พิชามญชุ์ รักรอด หัวหน้าโครงการรณรงค์ยุติมลพิษพลาสติก กรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวว่า "เป็นเรื่องน่ากังวลที่เรายังคงเจอขยะพลาสติกในทุก ๆ สภาพแวดล้อม ตั้งแต่บนภูเขาไปจนถึงทะเล ขยะพลาสติกเหล่านี้ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตอื่นๆ เช่น สัตว์ป่าและสัตว์ทะเลหลายชนิดด้วย และที่น่าเศร้าใจที่สุด คือ มีสัตว์ใกล้สูญพันธุ์หรือสัตว์ป่าสงวนตายเพราะกินขยะพลาสติกเข้าไป มันเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะเก็บขยะพลาสติกให้หมดไปจากสิ่งแวดล้อมได้หากเรายังคงผลิตและบริโภคพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งในปริมาณมากเช่นในปัจจุบัน ดังนั้น ทางออกที่ยั่งยืนที่สุด คือการหยุดมลพิษพลาสติกตั้งแต่ต้นทาง คือ การหยุดผลิตและหยุดใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง แล้วมองหาวัสดุทางเลือกอื่นที่ยั่งยืนทดแทน"
อภิศักดิ์ ทัศนี ตัวแทนจากกลุ่ม Beach for Life พูดว่า "ในฐานะเยาวชนชาวสงขลา ซึ่งเมืองสงขลาเป็นเมืองชายฝั่ง ทุกๆปีเราจะเห็นขยะจำนวนมหาศาลมาเกยบนชายหาด รวมถึงขยะจากกิจกรรมการท่องเที่ยวบริเวณชายหาดสมิหลา ปัญหาขยะนั้นวิกฤตอย่างยิ่งต่อระบบนิเวศหาดทราย สัตว์ทะเล และการใช้ประโยชน์ริมชายหาด ขยะที่เราพบส่วนใหญ่จะเป็นพลาสติก ขวดน้ำดื่ม ถุงขนม และอุปกรณ์ประมง เช่น ทุ่น เศษอวน เชือก เป็นต้น
กลุ่ม Beach for Life สงขลาฟอรั่ม นักวิชาการ และภาคประชาชนในสงขลา มีความพยายามร่วมกันออกแบบ Beach zoning ที่หาดสมิหลา ซึ่งเน้นเรื่องการลดใช้พลาสติกริมชายหาด มีข้อเสนอจากผู้ประกอบการร้านค้าริมชายหาดให้มีการลดใช้พลาสติก นี่คือความพยายามของภาคพลเมืองในการจัดการชายหาด และลดใช้พลาสติกที่หาดสมิหลา-ชลาทัศน์
ในวันนี้ผมคิดว่า ภาคพลเมืองตื่นตัวต่อเรื่องขยะพลาสติกอย่างมาก และเราอยากร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวลดใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง เราเห็นร่วมกันว่า ผู้ผลิตจะต้องให้ความสำคัญกับปัญหาพลาสติกมากขึ้นเช่นกัน เพื่อให้ทะเล และชายหาดของเรารอดพ้นจากวิกฤตขยะทะเลในที่สุด"
กิจกรรมเก็บขยะและตรวจสอบแบรนด์สินค้าจากขยะพลาสติกเป็นส่วนหนึ่งของการรณรงค์ร่วมกันของหลายองค์กรทั่วโลก ภายใต้การเคลื่อนไหว Break Free From Plastic เพื่อรณรงค์ลดใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง กิจกรรมนี้จัดขึ้นในประเทศไทยเป็นครั้งที่ 3 โดยครั้งแรกจัดขึ้นที่หาดวอนนภา บางแสน จ.ชลบุรีในปีก่อน และครั้งล่าสุดจัดขึ้นที่ดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 11 กันยายนที่ผ่านมา
"ขณะนี้ผู้บริโภคเริ่มตื่นตัวแล้ว และเริ่มที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมลดใช้พลาสติก ถึงเวลาแล้วที่ผู้ผลิตสินค้าจะต้องหาวิธีการลดขยะพลาสติกในบรรจุภัณฑ์ของตน กรีนพีซหวังว่าผลจากการตรวจสอบแบรนด์สินค้าจากขยะพลาสติกนี้จะสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาพลาสติกที่เกิดจากการขาดความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมของผู้ผลิต และจะช่วยผลักดันให้แบรนด์สินค้าต่าง ๆ จัดการปัญหาพลาสติกจากผลิตภัณฑ์ของตนอย่างจริงจัง" พิชามญชุ์กล่าวสรุป
ข้อมูลจากการตรวจสอบขยะพลาสติกที่สงขลานี้จะถูกรวบรวมกับแนวร่วม Break Free From Plastic ที่มีผู้เข้าร่วมในหลายประเทศ เพื่อตรวจสอบและระบุแบรนด์สินค้าที่พบมากที่สุดจากขยะพลาสติกที่เก็บได้ โดยจะรายงานผลการตรวจสอบดังกล่าวในเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit