วันศุกร์ที่ 7 มิถุนายน 2562 ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ดร.นรินทร์ หิรัญสุทธิกุล รองอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พร้อมด้วย นายนิวัฒน์ งามธุระ ปลัดจังหวัดน่าน เป็นประธานพิธีเปิดการประชุมระดมความคิด เรื่อง "การพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ในพื้นที่จังหวัดน่าน" ณ ห้องประชุมชั้น 1 อาคารวิชชาคาม 2 ศูนย์การเรียนรู้และบริการวิชาการเครือข่ายแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จังหวัดน่าน เพื่อหารือแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่จังหวัดน่านในการผลักดันและยกระดับคุณภาพการท่องเที่ยวสู่ชุมชน
ศาสตราจารย์ นายแพทย์ ดร.นรินทร์ หิรัญสุทธิกุล รองอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า โครงการการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ในพื้นที่จังหวัดน่าน ถือเป็นหนึ่งในงานวิจัยของเครือข่ายวิชาการของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่บูรณาการศาสตร์ ความรู้และความเชี่ยวชาญต่าง ๆ มีเป้าหมายหลักให้เกิดการพัฒนายกระดับคุณภาพด้านการท่องเที่ยวสู่ชุมชน โดยใช้องค์ความรู้และนวัตกรรมเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน
"มิติใหม่ของการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวในระยะต่อไป ควรจะให้ความสำคัญกับการเติบโตในเชิงคุณภาพ มากกว่าการเพิ่มของจำนวนตัวเลขนักท่องเที่ยว เพื่อให้เกิดความยั่งยืนของภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจช่วยสร้างรายได้ให้กับประเทศ และกระจายรายได้จากการท่องเที่ยวลงสู่เมืองรองและชุมชน"
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยสถาบันเอเชียศึกษา ได้จัดทำโครงการการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ (Development of Creative Tourism) โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนจากโครงการสร้างเสริมพลังจุฬาฯ ก้าวสู่ศตวรรษที่ 2 จำนวน 54.4 ล้านบาท ประกอบด้วยชุดโครงการ 2 ชุด ได้แก่ ชุดโครงการที่ 1 การพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ในพื้นที่จังหวัดน่าน ชุดโครงการที่ 2 การพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์เพื่อสังคมพหุวัฒนธรรม โดยมีระยะเวลาดำเนินโครงการ 3 ปี ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2562 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2565
สำหรับโครงการชุดที่ 1 พื้นที่จังหวัดน่าน ประกอบด้วย 8 โครงการย่อย ซึ่งคณะผู้วิจัยจะทำการศึกษาการพัฒนาการท่องเที่ยวในจังหวัดน่านในบริบทเชิงธรรมชาติ สุขภาพและวัฒนธรรมเพื่อให้เกิดการท่องเที่ยว การผลิตสินค้าและบริการรูปแบบใหม่ โดยใช้ภูมิปัญญาและต้นทุนทางวัฒนธรรมเป็นตัวขับเคลื่อน เพื่อให้ชุมชนมีรายได้อย่างยั่งยืนและพึ่งพาตนเองได้ รวมถึงทำการศึกษาและรวบรวมข้อมูลเพื่อยกระดับและเพิ่มศักยภาพของการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ ทั้งในด้านการจัดการขนส่งเพื่อการท่องเที่ยวในจังหวัดน่าน การประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ในจังหวัดน่าน การจัดการท่องเที่ยวเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวอิสระชาวจีนที่จะมาท่องเที่ยวในจังหวัดน่านเพิ่มขึ้นเมื่อการเดินทางระหว่างน่านและหลวงพระบางสะดวกขึ้นในอนาคตอันใกล้
ส่วนโครงการชุดที่ 2 ดำเนินการในพื้นที่ครอบคลุมฝั่งอันดามัน ประกอบด้วย 4 โครงการย่อย โดยจะทำการศึกษาและรวบรวมข้อมูลด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเบื้องต้นเกี่ยวกับชาวเล คนไทยพลัดถิ่น และกลุ่มชาติพันธุ์ในมะริด จัดทำเอกสารสื่อความหมายทางชาติพันธุ์และวัฒนธรรม พัฒนาเส้นทางท่องเที่ยว สร้างกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์และแหล่งเรียนรู้ในรูปแบบของศูนย์วัฒนธรรมหรือพิพิธภัณฑ์ ภายใต้กรอบแนวคิดการมีส่วนร่วมในชุมชน ยกระดับและเพิ่มศักยภาพของการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ด้วยการจัดการขนส่งเพื่อการท่องเที่ยวระหว่างอันดามันและเมียนมา รวมถึงส่งเสริมความเข้าใจเรื่องการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ของชุมชน และสร้างพื้นที่สื่อสารระหว่างชุมชน นักท่องเที่ยวและพื้นที่สาธารณะ
นายนิวัฒน์ งามธุระ ปลัดจังหวัดน่าน กล่าวว่า แนวทางการดำเนินของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัย มีความสอดคล้องกับแผนพัฒนาจังหวัดน่าน (พ.ศ. 2561 – 2565) ซึ่งได้กำหนดวิสัยทัศน์ให้จังหวัดน่านเป็น "เมืองแห่งความสุข เศรษฐกิจสร้างสรรค์ ธรรมชาติสมบูรณ์ การเกษตรมั่งคั่ง ชุมชนเข้มแข็ง ท่องเที่ยวยั่งยืน" โดยเฉพาะในยุทธศาสตร์ที่ 1 ด้านเศรษฐกิจ ส่งเสริมความมั่นคงทางเศรษฐกิจ โดยใช้องค์ความรู้และผลิตภัณฑ์ที่มีชื่อเสียงมาต่อยอดเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ระบบเศรษฐกิจ และยุทธศาสตร์ที่ 4 ด้านการท่องเที่ยว เน้นจุดมุ่งหมายปลายทางของการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ชุมชนมีรายได้จากการท่องเที่ยว เพิ่มมากขึ้น 5% มีการพัฒนาและเพิ่มศักยภาพแหล่งท่องเที่ยว รวมถึงการพัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ด้านการท่องเที่ยว เพื่อรองรับจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนการประชาสัมพันธ์ด้านการตลาดเพื่อเพิ่มการท่องเที่ยวนอกฤดูกาล ที่ผ่านมา ตัวเลขรายได้จากการท่องเที่ยวจังหวัดน่าน ในปี 2561 มีมูลค่า 2,666.09 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.25% เมื่อเทียบกับปี 2560 ซึ่งมีรายได้รวม 2,462.93 ล้านบาท
รองอธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ยังกล่าวด้วยว่า "โครงการการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ทั้งสองชุดโครงการ นอกจากจะสนับสนุนการขยายตัวของภาคการท่องเที่ยวตามนโยบายของภาครัฐแล้ว ยังมีเป้าหมายหลักให้เกิดการพัฒนายกระดับคุณภาพด้านการท่องเที่ยว ชุมชนมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ มีรายได้จากการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์เพิ่มมากขึ้น ภายใต้ทรัพยากรทางการท่องเที่ยว ทุนทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ผนวกเข้ากับนวัตกรรมที่เชื่อมโยงองค์ความรู้จากงานวิจัยในโครงการฯ นอกเหนือมิติด้านเศรษฐกิจ รวมถึงเมื่อสิ้นสุดจะมีโครงการวิจัยเพื่อการถอดบทเรียน และการผลักดันเชิงนโยบายเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน"
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit