หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ร่วมกับมูลนิธิซันไพรด์ จัดงานเปิดนิทรรศการ สนทนาสัปตสนธิ ๒ - ไตร่ถาม: ความหลากหลายในอุษาคเนย์ (SPECTROSYNTHESIS II– Exposure of Tolerance: LGBTQ in Southeast Asia) ซึ่งจะเปิดให้เข้าชม ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ในวันที่ 23 พฤศจิกายน 2562 นี้ นิทรรศการดังกล่าวจะเป็นแหล่งรวมศิลปะร่วมสมัยที่ใหญ่ที่สุดจากกว่า 50 ศิลปิน ซึ่งสะท้อนประเด็นเกี่ยวกับความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ - Lesbian Gay Bisexual Transsexual and Queer) ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และใกล้เคียง งานนี้เป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการเดินทางหมุนเวียนโดยมูลนิธิซันไพรด์ โดยจะแวะที่กรุงเทพฯ เป็นจุดที่ 2 ต่อเนื่องมาจากนิทรรศการ SPECTROSYNTHESIS – Asian LGBTQ Issues and Art Now อันโด่งดัง ซึ่งเปิดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัย (Museum of Contemporary Art) กรุงไทเป ประเทศไต้หวัน เมื่อปี 2560
จากประเด็นความแตกต่างและหลากหลายทางเพศอาจนำไปสู่ความตึงเครียดในสังคม งานนี้ทีมภัณฑารักษ์ นำโดยคุณฉัตรวิชัย พรหมทัตตเวที จึงได้คัดสรรศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงานโดดเด่น เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพูดคุยแลกเปลี่ยนกันในประเด็นนี้ผ่านศิลปะร่วมสมัย โดยมุ่งเน้นให้เห็นว่าเส้นแบ่งต่าง ๆ กำลังเปลี่ยนไป กรอบเกณฑ์ต่าง ๆ กำลังเปิดกว้างมากขึ้น และคนก็กำลังตั้งคำถามกับค่านิยมและบรรทัดฐานต่างๆ ทางสังคม ในนิทรรศการ ผู้ชมจะได้พบกับผลงานของศิลปินจากทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงศิลปินเชื้อสายจีนและอินเดีย ซึ่งเป็นสองวัฒนธรรมที่มีอิทธิผลอย่างยิ่งต่อภูมิภาคนี้ผ่านการอพยพย้ายถิ่นฐาน สนทนาสัปตสนธิ ๒ จึงแสดงให้เห็นบริบททางสังคมที่ยอมรับความหลากหลายทางเพศ และสะท้อนลักษณะพิเศษของภูมิภาคนี้ที่เป็นแหล่งรวมความหลากหลายทางศาสนาและวัฒนธรรม
"ผลงานศิลปะที่จัดแสดงในนิทรรศการ สนทนาสัปตสนธิ ๒ จะเน้นเรื่องการยอมรับความหลากหลายทางเพศ แต่บทสนทนาเรื่องนี้ไม่ได้จำกัดวงอยู่แค่ในกลุ่ม LGBTQ" หัวหน้าทีมภัณฑารักษ์ คุณฉัตรวิฉัย พรหมทัตตเวที อธิบาย "สิ่งที่ทำให้นิทรรศการนี้ทรงพลังและสำคัญมาก คือ ศิลปินส่วนใหญ่มีประสบการณ์ส่วนตัวหรือไม่ก็รู้สึกร่วมไปกับประเด็นนี้ ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น นิทรรศการยังแสดงถึงอิสรภาพที่ศิลปะมอบให้ อิสรภาพที่จะแสดงออกถึงการต่อสู้ของแต่ละคนเพื่อการยอมรับทางเพศ เพื่อให้คนยอมรับว่าเป็นปกติ การต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชน และการต่อสู้เพื่อให้คนที่ตำแหน่งและสถานะเท่าเทียมกันเคารพกัน"
แพทริค ซัน ผู้อำนวยการบริหาร มูลนิธิซันไพรด์ กล่าวว่า"เรารู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้คุณฉัตรวิชัย พรหมทัตตเวที และทีมมาร่วมงานครั้งนี้ ทีมทำงานกันอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยเพื่อคัดสรรศิลปินและผลงานศิลปะชั้นยอดมาจัดแสดงในนิทรรศการ สนทนาสัปตสนธิ ๒ ผมหวังว่านิทรรศการนี้จะส่งเสริมให้เกิดการอภิปรายกันในวงกว้าง และสนับสนุนให้เกิดสังคมที่เท่าเทียมมากขึ้นสำหรับชุมชน LGBTQ และมิตรสหาย"
ผลงานที่สร้างสรรค์ใหม่เพื่องานนี้
ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นแหล่งรวมวัฒนธรรม ชนชาติ และความเชื่อที่หลากหลาย ระดับการยอมรับความหลากหลายทางเพศก็แตกต่างกันไปตามแต่ละเมืองและเขตการบริหารพิเศษเช่นกัน ในประเทศไทย ชุมชน LGBTQ ถือว่าได้รับการยอมรับดีเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในเอเชีย และปัจจุบันก็เริ่มมีการเรียกร้องกฎหมายการแต่งงานระหว่างเพศเดียวกัน ถึงกระนั้น กฎเกณฑ์และพฤติกรรมที่แสดงออกถึงความไม่เท่าเทียมก็มิใช่ไม่มีเสียเลย และอคติเหล่านี้ก็ปรากฏชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ เพื่อสะท้อนประเด็นนี้ จักกาย ศิริบุตร ได้สร้างสรรค์ศิลปะจัดวางขนาดใหญ่ 3 ชิ้น แต่ละชิ้นทำจากผ้าและยาว 2 เมตร เพื่อบันทึกความเจ็บปวดของวัยรุ่น ลวดลายเรขาคณิตใน Quilt Project (2562) ล้อมาจากสามเหลี่ยมสีชมพูที่พรรคนาซีเคยใช้เพื่อระบุตัวและสร้างความอับอายให้แก่ผู้รักเพศเดียวกัน ในบัดนี้ ชุมชนเกย์ได้นำมาเป็นสัญลักษณ์ แสดงถึงความภาคภูมิใจ
อริญชย์ รุ่งแจ้ง ศิลปินตัวแทนประเทศไทยในเทศกาล Venice Biennale ครั้งที่ 55 ได้สร้างวิดีโอแบบติดตั้งจัดวาง 5 จอภายใต้ชื่อ Welcome to My World โดยได้รับแรงบันดาลใจจากประสบการณ์วัยเด็ก ที่รู้สึกตื่นตาตื่นใจที่ได้พบกับบุคคลแปลงเพศ ผลงานชิ้นนี้จะสะท้อนประเด็นความหลากหลายและการยอมรับทางสังคมอย่างชัดเจน
ศิลปินชาวมาเลเซีย แอนน์ แซมัท ผู้บุกเบิกศิลปะการทอ นำเสนอผลงานชิ้นพิเศษ Conundrum Ka Sorga (To Heaven) (2562) ซึ่งเป็นผลงานชิ้นล่าสุดในชุดผลงานศิลปะอันโด่งดัง ประติมากรรมรวมเพศที่เป็นเอกลักษณ์ของ แซมัท ทำมาจากสิ่งทอสีรุ้งยาว 3 เมตร จะเผยให้เห็นว่า แซมัท สนใจเรื่อง "รูปร่างในอุดมคติ" และต้องการจะเห็นชุมชน LGBTQ กลับมารุ่งเรืองอีกครั้งเหมือนนกฟีนิกซ์
ศิลปินชาวอินเดีย บัลเบียร์ ครีชัน ผู้เคยโดนวิพากษ์วิจารณ์อย่างเสีย ๆ หาย ๆ เพราะสร้างผลงานศิลปะเกี่ยวกับเกย์ จัดแสดงภาพวาด 2 ชิ้นที่แสดงถึงความแตกต่างระหว่างก่อนและหลังการยกเลิกมาตรา 377 ในกฎหมายอินเดียที่กำหนดบทลงโทษสำหรับชายที่มีเพศสัมพันธ์กับคนเพศเดียวกัน
A Stitch in Time ผลงานจัดวางโดยศิลปินชาวฟิลิปปินส์ ดาวิด เมดาญ่า ได้รับแรงบันดาลใจจากความ
ทรงจำส่วนตัวที่บังเอิญพบผ้าเช็ดหน้าผืนหนึ่ง เสมือนเป็นโชคชะตาที่นำให้เขาได้พบกับชายแปลกหน้า ซึ่งต่อมากลายเป็นหนึ่งในคนรักเก่าของศิลปิน ผู้ชมสามารถร่วมสร้างศิลปะแนวทดลองชิ้นนี้ได้ แล้วจะพบว่างานชิ้นนี้ท้าทายบทบาทของผู้สร้าง - ผู้ชมงานศิลปะ และกระตุ้นให้ทบทวนความเชื่อเรื่อง "โชคชะตา" ซึ่งเป็นประเด็นที่ไม่มีวันตายในอารยธรรมมนุษย์ และบนผลงานชิ้นเดียวกันนี้ เหล่าศิลปินที่ร่วมแสดงผลงานในนิทรรศการ จะได้ฝากรอยเย็บปักไว้ร่วมกัน เป็นการรำลึกถึงเมื่อปี ค.ศ. 1972 เมื่อเหล่าศิลปิน Joseph Beuys, David Hockey, Marcel Duchamp, Gilbert and George และ Yoko Ono ได้ร่วมกันปักผลงานที่จัดแสดงในงาน documenta 5 ซึ่งได้กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความสามัคคีของกลุ่มคนที่แตกต่างกัน เป็นสิ่งที่ทีมงานตั้งใจนำเสนอในการจัดงานนิทรรศการ สนทนาสัปตสนธิ ๒ ในครั้งนี้
ไฮไลต์ประจำนิทรรศการ
นิทรรศการครั้งนี้ยังจัดแสดงภาพถ่าย 6 ภาพโดย เยิ่น หาง ศิลปินชาวจีนผู้ล่วงลับ เยิ่น หาง เป็นโรคซึมเศร้าและปลิดชีพตนเองไปอย่างน่าเศร้าในปี 2560 ระหว่างที่ผลงานจัดแสดงอยู่ที่สต็อกโฮล์ม ภาพถ่ายของ เยิ่น หาง แสดงออกถึงความเป็นธรรมชาติ ผู้ชมจะได้เห็นนายแบบและนางแบบเปลือย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเพื่อนของศิลปินเอง อยู่ในท่วงท่าที่เปิดเผยและดูราวกับเป็นรูปปั้น ภาพถ่ายที่จัดองค์ประกอบอย่างตั้งอกตั้งใจนี้มี ความงามแบบศิลปะเหนือจริง แต่แม้จะเป็นภาพของร่ายกายในวัยหนุ่มสาว กลับให้ความรู้สึกโดดเดี่ยวและเก็บกด สะท้อนถึงการต่อสู้กับภาวะทางจิตใจของศิลปินเอง ดิญ คิว เล ศิลปินชาวเวียดนาม ได้จัดแสดงผลงานศิลปะ 3 ชิ้น 2 ใน 3 นั้นเป็นผลงานที่ใช้เทคนิคการทอภาพถ่ายที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ ได้แรงบันดาลใจมาจากเทคนิคการทอพรมจากเส้นใยแบบดั้งเดิม ส่วนผลงานชิ้นที่ 3 เป็นประติมากรรมสูง 5 เมตร เป็นภาพที่โดนยืดและบิดเบี้ยวจนกลายเป็นม้วนกระดาษขนาดใหญ่เกินจริง แขวนลงมาจากเพดาน ภาพถ่ายที่ใช้มาจากหลากหลายแหล่ง สะท้อนถึงความรู้สึกภายในของศิลปิน และชวนให้คิดว่าการเซนเซอร์ภาพทำให้เกิดอคติต่อมุมมองและการรับรู้เรื่องอัตลักษณ์ประจำชาติอย่างไร
ผลงานรูปปั้น We The People (detail) (2011–2016) ของศิลปินชาวเวียดนาม ตัน หว่อ จำลองสัญลักษณ์แห่งอิสรภาพอย่างเทพีเสรีภาพ ขนาดเท่าของจริง แต่แยกชิ้นส่วนเป็นกว่า 300 ชิ้น กระจายไปตั้งหลายจุด ผลงานชิ้นนี้จะท้าทายการรับรู้ของผู้ชม และย้ำเตือนว่าทุกคนควรจะโดนตัดสินด้วยบรรทัดฐานเดียวกัน โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนและอิสรภาพส่วนบุคคล
กิจกรรมประกอบนิทรรศการ
หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครและมูลนิธิซันไพรด์มุ่งมั่นที่จะให้ความรู้ต่อสาธารณะเกี่ยวกับ LGBTQ และส่งเสริมให้เกิดการอภิปรายอย่างสร้างสรรค์ผ่านศิลปะ ในงานนี้ นอกจากชิ้นงานศิลปะจำนวนมากแล้ว ยังมีกิจกรรมประกอบนิทรรศการอีกหลายรายการ เริ่มจากวันเปิดนิทรรศการวันเสาร์ที่ 23 พฤศจิกายน 2562 จะมีกิจกรรมเสวนาสองรอบ นำโดยภัณฑารักษ์คุณฉัตรวิชัย พรหมทัตตเวที เชื้อเชิญศิลปินมาร่วมบนเวทีเสวนาเกี่ยวกับ LGBTQ และบริบททางสังคมและวัฒนธรรมในแต่ละประเทศของศิลปิน และในวันที่ 18 มกราคม 2563 ขอเชิญชมการแข่งขันเต้น Waack & Vogue ที่สนุกสนานและตื่นตาตื่นใจในงานเต้น Spectro Dance Battle และสำหรับผู้ชมที่ต้องการเข้าใจศิลปะที่จัดแสดงอย่างลึกซึ้ง สามารถเข้าร่วมกิจกรรมนำชมพร้อมบรรยายพิเศษได้ตลอดนิทรรศการ พร้อมชมสูจิบัตรผลงานได้อีกด้วย (มีจัดจำหน่าย)
สามารถติดตามรายละเอียดและกิจกรรมอื่นๆ เพิ่มเติมได้ที่ http://bacc.or.th/ หรือ https://sunpride.hk/.
เกี่ยวกับนิทรรศการ
สนทนาสัปตสนธิ ๒
ไตร่ถาม: ความหลากหลายในอุษาคเนย์
SPECTROSYNTHESIS II– Exposure of Tolerance: LGBTQ in Southeast Asia
จัดแสดง: 23 พฤศจิกายน 2562 –1 มีนาคม 2563
เวลาเปิดทำการ: 10:00– 21:00 (ยกเว้นวันจันทร์)
สถานที่: ห้องนิทรรศการหลัก ชั้น 7- 8 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC)
939 ถนนพระราม 1 วังใหม่ ปทุมวัน กรุงเทพฯ 10330
***เข้าชมฟรี
ผู้สนใจสามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.bacc.or.th/
Facebook:@baccpage
Instagram:@baccbangkok
เกี่ยวกับหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) เป็นศูนย์จัดแสดงศิลปะและวัฒนธรรมขนาด 24,000 ตารางเมตร สูง 12 ชั้น ตั้งอยู่ใจกลางเมือง เพียบพร้อมด้วยห้องนิทรรศการ พื้นที่จัดการแสดง ห้องสมุด และห้องประชุม โดยมีเป้าหมายเพื่อเป็นพื้นที่และโครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสมสำหรับศิลปะร่วมสมัย และส่งเสริมให้ศิลปะมีบทบาทในชีวิตของชาวเมืองมากขึ้น แนวร่วมศิลปินแห่งประเทศไทยเริ่มมีแนวคิดที่จะสร้างศูนย์ศิลปะร่วมสมัยตั้งแต่ปี 2537 และได้รณรงค์เรื่องนี้เรื่อยมา จนกรุงเทพมหานครเป็นผู้ก่อสร้าง และปัจจุบัน บริหารงานอย่างอิสระโดยมูลนิธิหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ตลอด 10 นับตั้งแต่เปิดทำการวันแรกในปี 2551 ศูนย์ศิลปะกลางเมืองแห่งนี้ได้ต้อนรับกลุ่มผู้ชมที่หลากหลาย ทั้งนักอนุรักษ์นิยมและผู้ชื่นชอบศิลปะร่วมสมัย ตลอดจนคนรุ่นใหม่ที่แสวงหาไลฟ์สไตล์ใหม่ ๆ ศิลปะในพื้นที่นี้ไม่ได้จำกัดเพียงทัศนศิลป์เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงศิลปะการแสดง ภาพยนตร์ ดนตรี และวรรณกรรม ด้วยเหตุนี้ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานครจึงเป็นพื้นที่แห่งการแลกเปลี่ยน ที่ผู้ชมและศิลปินต่างสาขามาพบกันและเริ่มบทสนทนาเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้
เกี่ยวกับมูลนิธิซันไพรด์
มูลนิธิซันไพรด์ก่อตั้งขึ้นในปี 2557 โดยมีพันธกิจเพื่อโอบรับและสนับสนุนศิลปะของชุมชน LGBTQ มูลนิธิมีเป้าหมายที่จะส่งเสริมให้เกิดสังคมที่เท่าเทียมกันมากขึ้น เข้มแข็งขึ้น และมีสุขภาวะที่ดีขึ้นสำหรับชาว LGBTQ และเพื่อน รวมถึงสนับสนุนและสร้างแรงบันดาลใจให้กับศิลปินรุ่นใหม่ที่จะลงมือสร้างความเปลี่ยนแปลงในทางบวกให้กับชาว LGBTQ โดยจัดแสดงและอนุรักษ์ผลงานที่สื่อสารไปยังสังคม
ผู้สนใจสามารถอ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://sunpride.hk/.
Facebook: https://www.facebook.com/sunpridefoundation/
Instagram: @SunprideFoundation
WeChat: @SunprideFoundation
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit