั้งสองวัน ยังจัดให้มีการเสวนากลุ่มย่อยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ประสบการณ์การพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ในมุมมองด้านวิชาการและการมีส่วนร่วมของชุมชน ถอดบทเรียนการบริหารจัดการด้านการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์โดยชุมชน ตลอดจนแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร การแบ่งปันความรู้ และนวัตกรรมด้านการท่องเที่ยวที่จะเข้ามามีบทบาทต่อชุมชน จากคณาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์

จากหน่วยงานรัฐบาลและภาคเอกชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ อาทิ องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) - อพท. การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และตัวแทนโครงการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์จากชุมชนท้องถิ่นต่าง ๆ เข้าร่วม

ภายในงาน ยังจัดให้มีกิจกรรมเวิร์คชอปโดยชุมชน เพื่อให้ผู้เข้าร่วมงานได้สัมผัสประสบการณ์และผลิตภัณฑ์จากภูมิปัญญาท้องถิ่น ศิลปวัฒนธรรมที่มีเสน่ห์และมีอัตลักษณ์ เช่น โคมมะเต้า ตุงค่าคิง จักสานความสุข เขียนตั๋วเมือง ผ้าลายตาโก้ง ผลิตภัณฑ์สุขภาพ ข้าว อาหารทะเล เป็นต้น รวมถึงชมนิทรรศการภาพถ่ายและงานหัตถกรรม ภาพยนตร์ และการแสดงของชุมชนจากฝั่งทะเลอันดามัน และจังหวัดน่าน

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ริเริ่ม "โครงการการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์" ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2562 และจะสิ้นสุดโครงการในเดือนมกราคม 2565 โดยคณาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญ 90 คน และนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาจาก 11 คณะและสถาบันในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและนักวิจัยชาวต่างประเทศ ได้ร่วมกันจัดทำโครงการวิจัยภายใต้การบูรณาการศาสตร์ความรู้แขนงต่าง ๆ สร้างมิติเชื่อมโยงวิถีชีวิตชุมชนกับการท่องเที่ยว ยกระดับคุณภาพด้านการท่องเที่ยวโดยชุมชน ภายใต้ทรัพยากรทางการท่องเที่ยว ทุนทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ผนวกเข้ากับนวัตกรรมที่เชื่อมโยงองค์ความรู้จากงานวิจัย สู่การพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ สอดคล้องกับนโยบายภาครัฐ ที่มุ่งเน้นให้มีการพัฒนาการท่องเที่ยวให้เกิดความยั่งยืนเพื่อเพิ่มรายได้และกระจายรายได้สู่ชุมชนท้องถิ่น

ประกอบด้วย โครงการชุดที่ 1 "การพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ : จังหวัดน่าน" คณะวิจัยทำงานเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการพัฒนาเส้นทางการขนส่งและผลิตภัณฑ์ทางธรรมชาติ สุขภาพ วัฒนธรรม การเกษตร การประชาสัมพันธ์ ภูมิศาสตร์ และการจัดการการท่องเที่ยวในกรณีที่นักท่องเที่ยวชาวจีนเพิ่มขึ้น ขณะที่โครงการชุดที่ 2 "การพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์เพื่อสังคมพหุวัฒนธรรม : ภูมิภาคอันดามัน"จะเป็นการศึกษาวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ของชาวเล คนไทยพลัดถิ่นในเมียนมา กลุ่มชาติพันธุ์ใน Myeik (เมืองมะริด) ระบบโลจิสติกส์เพื่อการท่องเที่ยวในภูมิภาคอันดามันไทย - เมียนมา และการสื่อสารระหว่างชุมชนกับนักท่องเที่ยว

ผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นจากโครงการทั้งหมด มีดังนี้: (1) เส้นทางการท่องเที่ยวที่แนะนำเกี่ยวกับธรรมชาติ วัฒนธรรม สุขภาพ สิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิต และภูมิปัญญาท้องถิ่น (2) ปรับปรุงการสื่อสารและความเข้าใจระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียภายในและภายนอกท้องถิ่นเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ และ (3) โปรแกรมการฝึกอบรมที่มีคุณภาพสูงในการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์

"การประชุมนานาชาติครั้งนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งของโครงการฯ เป้าหมายหลักคือ ต้องการที่จะขับเคลื่อนการพัฒนาชุมชนผ่านกระบวนการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ และมีประสบการณ์ร่วมกับชุมชน เพื่อค้นหาแนวทาง ประสบการณ์ใหม่ ๆ จากนักวิชาการและการพบปะพูดคุยกับชุมชนในพื้นที่เป้าหมายรวมถึงผลงานวิจัยที่นำเสนอในที่ประชุมในหัวข้อที่เป็นกรณีศึกษาที่เกี่ยวข้องโดยผู้เชี่ยวชาญทั้งภายในและภายนอกระดับนานาชาติ จะมีการจัดทำเป็น E-Proceedings เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ให้กับพื้นที่อื่นในประเทศไทย หรือเป็นองค์ความรู้ที่จะถ่ายทอดสู่สาธารณะแก่ผู้ที่สนใจ"

HTML::image( HTML::image(