นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ตามที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ได้ดำเนินนโยบายในโครงการประชารัฐสร้างไทย พัฒนาปักษ์ใต้ ขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน โดยมีข้อสั่งการให้กระทรวงอุตสาหกรรม ภายใต้การนำของ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เร่งรัดกลไกการพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม พร้อมมอบหมายให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) เร่งดำเนินการส่งเสริมและพัฒนาผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ใน 3 ด้าน คือ สร้างนักธุรกิจเกษตร 100,000 ราย สร้างระบบนิเวศเครื่องจักรกลการเกษตรและเครื่องจักรแปรรูปทางการเกษตร และจัดตั้งกองส่งเสริมเกษตรอุตสาหกรรมให้เป็นรูปธรรมภายใน 3 เดือน
ล่าสุด ได้มอบหมายนายเจตนิพิฐ รอดภัย รองอธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ลงพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช ตรัง และพัทลุง เพื่อรับฟังปัญหาจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ พร้อมแนะแนวทางเพื่อส่งเสริมให้เกิดอุตสาหกรรมแปรรูปทางการเกษตรและเกิดการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน ซึ่งในพื้นที่ดังกล่าว มีพืชเศรษฐกิจที่สามารถนำมาต่อยอดสร้างรายได้มหาศาล เช่น ยางพารา และไผ่ รวมถึงวัชพืช อย่าง กระจูด ที่สามารถนำมาแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มได้ โดย กสอ. ได้เข้าไปแนะนำเรื่องการออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ ให้มีความสวยงาม ทันสมัย รวมถึงการให้ความรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการสำหรับทำธุรกิจ สร้างแนวคิดให้เกษตรกรยกระดับการทำเกษตรเพื่อยังชีพ ไปสู่การเป็นนักธุรกิจเกษตร เพื่อสร้างเกษตรกรพันธุ์ใหม่ตามนโยบายของรัฐบาล ยกตัวอย่างที่สหกรณ์การเกษตรบ้านแพรกหา อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง ซึ่งเป็นแหล่งผลิตหมอนและที่นอนยางพาราที่ใหญ่ที่สุดใน จังหวัดพัทลุง ผลิตน้ำยางข้นพาราฟิต ParaFIT เพื่อใช้แปรรูปเป็นหมอนและที่นอนยางพาราที่ได้คุณภาพภายใต้แบรนด์ 'ตะลุงลาเท็กซ์' โดย กสอ. ได้เข้าให้คำปรึกษาเชิงลึกด้านการถอดแบบเครื่องจักรสำหรับการผลิตผลิตภัณฑ์ยางพารา (เครื่องฉีดโฟม Latex Foaming Matchine)เพื่อลดต้นทุน โดยการรวบรวมข้อมูลและจัดหาผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านมาดำเนินการภายใน 30 วัน พร้อมประสานกับสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ในการขอมาตรฐานผลิตภัณฑ์ (มอก.) ประสานกับสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดพัทลุง เพื่อดำเนินการระบบบำบัดน้ำเสียที่ได้มาตรฐาน สร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก ด้วยการออกแบบคอลเลคชั่นให้กับผู้ประกอบการเพื่อเป็นการทดสอบตลาด รวมถึงการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความน่าสนใจตรงกับความต้องการของตลาดมากขึ้น ตลอดจนการช่วยเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์แปรรูปยางพาราของผู้ประกอบการให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขว้างเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการสร้างรายให้แก่ชุมชน ถือเป็นอีกหนึ่งกลไกที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากของประเทศไทย
เช่นเดียวกับที่ชุมชนบ้านวังไทร อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความพร้อมในการผลิตยางพาราที่มีคุณภาพ มีการจัดตั้งโรงงานยางอัดแท่ง STR 5L และแปรรูปผลิตภัณฑ์กองทุนหมู่บ้านบ้านวังไทร กสอ. ได้เข้าให้คำปรึกษาเชิงลึกด้านการบริหารจัดการกระบวนการผลิตตลอดห่วงโซ่อุปทาน การจัดทำระบบบำบัดน้ำเสียที่มีคุณภาพ การเตรียมความพร้อมในการจัดทำมาตรฐาน ISO ต่าง ๆ เพื่อให้โรงงานมีความพร้อมในการผลิตที่มีประสิทธิภาพสูง ทั้งนี้ เพื่อให้ชุมชนสามารถดำเนินการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพเพื่อเป็นหนึ่งในกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจของชุมชน คาดว่าจะเริ่มดำเนินการผลิตในเดือน พ.ค.2563
ขณะที่ วิสาหกิจชุมชนไผ่ขวัญใจ อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง ซึ่งดำเนินการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากไม้ไผ่เป็นภาชนะใส่อาหารและแก้วน้ำ แต่ประสบปัญหาภาชนะมีขนาดและคุณภาพไม่ได้มาตรฐาน ทาง กสอ. เตรียมส่งผู้เชี่ยวชาญเข้าไปช่วยปรับปรุงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของเครื่องปั้มขึ้นรูปภาชนะที่ทำจากไม้ไผ่ และพัฒนากระบวนการผลิต โดยการจัดทำเครื่องต้นแบบผลิตแก้วน้ำกระบอกไม้ไผ่ และพัฒนาระบบอบไม้ไผ่เพื่อกำจัดเชื้อรา รวมถึงแม่พิมพ์จานชามจากกาบไผ่ ซึ่งคาดว่าจะทำให้การแปรรูปภาชนะจากไม้ไผ่ มีคุณภาพและมาตรฐาน สามารถดันให้เป็นของฝากสำหรับนักท่องเที่ยวได้ในอนาคต
นอกจากนี้ กสอ. ยังลงพื้นที่วิสาหกิจชุมชนหัตถกรรมกระจูดวรรณี อำเภอควนขนุน จังหวัดพัทลุง ที่นี่มีการรวมกลุ่มแปรรูปกระจูด ซึ่งเป็นวัชพืชชนิดหนึ่งจำพวกเดียวกับกก โดยนำไปผลิตเป็นกระเป๋า เครื่องใช้ในครัวเรือน ของที่ระลึก เครื่องตกแต่งภายในที่พัก ร้านค้า และโรงแรม ภายใต้แบรนด์VARNI ถือเป็นการต่อยอดนำวัชพืชมาสร้างให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจและยังให้ความสำคัญกับกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งผลักดันให้คนในชุมชนมีอาชีพและรายได้เพิ่มมากขึ้น โดยจะมีการสนับสนุนส่งเสริมให้ผู้ประกอบการพัฒนาผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าแก่ผลิตภัณฑ์ พร้อมยกระดับสู่ตลาดระดับบน (High-end market)
"การนำพืชเศรษฐกิจมาแปรรูปต่อยอดให้เกิดผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ มาตรฐาน มีความสวยงาม ทันสมัย ตรงตามความต้องการของตลาด จะทำให้สินค้าเป็นที่รู้จักและเกิดมูลค่าเพิ่มอย่างมหาศาล ขณะเดียวกัน กสอ. ยังเห็นความสำคัญของการขับเคลื่อนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีและวิสาหกิจชุมชน โดยใช้การท่องเที่ยวเป็นหัวหอกดึงนักท่องเที่ยวให้เข้าถึงชุมชนที่มีศักยภาพ อย่างที่ วิสาหกิจชุมชนผ้าทอนาหมื่นศรี อำเภอนาโยง จังหวัดตรัง ซึ่งเป็นหนึ่งในชุมชน หมู่บ้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์สู่การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน (Creative Industry Village : CIV) ที่นี่เป็นแหล่งผ้าทอมือที่มีความโดดเด่น เป็นผลิตภัณฑ์ชุมชนระดับ 5 ดาว โดย กสอ. ได้เข้ามาให้คำปรึกษาเชิงลึกเพื่อยกระดับการทอผ้าด้วยการจัดหากี่ทอผ้าที่มีขนาดกว้างมากขึ้น รองรับการพัฒนาต่อยอดผ้าผืน การให้ความรู้และพัฒนาด้านการออกแบบลายผ้า การจัดทำแพทเทิร์น การตัดเย็บ การสำรวจความต้องการของตลาดเพื่อนำมาสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ให้แก่ชุมชน รวมถึงการสร้างแบรนด์ให้แก่ชุมชนและการออกแบบบรรจุภัณฑ์ เพื่อพัฒนาต่อยอดไปสู่การทำการตลาดต่อไป
ทั้งนี้ นอกจากจะมีเสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย และผลิตภัณฑ์จากผ้าทออื่น ๆ เช่น กระเป๋า หมวก ไว้จำหน่ายแล้ว ที่นี่ยังเป็นศูนย์เรียนรู้ สำหรับเยาวชน หรือผู้ที่มีความสนใจได้เข้ามาเรียนรู้ ศึกษาดูงาน เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจและเป็นการกระจายรายได้สู่พื้นที่ ยกระดับเศรษฐกิจฐานรากให้มั่นคงแข็งแรง" นายณัฐพล กล่าวทิ้งท้าย