ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ เปิดเผยในโอกาสเข้าร่วมประชุมคณะทำงานด้านวิชาการ ครั้งที่ 1 ในฐานะหัวหน้าคณะฝ่ายไทย คณะกรรมการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย ร่วมกับประเทศสมาชิกอีก 3 ประเทศ ประกอบด้วย สปป.ลาว กัมพูชา และเวียดนาม เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2562 ที่ผ่านมา ณ กรุงเวียงจันทน์ เพื่อพิจารณาโครงไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนหลวงพระบาง ที่รัฐบาลสปป.ลาว ได้เสนอนำเข้าสู่กระบวนการตามระเบียบปฏิบัติเรื่อง การแจ้ง การปรึกษาหารือล่วงหน้า และข้อตกลง หรือ PNPCA ในการใช้น้ำร่วมกันในแม่น้ำโขงเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2562 ซึ่งระเบียบปฏิบัติดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประเทศสมาชิกได้แสดงความคิดเห็นและข้อยุติร่วมกัน พร้อมกับเสนอมาตรการและแนวทางในการลดผลกระทบข้ามพรมแดน
สำหรับโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเขื่อนหลวงพระบางเป็นโครงการพัฒนาในลำน้ำโขงสายประธานลำดับที่ 5 ต่อจากโครงการไซยะบุรี ดอนสะโฮง ปากแบง และปากลาย ตามลำดับ เขื่อนหลวงพระบางจะเป็นเขื่อนผลิตไฟฟ้าแบบน้ำไหลผ่าน (Run-of-river Dam) ตัวสันเขื่อนมีความยาว 275 เมตร สูง 79 เมตร กว้าง 97 เมตร ขนาดกำลังผลิต 1,460 เมกะวัตต์ อยู่ในแม่น้ำโขงตอนบนของนครหลวงพระบางประมาณ 25 กิโลเมตร ซึ่งจากการประชุมดังกล่าว ที่ประชุมรับทราบผลการวิเคราะห์เอกสารเบื้องต้นในประเด็นด้านการเปลี่ยนแปลงปริมาณและการไหลของน้ำ การออกแบบทางปลาผ่าน ระบบนิเวศ เป็นต้น ซึ่งที่ประชุมมีมติเห็นชอบแผนการดำเนิน (Road map) ที่จะต้องดำเนินการเข้าสู่กระบวนการที่ต้องแจ้ง และรับฟังความเห็นจากประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากประเทศสมาชิกลุ่มน้ำโขง โดยมีระยะเวลาดำเนินงาน 6 เดือน คือ ตั้งแต่ 8 ตุลาคม 2562 และสิ้นสุดกระบวนการในวันที่ 7เมษายน 2563 ซึ่งแผนการดำเนินงานจะให้ความสำคัญในการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ทั้งในระดับภูมิภาคและภายในประเทศเพื่อเป็นการสร้างการรับรู้ ให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะเป็นประโยชน์ต่อไป
ทั้งนี้ ฝ่ายไทย โดย สทนช.จะเร่งดำเนินการจัดเวทีชี้แจงให้ข้อมูลโครงการแก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ประกอบด้วย ภาครัฐ ทั้งในส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน ประชาชน ประชาสังคม นักวิชาการ องค์กรด้านการพัฒนาและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และองค์กรพัฒนาเอกชน ในพื้นที่จังหวัดที่อยู่ริมลำน้ำโขง 8 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงราย เลย หนองคาย บึงกาฬ นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี เพื่อให้ข้อมูล สร้างความรู้ความเข้าใจตามกระบวนการ PNPCA รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ เพื่อรวบรวม ประเมินผล ประโยชน์และความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับโครงการพัฒนาไฟฟ้าพลังน้ำหลวงพระบาง ซึ่งอาจมีผลกระทบอย่างมีนัยยะสำคัญต่อระบบนิเวศของแม่น้ำโขงสายหลัก ข้อห่วงกังวลต่อผลกระทบต่าง ๆ ประกอบเป็นท่าทีของประเทศไทยเสนอต่อ สปป.ลาว ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการ ผ่านสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงโดยเร็วต่อไป
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit