เครือข่ายองค์กรเด็กและเยาวชน ยื่น 4 ข้อวอน “ดีอีเอส” ป้องกันเด็กไทยจากพนันออนไลน์

26 Feb 2020
เครือข่ายองค์กรเด็กและเยาวชนทั่วประเทศ เข้าพบผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ยื่น 4 ข้อเสนอ วอนดีอีเอส เดินเกมรุกป้องกันเด็กไทยจากภัยการพนันออนไลน์ เผยผลสำรวจปี 62 พบคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป กว่า 3 ล้านคน เล่นการพนันผ่านช่องทางออนไลน์ มีเงินหมุนเวียน 20,152 ล้านบาท
เครือข่ายองค์กรเด็กและเยาวชน ยื่น 4 ข้อวอน “ดีอีเอส” ป้องกันเด็กไทยจากพนันออนไลน์

นายเนวินธุ์ ช่อชัยทิพฐ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า วันนี้ (26 กุมภาพันธ์ 2563) เครือข่ายองค์กรเด็กและเยาวชนทั่วประเทศ 6 องค์กรที่ขับเคลื่อนเรื่องการพนันออนไลน์ ได้เดินทางมาเข้าพบและหารือแนวทางเพื่อสร้างความร่วมมือของทุกภาคส่วนช่วยกันลดปัญหา และร่วมปกป้องเด็กและเยาวชนให้ปลอดภัยจากการพนัน โดยเฉพาะการพนันออนไลน์ ซึ่งเป็นภัยร้ายใกล้ตัวที่มีผลกระทบในหลายมิติ

โดยทั้ง 6 องค์กร ได้แก่ สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย สมาคมผู้บำเพ็ญประโยชน์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ สมาคมไอเซคพัฒนาผู้นำนักศึกษาระหว่างประเทศ (AIESEC) เครือข่ายเด็กรุ่นใหม่ไม่พนัน และเครือข่ายเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนา

ทั้งนี้ จากผลสำรวจความคิดเห็นและพฤติกรรมของเยาวชนทั่วประเทศ 4,677 คน เกี่ยวกับสถานการณ์ปัญหาการพนันผ่านช่องทางออนไลน์ เมื่อปี 2562 พบว่าร้อยละ 42.38 ของเด็กและเยาวชนเข้าสู่วงจรการพนัน โดยมีปัจจัยชักจูงให้เข้าสู่การเล่นการพนันออนไลน์ คือ สื่อโซเชียลมีเดีย โดยเฟซบุ๊ก และเว็บไซต์ดูหนังฟังเพลง เป็นสื่อที่มีอิทธิพลสูงสุด

สอดคล้องกับผลการสำรวจสถานการณ์การเล่นพนันในสังคมไทย ปี 2562 ของศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า คนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป จำนวน 3.19 ล้านคน เล่นการพนันผ่านช่องทางออนไลน์ โดยมีปริมาณเงินหมุนเวียนถึง 20,152 ล้านบาท ในปี 2562 โดยช่องทางหลักที่ใช้เล่นพนันออนไลน์ คือ โทรศัพท์มือถือ (ร้อยละ 97.1)

สาเหตุที่การพนันออนไลน์ได้รับความนิยม เนื่องจากเข้าถึงง่าย สะดวกรวดเร็ว ไม่มีข้อจำกัดเรื่องเวลาและสถานที่ การตรวจจับของเจ้าหน้าที่ยากลำบาก ขณะเดียวกัน กลุ่มธุรกิจพนันมีการพัฒนาก้าวล้ำไปกับยุคดิจจิทัล นิยมใช้สื่อโซเชียลมีเดียเป็นช่องทางโฆษณาเชิญชวนเด็กและเยาวชน ผ่านเฟซบุ๊ก ไลน์ ยูทูบ ทวิตเตอร์ เว็บไซต์ ในรูปแบบต่างๆ โดยใช้บุคคลผู้มีชื่อเสียงและเน็ตไอดอล ซึ่งมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของเยาวชน รวมถึงว่าจ้างให้เยาวชนรีวิวเว็บไซต์พนัน เพื่อแนะนำบอกต่อเชิญชวนกันเองด้วย

โดยในการเข้าพบวันนี้ เครือข่ายองค์กรด้านเด็กและเยาวชน ได้มีข้อเสนอต่อกระทรวงฯ 4 ข้อ เพื่อสนับสนุนการขับเคลื่อนให้ทุกภาคส่วนเข้ามาทำงานร่วมกัน ในการป้องกันและปราบปรามปัญหาพนันออนไลน์ ประกอบด้วย1.ขอให้กระทรวงดิจิทัลฯ ประกาศนโยบายป้องกันและแก้ไขปัญหาการพนันออนไลน์ในเด็กและเยาวชนเป็นวาระเร่งด่วน เพื่อหยุดยั้งปัญหาและลดผลกระทบอย่างทันทีทันใดและยั่งยืน 2.ขอให้กระทรวงดิจิทัลฯ และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ประสานความร่วมมือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงสาธารณสุข พัฒนากลไกและมาตรการในการแก้ปัญหาการพนันออนไลน์อย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม 3.ขอให้มีการแก้ไชปรับปรุงกฎหมายใน พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ โดยระบุลักษณะความผิดอันเกี่ยวกับการพนันออนไลน์ ให้ครอบคลุมชัดเจน และกำหนดเพิ่มบทลงโทษสำหรับการกระทำความผิดดังกล่าว และ 4.ขอให้พัฒนาช่องทางร้องเรียน และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมแจ้งเบาะแส และข้อมูลข่าวสาร หากพบการกระทำความผิดเกี่ยวกับการพนันออนไลน์

ขณะที่ นายภุชพงค์ โนดไธสง รองปลัดกระทรวงดิจิทัลฯ กล่าวว่า มองการทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาด้านนี้ไว้ 3 ขั้นตอน คือ ป้องกัน ปราบปราม และแก้ไข โดยในส่วนของการป้องกัน การทำงานร่วมกันหรือเครือข่าย จะเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดในการสร้างความรับรู้และการตระหนักรู้ เกี่ยวกับผลกระทบและปัญหาการพนันออนไลน์ โดยมุ่งเน้นการสร้างองค์ความรู้ให้เยาวชนในเรื่องการใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ตอย่างเหมาะสม (Digital Literacy)

สำหรับการปราบปราม แม้กระทรวงดีอีเอส ไม่ได้มีหน้าที่ปราบปรามโดยตรง แต่มีกฎหมายซึ่งสามารถใช้เป็นเครื่องมือเพื่อเก็บข้อมูลเป็นหลักฐานทางกฎหมาย หรือ Digital Forensic) ให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ บก.ปอท. ดีเอสไอ เพื่อไปดำเนินการต่อไป

ส่วนเรื่องการแก้ไขต้องมีการบูรณาการ เพื่อร่วมกันออกมาตรการในการแก้ไขปัญหา ปัจจุบันการพนันออนไลน์ถือเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.การพนัน พ.ศ. 2478 มาตรา 4 ทวิ และผู้ที่ทำการโฆษณาหรือชักชวนผู้อื่นเล่นพนัน มีความผิดตาม พ.ร.บ.การพนัน ตามมาตรา 12 (2) และมีความผิดตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 (แก้ไข พ.ศ. 2560) มาตรา 14 (4) และมาตรา 20 (3) อย่างไรก็ตาม เนื่องจากปัจจุบัน พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ในมาตรา 20 ไม่ได้ให้อำนาจกระทรวงฯ ในเรื่องนี้ แต่ระบุให้ต้องมีหน่วยงานอื่นต้องมาแจ้งความก่อน และบทลงโทษต้องใช้กฎหมายอื่นมาประกอบ

"ในส่วนนี้เครือข่ายเด็กและเยาวชนฯ ก็สามารถเข้ามาช่วยได้ โดยกรณีที่พบการกระทำผิดเรื่องการพนันออนไลน์ เมื่อดำเนินการแจ้งความกับหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องแล้ว สามารถมาแจ้งให้กระทรวงดีอีเอสรับทราบได้ด้วย เพื่อเก็บข้อมูลใช้เป็นหลักฐานทางกฎหมายต่อไป" นายภุชพงค์กล่าว

HTML::image( HTML::image(