ก.แรงงาน ร่วมสานฝันปั้นเด็กยากจนสู่ช่างฝีมือ

17 Feb 2020
ก.แรงงาน โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ร่วมผู้ตรวจการแผ่นดิน ฝึกทักษะอาชีพให้นักเรียนที่ไม่ศึกษาต่อ สู่การเป็นช่างฝีมือคุณภาพ ป้อนตลาดแรงงาน
ก.แรงงาน ร่วมสานฝันปั้นเด็กยากจนสู่ช่างฝีมือ

นายธวัช เบญจาทิกุล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า กพร.ได้ร่วมกับสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ดำเนิน "โครงการเพิ่มทักษะด้านอาชีพแก่นักเรียนครอบครัวยากจนที่ไม่ได้เรียนต่อหลังจบการศึกษาภาคบังคับ" ซึ่งได้ลงนามความร่วมมือกับ 4 กระทรวงหลัก ได้แก่ กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนโครงการดังกล่าว ซึ่งสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินได้ส่งมอบคู่มือและปฏิทินดำเนินงาน ไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อใช้เป็นกรอบการทำงานให้เสร็จทันในปีงบประมาณ 2563 ปัจจุบันทุกจังหวัดได้แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนโครงการโดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน จัดประชุมมอบหมายภารกิจทุกหน่วยงานในสังกัดทั้ง 4 กระทรวง เพื่อชี้แจงขั้นตอนการดำเนินงาน กำหนดปฏิทิน หน้าที่ความรับผิดชอบเรียบร้อยแล้ว โดย กพร.ทำหน้าที่ในการฝึกทักษะอาชีพ เมื่อฝึกเสร็จสิ้นจะส่งต่อให้กับกรมการจัดหางานเพื่อหาตำแหน่งงานที่เหมาะสมต่อไป

นายธวัช กล่าวต่อไปว่า นักเรียนได้รับการแนะแนวอาชีพในเบื้องต้นเรียบร้อยแล้ว ซึ่งสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน (สพร.) และสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน (สนพ.) หลายจังหวัด มีนักเรียนเข้าศึกษาดูงาน เพื่อดูความพร้อมของสถานที่ฝึก เครื่องมือและเครื่องจักรในแต่ละสาขา โดยเจ้าหน้าที่ของกพร. จะให้คำแนะนำเกี่ยวกับความต้องการของตลาดแรงงานในแต่ละสาขา รายได้และความก้าวหน้าในอาชีพ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจเข้าฝึกอบรมด้วย ซึ่งคาดว่าจะเริ่มฝึกอบรมในช่วงเดือนเมษายน 2563 ในหลักสูตรเตรียมเข้าทำงาน และมีระยะเวลาการฝึก 2-4 เดือน ฝึกประสบการณ์ในสถานประกอบกิจการอีก 1-2 เดือน จังหวัดที่มีนักเรียนเข้าศึกษาดูงานแล้ว เช่น สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน (สพร.) 1 สมุทรปราการ สพร. 3 ชลบุรี สพร. 7 อุบลราชธานี สพร. 9 พิษณุโลก สพร.15 พระนครศรีอยุธยา สนพ.กำแพงเพชร เป็นต้น สาขาอาชีพที่จะฝึกอบรมนั้น คัดเลือกตามความเหมาะสมและความต้องการของตลาดแรงงานในแต่ละจังหวัด เช่น ช่างตัดเย็บเสื้อผ้า ช่างซ่อมเครื่องยนต์ ช่างสีรถยนต์ ช่างซ่อมเครื่องปรับอากาศขนาดเล็ก ช่างเชื่อม ช่างเดินสายไฟฟ้าภายในอาคาร ช่างอิเล็กทรอนิกส์ ช่างซ่องไมโครคอมพิวเตอร์ เป็นต้น

"ความร่วมมือกันของหน่วยงานภาครัฐและเอกชน จะช่วยส่งเสริมและสนับสนุนให้โครงการดังกล่าวดำเนินงานได้อย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพ แก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน อีกทั้งมีแรงงานที่มีทักษะฝีมือคุณภาพได้มาตรฐาน ส่งเสริมการมีงานทำของแรงงาน มีรายได้และกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศในทิศทางที่ดีขึ้น สอดคล้องกับนโยบาย Workforce transformation ของม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ที่มุ่งปฏิรูปกำลังแรงงานให้มีฝีมือ รองรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี นวัตกรรมในอนาคต" อธิบดี กล่าว

HTML::image( HTML::image( HTML::image(