บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด บริษัทในเครือการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และบริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) ร่วมจัดตั้งบริษัท Thai Digital Energy Development เพื่อพัฒนาธุรกิจพลังงานสะอาด ตอบรับกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยใช้นวัตกรรมช่วยในการบริหารจัดการ ผ่านธุรกิจลงทุนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ธุรกิจลงทุนระบบประหยัดพลังงานและบริหารจัดการพลังงาน และธุรกิจอื่นๆ ด้าน Digital Energy
นายเขมรัตน์ ศาสตร์ปรีชา รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทพีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เปิดเผยว่า "บริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เป็นบริษัทในเครือของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับโซลาร์รูฟท็อป เพื่อเพิ่มทางเลือกในการให้บริการกับลูกค้า
จากการที่ความต้องการใช้พลังงานสะอาดทั้งในระดับโลกและระดับประเทศมีแนวโน้มสูงขึ้น ผนวกกับต้นทุนของการผลิตพลังงานทดแทนที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนสามารถเข้าสู่มือผู้บริโภคได้มากขึ้น นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงของการผลิตไฟฟ้าจากแบบรวมศูนย์ (Centralized) สู่การบริหารจัดการระบบไฟฟ้าจากแหล่งผลิตขนาดเล็กแบบกระจายศูนย์ (Decentralized) รวมถึงการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการบริหารจัดการ การนำเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) มาใช้ในการซื้อขายพลังงานไฟฟ้าระหว่างผู้บริโภค ฯลฯ ทำให้กฟภ. ตระหนักถึงความจำเป็นในการปรับเปลี่ยนเพื่อให้ทันกระแสโลก
โดยเมื่อเดือนมีนาคม 2561 กฟภ. ได้จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ โครงการส่งเสริมและพัฒนาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน (Premium Energy Management) เพื่อพัฒนาธุรกิจใหม่สำหรับตอบรับกระแสการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจ ร่วมกับ บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) ผู้นำธุรกิจพลังงานหมุนเวียนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคและหนึ่งในผู้บุกเบิกการนำนวัตกรรมระดับโลกมาใช้ในธุรกิจพลังงาน
จากการศึกษาภายใต้กรอบข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าว หน่วยงานทั้งสองได้เห็นความเป็นไปได้ในการพัฒนาธุรกิจพลังงานสะอาดร่วมกัน คณะกรรมการของบริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด จึงได้มีมติอนุมัติให้จัดตั้งบริษัท Thai Digital Energy Development ร่วมกับบริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) ขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์หลัก คือ
1) เพื่อส่งเสริมธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน สนับสนุน New Digital Business ผ่าน PEA Hero Platform ที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเป็นผู้พัฒนา
2) เพื่อส่งเสริมธุรกิจประหยัดพลังงาน และธุรกิจบริหารจัดการพลังงาน (ESCO) ในหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ และภาคเอกชน
3) เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ด้าน Digital Energy แบบครบวงจรเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภค"
ด้านนายบัณฑิต สะเพียรชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า "ควบคู่ไปกับการขยายธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน บีซีพีจีกำลังเริ่มทำการตลาดกับผู้บริโภคโดยตรงมากขึ้น เน้นการเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้กับผู้บริโภครายย่อย ช่วยเพิ่มทางเลือกในการผลิตพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้ด้วยตัวเองและประหยัดค่าใช้จ่าย โดยได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการบริษัทฯ ให้ร่วมลงทุนกับบริษัท พีอีเอ เอ็นคอม อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด จัดตั้งบริษัท Thai Digital Energy Development ขึ้น จากโอกาสในการทำธุรกิจต่างๆ ที่บริษัทฯ ได้วางแผนธุรกิจเบื้องต้นไว้รองรับ เช่น
1) โครงการพัฒนาธุรกิจเป็น Aggregator รับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน และขายให้กับผู้ใช้ไฟฟ้ารายอื่นๆ ผ่านเทคโนโลยีบล็อกเชน
2) โครงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ต่อยอดจากโครงการผลิตไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop) พร้อมระบบบริหารจัดการพลังงานและแลกเปลี่ยนไฟฟ้าในกลุ่มอาคาร ร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ของบริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) ที่เริ่มดำเนินการเพื่อการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าไปแล้ว ขนาดกำลังการผลิตติดตั้งประมาณ 12 เมกะวัตต์
3) โครงการร่วมกับผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายอื่นๆ อาทิ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) บริษัท เอสซี แอสเสท จำกัด (มหาชน) ที่มีความร่วมมือกับบริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) ในการนำเทคโนโลยีด้านพลังงานมาใช้ร่วมกับผู้อยู่อาศัยภายในโครงการ เป็นต้น"
นายเขมรัตน์กล่าวต่อว่า "Thai Digital Energy Development เป็นบริษัทที่ผมมีความมั่นใจและภาคภูมิใจ ด้วยรากฐานมั่นคงจากความมีเสถียรภาพของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคผนวกกับความคล่องตัวของบีซีพีจี มีการบริหารจัดการโดยผู้บริหารและพนักงานที่มีความสามารถ มีเป้าหมายในการทำธุรกิจที่ชัดเจน ช่วยสร้างโอกาสในการให้บริการผู้บริโภคที่ดีขึ้นของกฟภ. และพีอีเอ เอ็นคอม เริ่มจากการนำเสนอทางเลือกในการใช้พลังงานสะอาด สู่การนำเทคโนโลยีมาใช้ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่กำลังมีบทบาทมากขึ้น ไม่เป็นเพียงผู้บริโภคแต่เพียงอย่างเดียวอีกต่อไป สู่การสร้างสรรค์ smart community ด้วยนวัตกรรมต่างๆ ที่จะทำให้ไฟฟ้าเป็นเรื่องใกล้ตัวผู้บริโภคยิ่งขึ้น สามารถใช้ application และ smart devices ในการผลิตและจัดการพลังงานสะอาดได้ด้วยตนเอง"
"ด้วยแนวคิด Democratization of Energy บีซีพีจีเชื่อว่าทุกคนมีเสรีภาพในการเลือกใช้และจัดการพลังงาน การร่วมจัดตั้งบริษัท Thai Digital Energy Development กับพีอีเอ เอ็นคอมของเรา มีพาวเวอร์ เล็ดเจอร์ พันธมิตรในธุรกิจ Digital Energy จากประเทศออสเตรเลียเป็นผู้ร่วมพัฒนานวัตกรรมต่างๆ มาใช้ในการบริหารจัดการการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ก่อให้เกิดของเสียในระบบ ส่งเสริม Circular Economy อีกทั้งยังช่วยสนับสนุนการอนุรักษ์และประหยัดพลังงานเพื่อประโยชน์ของผู้บริโภคและประเทศชาติในภาพรวม เป็นนวัตกรรมแห่งการใช้พลังงานอย่างยั่งยืน" นายบัณฑิตกล่าวเสริม
Thai Digital Energy Development มีทุนจดทะเบียนเริ่มต้น 200 ล้านบาท มีแผนการลงทุนเบื้องต้นด้วยการลงทุนในธุรกิจพลังงานทดแทนแบบ Decentralized Distribution และธุรกิจดิจิทัลสำหรับอุตสาหกรรมพลังงาน ซึ่งสำหรับปี 2562 จะเริ่มจากความร่วมมือโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคากับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่กำลังการผลิต 12 เมกะวัตต์เป็นโครงการแรก
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit