ภายในงาน "Afternoon Tea Talk: ดึงเสน่ห์จิวเวลรี่ไทย สู่เป้าหมาย World's Jewelry Hub" นายสมเด็จ สุสมบูรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า อัญมณีและเครื่องประดับไทยเป็นอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพสูงและครบวงจร ครอบคลุมการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ปัจจุบัน ไทยเป็นผู้ส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับระดับท็อป 10 ของโลก โดยในปี 2561 มีสินค้าส่งออกสำคัญ 3 กลุ่มที่มีส่วนแบ่งในตลาดโลกในระดับสูง ได้แก่ เครื่องประดับเงิน ที่ไทยเป็นผู้ส่งออกอันดับ 1 ของโลก ครองส่วนแบ่งการตลาด 23.8% ของตลาดโลก พลอย อันดับ 3 ของโลก มีส่วนแบ่งการตลาด 11.9% และเครื่องประดับเทียม อันดับ 6 ของโลก ส่วนแบ่งการตลาด 5.9%
"อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทยมีศักยภาพก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางอัญมณีและเครื่องประดับโลกได้ ด้วยจุดเด่นหลายด้าน ได้แก่ ศักยภาพด้านการผลิต ซึ่งช่างฝีมือไทยมีความชำนาญและความประณีตในการสร้างสรรค์ผลงานเป็นที่ยอมรับในตลาดโลก ขณะที่ผู้ประกอบการไทยมีความเชี่ยวชาญด้านการค้าและปรับตัวได้ไว ทั้งการแสวงหาวัตถุดิบ การออกแบบ การผลิต และการตลาด รวมถึงการเอาใจใส่ต่อลูกค้า นอกจากนี้ ไทยยังมีทำเลที่ตั้งและเครือข่ายคมนาคมขนส่งที่สะดวกต่อการติดต่อกับภูมิภาคอื่นๆ ทั่วโลก รวมถึง มีหน่วยงานเฉพาะทางด้านอัญมณีและเครื่องประดับอย่าง GIT ที่ช่วยพัฒนาบุคลากรและกำหนดมาตรฐานสินค้ากลุ่มนี้ และงาน Bangkok Gems and Jewelry Fair ซึ่งเป็นเวทีการค้าสำคัญที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ " นายสมเด็จ กล่าว
ทั้งนี้ ในส่วนของการส่งเสริมตลาด กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ พร้อมส่งเสริมการค้าทั้งออฟไลน์และออนไลน์ มอบหมายทูตพาณิชย์ช่วยผู้ประกอบการไทยแสวงหาโอกาสการค้าในตลาด ที่มีศักยภาพเติบโต จับมือกับภาคเอกชนด้านตลาดออนไลน์ เพิ่มช่องทางวางจำหน่ายสินค้าในแพลทฟอร์มการค้าออนไลน์สำคัญทั่วโลก รวมทั้งร่วมมือกับภาคเอกชน สมาคมการค้าของไทยและต่างประเทศเพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์อุตสาหกรรมนี้ ด้วยแคมเปญ Thailand's Magic Hands: The Spirit of Jewelry Making
ด้านนายปรีดา เตียสุวรรณ์ ประธานกรรมการ บริษัท แพรนด้า จิวเวลรี่ จำกัด (มหาชน) และกรรมการ CIBJO, The World Jewellery Confederation กล่าวว่าจุดแข็งของประเทศไทย คือ หัตถศิลป์ (Craftsmanship) ฝีมือของช่างไทยที่จะต้องส่งเสริมให้สร้างสรรค์งานหัตถศิลป์ชั้นสูง เพื่อผลิตชิ้นงานที่มีคุณภาพดีเยี่ยมและมีราคาสูงขึ้น
"การสร้างสรรค์งานหัตถศิลป์เกิดจากช่างฝีมือที่มีความสุข อารมณ์ จิตใจสุนทรี ทำให้ผลิตชิ้นงานที่มีความงดงามประณีตได้ การจะมีความสุขแบบนั้นได้ ช่างฝีมือก็ต้องมีสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดี ซึ่งสิ่งเหล่านี้สอดคล้องกับแนวคิดการทำธุรกิจในปัจจุบัน ที่ต้องให้ความสำคัญกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและการดูแลสิทธิมนุษยชน เพราะเป็นสิ่งที่ผู้บริโภครุ่นใหม่สนใจมาก"
นายปรีดากล่าวต่ออีกว่า การมีงานแสดงสินค้าด้านอัญมณีและเครื่องประดับในประเทศไทยเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะเปิดโอกาสให้คนในวงการธุรกิจสร้างเครือข่ายพันธมิตรทางการค้าแบบครบวงจรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนการเป็น World's Jewelry Hub ของประเทศไทย เพราะไทยเป็นประเทศเดียว ที่ถือว่ามีสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับครบทุกประเภท เช่น พลอยก้อน พลอยเจียระไน และมีช่างฝีมือ ที่พร้อมสร้างสรรค์ชิ้นงานจนเสร็จสมบูรณ์
ทั้งนี้ งาน Bangkok Gems & Jewelry Fair ครั้งที่ 65 กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 25-29 กุมภาพันธ์ 2563 ณ ชาเลนเจอร์ฮอลล์ 1-3 อิมแพ็ค เมืองทองธานี เพื่อตอกย้ำศักยภาพและความแข็งแกร่งของอุตสาหกรรม อัญมณีและเครื่องประดับไทย เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการได้พบปะเจรจาธุรกิจกับคู่ค้าจากนานาประเทศ ภายในงาน มีกิจกรรมอื่นๆ ที่น่าสนใจ อาทิ เช่น นิทรรศการ Siam Silver Showcase นำเสนอสินค้าเครื่องประดับเงินไทยที่โดดเด่นจากอดีตถึงปัจจุบัน กิจกรรมสร้างเครือข่ายการค้า (Networking) รวมถึงคลินิกให้คำปรึกษาด้านการค้าโดยทูตพาณิชย์ การสัมมนาเพื่อให้ความรู้และพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการไทย เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมการประมูลพลอยสี ดำเนินการโดยบริษัท Bonas โบรกเกอร์เพชร จากลอนดอนที่มีประสบการณ์จัดประมูลออนไลน์กว่า 10 ปี จัดคู่ขนานภายในงานบางกอกเจมส์ด้วย พร้อมกันนี้ ทางผู้จัดงานมีแผนดำเนินมาตรการขั้นสูงสุดเพื่อเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้เข้าร่วมงานทุกฝ่าย
HTML::image(ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit