สถาบันฯสิ่งทอปักธงอุตสาหกรรมสิ่งทอเพื่อการแพทย์ดาวรุ่งพุ่งแรง เตรียมดันผู้ประกอบการพัฒนาผลิตภัณฑ์รองรับความต้องการของผู้บริโภคและรองรับ New S-curve

07 Feb 2020
สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ ชี้อุตสาหกรรมสิ่งทอเพื่อการแพทย์ โอกาสเติบโตสูง เหตุนำเข้าเพิ่มขึ้น พร้อมดึงงบกองทุนสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ หนุนสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงสถานพยาบาล ผู้ประกอบการกลุ่มสิ่งทอ พัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อการแพทย์และสุขอนามัย พร้อมย้ำไทยมีศักยภาพสูงในการผลิต หวังปั้นไทยเป็นผู้ผลิตและส่งออกเบอร์หนึ่งในภูมิภาคอาเซียน
สถาบันฯสิ่งทอปักธงอุตสาหกรรมสิ่งทอเพื่อการแพทย์ดาวรุ่งพุ่งแรง เตรียมดันผู้ประกอบการพัฒนาผลิตภัณฑ์รองรับความต้องการของผู้บริโภคและรองรับ New S-curve

ดร.ชาญชัย สิริเกษมเลิศ ผู้อำนวยการ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ เปิดเผยว่า สถานการณ์ภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทยในปี 2562 (มกราคม - พฤศจิกายน 2562) พบว่า การส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม มีมูลค่า 6,909.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 3.3 แบ่งเป็น (1) การส่งออกกลุ่มสิ่งทอ มีมูลค่า 4,343.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 7.0 และ (2) การส่งออกกลุ่มเครื่องนุ่งห่ม มีมูลค่า 2,566.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7 ขณะที่ภาพรวมการนำเข้า ในปี 2562 ของอุตสาหกรรมดังกล่าว มีมูลค่า 5,312.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 1.0 แบ่งเป็น (1) การนำเข้า (สะสม) กลุ่มสิ่งทอ มีมูลค่า 3,511.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 3.8 และ (2) การนำเข้า (สะสม) กลุ่มเครื่องนุ่งห่ม มีมูลค่า 1,801.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.9 และส่งผลให้ภาพรวมดุลการค้าเกินดุล คิดเป็นมูลค่า 1,597.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

จากภาพรวมการส่งออกของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในปี 2562 ที่ปรับตัวลดลงร้อยละ 3.3 ในทางกลับกันพบว่า สิ่งทอทางการแพทย์ หรือ Meditech ถือเป็นสินค้าที่มีศักยภาพและมีทิศทางการเติบโตทางการตลาดค่อนข้างสูง เมื่อพิจารณาจากภาพรวมทางการค้าตั้งแต่ปี พ.ศ.2559 - 2562 จะพบว่า มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นทุกปี โดยเฉพาะสินค้าในกลุ่มผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ (Hygiene Product) รวมทั้งผลิตภัณฑ์เชิงป้องกันที่ต้องใช้งานทุก ๆ วัน มีปริมาณและมูลค่าการส่งออกอยู่ในอันดับที่ 1 จากทุกรายการสินค้าในกลุ่ม Meditech โดยในปี 2562 พบว่า มีปริมาณการส่งออก 64,930.03 ตัน และมีมูลค่าการส่งออก 279.26 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขณะที่ปริมาณการนำเข้าอยู่ที่ 13,724.45 ต้น หรือที่มูลค่า 48.53 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเฉพาะด้านปริมาณการนำเข้าขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.3 ซึ่งเป็นผลจากปริมาณความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขอนามัยภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น

ดร.ชาญชัย ฯ กล่าวต่อว่า สำหรับปัจจัยหลักๆ ที่สนับสนุนให้เกิดการนำเข้าสิ่งทอทางการแพทย์เพิ่มขึ้น มาจากการเปลี่ยนแปลงด้านโครงสร้างประชากร ทั้งจากอัตรการเกิด และช่วงอายุประชากรที่ยาวขึ้น บวกกับสถานการณ์โรคภัยต่าง ๆ พฤติกรรมการใช้ชีวิต ซึ่งส่งผลกระทบต่อสุขภาพ การหันมาใส่ใจดูแลรักษาสุขภาพมากขึ้น โดยมีแนวโน้มการนำเข้าที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นในทุก ๆ ปี สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ จึงได้เร่งประสานงานเพื่อเชื่อมโยง ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมสิ่งทอ สถานพยาบาล หน่วยงานภาครัฐ และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อระดมข้อมูลความต้องการใช้ วัสดุ หรือผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ให้ไปในทิศทางเดียวกัน สำหรับสิ่งทอที่ใช้ทางการแพทย์ มีทั้งสิ่งทอที่ใช้ในสถานพยาบาล อาทิ เอ็นเย็บแผล ผ้ากอช ผ้าพันแผล เสื้อคลุมและหน้ากากสำหรับใช้ในห้องผ่าตัด ผ้าที่ใช้ประคบแผล ผ้าที่เชื่อมกระดูก เป็นต้น และผลิตภัณฑ์สิ่งทอที่หาซื้อได้ตามร้านขายยาและเวชภัณฑ์ต่าง ๆ อาทิ หน้ากากกันฝุ่นรุ่นต่าง ๆ ถุงน่องกระชับรักษาเส้นเลือดขอด เสื้อผ้ากระชับกล้ามเนื้อ นอกจากนี้ สินค้าที่มีส่วนผสมของสิ่งทอที่หาซื้อได้ง่ายและสามารถใช้ในการแพทย์ได้และมีความต้องการใช้ทุกวัน อาทิ ผ้าอ้อมสำเร็จรูป ทิชชู่เปียก ผ้าหรับเด็กอ่อน เป็นต้น โดยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเพื่อตอบสนองความต้องการใช้ในวงการแพทย์ ในการดำเนินชีวิต รวมทั้งปรับเปลี่ยน (Transform) นวัตกรรม รองรับการเติบโต New S-Curve นับเป็นความท้าทาย ที่ทุกภาคส่วนต้องเชื่อมโยงและร่วมมือกัน

สำหรับในการจัดกิจกรรมสัมมนาเรื่อง สิ่งทอสถานพยาบาล " พัฒนาศักยภาพธุรกิจสิ่งทอสถานพยาบาล เพื่อรองรับตลาดยุค 4.0 " ในวันนี้ เป็นกิจกรรมหนึ่งภายใต้โครงการ งบกองทุนสถาบันพัฒนาอุตสหากรรมสิ่งทอ ซึ่งจัดตั้งโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนการดำเนินงานอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มแฟชั่นไลฟ์สไตล์ในทุกมิติให้สามารถแข่งขันได้ โดยในปี 2563 นี้ สถาบันฯ ตั้งเป้าพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอเพื่อการแพทย์เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมดาวรุ่ง พร้อมดันผู้ประกอบการสิ่งทอไทยให้สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์มุ่งสู่ความเป็นผู้นำด้านการผลิตและส่งออกสิ่งทอเพื่อการแพทย์ในภูมิภาคอาเซียนได้

หากผู้ประกอบการท่านใดสนใจเข้าร่วมเชื่อมโยงเครือข่าย และสนใจข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอ โทร. 0 2713 5492 – 9 ต่อ 512,712 และ www.thaitextile.org

HTML::image( HTML::image( HTML::image(