วันที่ 30 ตุลาคม 2562 เวลา 10.30 น. ณ หน่วยป้องกันและปราบปรามประมงน้ำจืดเขื่อนอุบลรัตน์ อำเภออุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น กรมประมงจัดพิธีปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำจำนวน 4 ล้านตัวลงสู่บริเวณอ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ ภายใต้โครงการฟื้นฟูทรัพยากรประมงในอ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำจืดในแหล่งน้ำธรรมชาติ ตลอดจนสร้างความรู้ความเข้าใจในแนวทางการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรอย่างถูกต้องให้กับประชาชน สำหรับพิธีดังกล่าวได้รับเกียรติจากนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธี โดยมีนายสมศักดิ์ จังตระกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น นายวิชาญ อิงศรีสว่างรองอธิบดีกรมประมง หัวหน้าส่วนราชการ และประชาชนในพื้นที่ให้การต้อนรับพร้อมร่วมปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำรวมกว่า 1,000 คน
นายวิชาญ อิงศรีสว่าง รองอธิบดีกรมประมง กล่าวว่า เขื่อนอุบลรัตน์เป็นเขื่อนอเนกประสงค์แห่งที่สองของประเทศไทยต่อจากเขื่อนภูมิพล สร้างขึ้นเมื่อปีพ.ศ 2507 – 2509 เป็นเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำแห่งแรกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประชาชนโดยรอบจะใช้ประโยชน์ในหลายด้านทั้งด้านการอุปโภค-บริโภค ด้านเกษตร ด้านประมง ด้านการป้องกันปัญหาอุทกภัย การคมนาคม และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมของจังหวัดขอนแก่นซึ่งจากผลการสำรวจของกรมประมงในปี 2508 ก่อนการสร้างเขื่อนพบว่ามีสัตว์น้ำจืดกว่า 76 ชนิด และลดจำนวนลงเรื่อยมา จนกระทั่งในปี 2528 พบความหลากหลายของชนิดสัตว์น้ำน้อยที่สุดนั่นคือ 27 ชนิด และในระหว่างปี 2508 – 2559 มีการประเมินผลผลิตสัตว์น้ำพบว่า มีค่าเฉลี่ยเมื่อปี 2508 เท่ากับ 19.58 กก./ไร่ ในปี 2526 เพิ่มขึ้นเป็น 33.4 กก./ไร่และในปี 2554 ลดลงเหลือ 6.28 กก./ไร่ โดยสาเหตุหลักที่ทำให้ผลผลิตสัตว์น้ำลดลง ได้แก่
1. การเพิ่มขึ้นของประชาชนที่อาศัยบริเวณพื้นที่รอบเขื่อนมีจำนวน 101 หมู่บ้าน 12,000 ครัวเรือน มีชาวบ้านประกอบอาชีพประมงเป็นหลักถึง 4,870 ครัวเรือน โดยเครื่องมือประมงที่ใช้กันมาก ได้แก่ เบ็ดราว ข่าย แห สวิง ไซ และตุ้ม นอกจากนี้ยังมีเครื่องมือผิดกฎหมาย เช่น อวนกางกั้น โพงพาง ลอบพับได้ จึงส่งผลให้สัตว์น้ำลดจำนวนลงอย่างต่อเนื่อง
2. ความเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ โดยเฉพาะปริมาณน้ำฝนที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ บางปีมีปริมาณน้อยทำให้อุณหภูมิน้ำสูง เกิดผลกระทบกับการแพร่ขยายพันธุ์วางไข่ หรือปริมาณน้ำลดน้อยลงกระทบกับแหล่งผสมพันธุ์วางไข่สัตว์น้ำโดยตรง
ทั้ง 2 สาเหตุดังกล่าวล้วนแต่เป็นปัจจัยที่ทำให้ลูกปลารุ่นใหม่ในธรรมชาติของเขื่อนอุบลรัตน์แต่ละปีลดลงจนธรรมชาติไม่สามารถผลิตทดแทนได้ทันต่อความต้องการ ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมากรมประมงได้กำหนดมาตรการในการใช้บริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำเพื่อรักษาสมดุลทั้งในด้านความหลากหลายและปริมาณให้เพิ่มมากขึ้น การลงพื้นที่สร้างความรับรู้ความเข้าใจถึงกฏหมายประมง และการทำลายล้างสัตว์น้ำของเครื่องมือประมงที่ผิดกฎหมาย ฯลฯ เพื่อเป็นการช่วยเร่งฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์น้ำในธรรมชาติกรมประมงจึงได้จัดทำโครงการฟื้นฟูทรัพยากรประมงในอ่างเก็บน้ำเขื่อนอุบลรัตน์ขึ้น โดยโครงการดังกล่าวกรมประมงจะดำเนินการผลิตและปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ และสัตว์น้ำพื้นถิ่นที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ลงสู่เขื่อนอุบลรัตน์เพื่อสร้างความสมบูรณ์และให้สัตว์น้ำเติบโตเป็นพ่อแม่พันธุ์ให้กับแหล่งน้ำธรรมชาติและเป็นแหล่งอาหารที่สร้างโปรตีนตลอดจนเป็นแหล่งพึ่งพิงให้แก่ประชาชนในพื้นที่โดยรอบ