ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) กล่าวว่า NIA ให้ความสำคัญกับการสนับสนุนผู้ประกอบการทั้งเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพในการนำนวัตกรรมมาต่อยอดและพัฒนาธุรกิจมาอย่างต่อเนื่อง เพราะกลุ่มธุรกิจดังกล่าวถือเป็นฟันเฟืองหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้ก้าวสู่ "เศรษฐกิจ 4.0" ตามนโยบายของรัฐบาล และเป็นส่วนสำคัญในการสร้างมูลค่าเพิ่มของ GDP การจ้างงาน รวมทั้งภาพลักษณ์ที่ดีต่อความน่าลงทุนให้ทัดเทียมกับนานาชาติได้ แต่อย่างไรก็ตามในปัจจุบันพบว่ายังมีเอสเอ็มอีจำนวนไม่น้อยที่ยังขาดการเข้าถึงนวัตกรรม และยังไม่สามารถนำองค์ความรู้ งานวิจัย รวมถึงกระบวนการที่แตกต่างมาสร้างคุณค่าและมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจได้ ดังนั้น ประเด็นดังกล่าวจึงเป็นความท้าทายที่หน่วยงานภาครัฐและเอกชนต้องหันมาให้ความใส่ใจอย่างจริงจัง เพื่อสร้างโอกาสให้การทำธุรกิจเหล่านี้มีการเติบโตและแข่งขันได้มากขึ้นในอนาคต
ดร.พันธุ์อาจ กล่าวต่อว่า เพื่อให้แนวคิดดังกล่าวเกิดขึ้นได้จริง และมีการนำไปใช้ในทางปฏิบัติมากขึ้น NIA จึงได้ริเริ่มโปรแกรมพัฒนาศักยภาพด้านนวัตกรรมองค์กร หรือ Innovative Organization Program : IOP เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ เกิดความรู้และเข้าใจในการบริหารจัดการนวัตกรรมภายในองค์กร และทราบสถานะระดับความสามารถทางนวัตกรรมของตนเอง เพื่อให้สามารถกำหนดแผนงานด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่นำไปสู่การยกระดับส่วนงานต่างๆ ในธุรกิจได้มากขึ้น ทั้งนี้ โปรแกรม IOP มีการให้บริการเพื่อยกระดับความสามารถทางนวัตกรรมกับองค์กรใน 3 ระดับคือ การประเมินศักยภาพนวัตกรรมขององค์กรด้วยตนเองผ่านระบบออนไลน์ (Online Self Evaluation) การเข้าประเมินโดยผู้เชี่ยวชาญเพื่อระบุโอกาสในการพัฒนาศักยภาพ (On-site Assessment) และการให้คำปรึกษาด้านการพัฒนานวัตกรรมองค์กร (Development Program)
"ที่ผ่านมาการวัดขีดความสามารถทางการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยพบว่า จุดอ่อนที่สำคัญคือการเข้าถึงนวัตกรรม จึงทำให้การแข่งขันของธุรกิจและอุตสาหกรรมยังปรับตัวได้ไม่เต็มที่ NIA จึงมุ่งหวังให้ผู้ประกอบการตระหนักว่าพฤติกรรมของผู้บริโภคและผู้ปฏิบัติงานในองค์กรได้เปลี่ยนแปลงไปจากอดีต ซึ่งในยุคปัจจุบันที่เรียกกันว่ายุคดิจิทัลนั้น ผู้คนมีแนวคิดและกรอบการดำเนินชีวิตที่มีความเป็นปัจเจก มักแสวงหาแนวทางใหม่อยู่เสมอ ดังนั้น "นวัตกรรม" จึงเป็นคำตอบสำคัญที่จะช่วยให้องค์กรสามารถรับมือกับความท้าทายที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ ยังมุ่งหวังให้ทุกองค์กรเลิกมองว่านวัตกรรมเป็นเรื่องยาก เป็นเรื่องของคนเก่ง หรือเป็นหน้าที่ของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เนื่องจากทุกคนสามารถพัฒนาและออกแบบเพื่อปรับใช้ตามแนวทางที่เหมาะสมได้อย่างเท่าเทียมกัน"
นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในโลกของการเปลี่ยนแปลง การแข่งขันที่ไร้พรหมแดน ยุคแห่ง Disruption การยกระดับและพัฒนาศักยภาพของตนเองให้เข้มแข็ง สร้างความแตกต่างหรือความโดดเด่นต่อธุรกิจ การนำนวัตกรรมเข้ามาใช้ในองค์จึงมีความจำเป็นอย่างมาก ดังนั้น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จึงได้มอบหมายให้สถาบันวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอุตสาหกรรมการผลิต (SMI) ทำหน้าที่ให้บริการด้านต่างๆ แก่สมาชิกที่เป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้มากขึ้น เพื่อยกระดับศักยภาพสมาชิกให้สามารถแข่งในตลาดโลกได้นั้น จึงเป็นที่มาของความร่วมมือระหว่าง NIA และ SMI ในโปรแกรมพัฒนาศักยภาพด้านนวัตกรรมองค์กรนี้ โดยมีเป้าหมายในการส่งเสริมและสร้างความรู้ ความเข้าใจ และขีดความสามารถด้านนวัตกรรมผ่านการวิเคราะห์จุดแข็งและจุดอ่อนขององค์กร ซึ่งจะช่วยให้มองเห็นโอกาสในการพัฒนาองค์กรไปในทิศทางที่ต้องการอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพด้วยนวัตกรรม"
นายปรีชา ส่งวัฒนา ประธานคณะกรรมการ SMI กล่าวว่า "สถาบัน SMI ได้ร่วมมือกับ NIA ในการพัฒนาและปรับปรุงระบบการประเมิน IOP ที่ NIA มีระบบอยู่แล้ว ซึ่งแต่ก่อนนี้ใช้กับผู้ประกอบการทั่วๆ ไป โดยเฉพาะรายใหญ่ที่จะเข้าสู่ตลาด MAI แต่ครั้งนี้ได้ร่วมมือกันในการพัฒนา IOP สู่ระบบ Online และปรับเนื้อหาให้ตรงกับSMEs มากขึ้น โดยเฉพาะ 8 มิติที่สำคัญ ได้แก่ 1.มิติด้านยุทธศาสตร์นวัตกรรม เป็นการวางยุทธศาสตร์และแผนงานด้านนวัตกรรมในระยะยาวสำหรับองค์กร 2.มิติด้านการมุ่งเน้นธุรกิจ เป็นการวางเป้าหมายการเติบโตด้านนวัตกรรมให้สอดคล้องกับบริบททางธุรกิจ 3.มิติด้านกระบวนการ เป็นการวางโครงสร้างกระบวนการด้านนวัตกรรมขององค์กรอย่างมีประสิทธิภาพ 4.มิติด้านผลิตผล เป็นการวางแนวทางการติดตามและประเมินผลลัพธ์ด้านนวัตกรรมขององค์กร 5. มิติด้านบุคลากร เป็นการยกระดับความสามารถด้านนวัตกรรมของบุคลากรผู้ปฏิบัติงาน 6.มิติด้านองค์ความรู้ เป็นการบริหารจัดการองค์ความรู้ที่สำคัญสำหรับการพัฒนานวัตกรรมทั้งจากภายในและภายนอก 7.มิติด้านวัฒนธรรม เป็นการสร้างวัฒนธรรมด้านนวัตกรรมเพื่อส่งเสริมการคิดและพัฒนาสิ่งใหม่ และ 8.มิติด้านทรัพยากร เป็นการออกแบบการจัดสรรทรัพยากรอย่างเหมาะสมเพื่อกิจกรรมนวัตกรรม"
นอกจากนี้ ยังมีการพัฒนาผู้ประเมิน (Innovation Assessor) จำนวน 23 ราย เพื่อให้คำแนะนำการพัฒนาด้านนวัตกรรมให้แก่ SMEs โดยเฉพาะ ซึ่งในปีที่ผ่านมามีผู้ประกอบการสมัครเข้าร่วมทดลองนำร่องกับเราเป็นจำนวน 20 กิจการ และมี 5 กิจการ ที่ได้นำผลการประเมินไปต่อยอดและพัฒนาองค์กรอย่างเป็นรูปธรรม และภายหลังการเปิดตัวโปรแกรม IOP ทางสถาบัน SMI จะให้บริการแก่สมาชิกสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยผู้ที่สนใจรายละเอียด สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) โทรศัพท์ 02-017-5555 เว็บไซต์ www.nia.or.th และสถาบันวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมอุตสาหกรรมการผลิต โทรศัพท์023451188 เว็บไซต์ www.smi.or.th
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit