รายงานดังกล่าว World Bank ได้เน้นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเพิ่มผลิตภาพสู่ความรุ่งเรืองภายใต้บริบทเศรษฐกิจไทยในช่วงเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นประเทศที่มีรายได้สูง ซึ่งหากประเทศไทยต้องการบรรลุเป้าหมายที่จะเปลี่ยนผ่านไปสู่ประเทศที่มีรายได้สูงภายในปี 2580 ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ประเทศไทยจะต้องมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ สูงกว่าร้อยละ 5 อย่างต่อเนื่องจนถึงปี 2568 โดยจะต้องมีการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่สำคัญอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการเกษตร ซึ่งมีการจ้างแรงงานในสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 30 ของกำลังแรงงานทั้งหมดในประเทศไทย และนับว่ามีสัดส่วนสูงมากเมื่อเทียบกับประเทศอื่นที่มีโครงสร้างเศรษฐกิจและระดับรายได้ต่อหัวแบบเดียวกัน อาทิ มาเลเซีย ซึ่งมีสัดส่วนแรงงานในภาคเกษตรเพียง ร้อยละ 11 นอกจากนี้ แรงงานในภาคเกษตรไทยยังมีผลิตภาพไม่สูงนัก จึงส่งผลให้การเปลี่ยนผ่านโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ยังไม่สมบูรณ์ ดังนั้น การเพิ่มผลิตภาพของแรงงานและการลงทุนในภาคการเกษตร ควบคู่กับการดำเนินมาตรการที่มีประสิทธิภาพ อาทิ การเพิ่มประสิทธิภาพและความยั่งยืนของการลงทุนด้านชลประทาน การเพิ่มงบประมาณเพื่อการวิจัยและโครงการส่งเสริมเกษตรกรรม จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายทางเศรษฐกิจดังกล่าว
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีการดำเนินการที่สอดคล้องกับข้อเสนอเชิงนโยบายของ World Bank ในการปฏิรูปโครงสร้างเพื่อเพิ่มผลิตภาพในภาคเกษตรกรรมของไทย ไม่ว่าจะเป็นด้านการเพิ่มขีดความสามารถในการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลแก่เกษตรกรเพื่อยกระดับเกษตรกรสู่Smart Farmer การดำเนินโครงการศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) การลงทุนเพิ่มพื้นที่ชลประทาน การวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์พืชและสัตว์ให้ทนต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม โดยโครงการที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ดำเนินการอยู่นั้น จะช่วยเพิ่มผลผลิตและยกระดับผลิตภาพในภาคเกษตรกรรมของไทยให้ดีขึ้น และจะช่วยสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนผ่านโครงสร้างเศรษฐกิจของไทยเพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายการเป็นประเทศที่มีรายได้สูงภายในปี 2580 เลขาธิการ สศก. กล่าวในที่สุด