ฟิลิปส์ ตระหนักถึงความสำคัญของเยาวชน เพราะถือเป็นต้นกล้าที่กำลังจะเติบโตไปเป็นกำลังสำคัญของสังคม ดังนั้น การปลุกฝังให้เยาวชนได้เห็นถึงความสำคัญของการช่วยชีวิตผู้อื่น ตามกำลังและความสามารถของตน จะช่วยให้สังคมไทยสามารถสร้างเครือข่ายสังคมแห่งการช่วยชีวิตได้อย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน โดยวิธีช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานนั้น เริ่มต้นได้ง่าย ๆ ด้วยการปั๊มหัวใจ หรือ CPR (Cardiopulmonary Resuscitation) ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ป่วยหมดสติและมีภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน ซึ่งโดยส่วนมากเราจะพบในกรณีฉุกเฉิน เช่น อุบัติเหตุ การออกกำลังกายหนักเกินไป การตกใจหรือพบเหตุการณ์ไม่คาดฝัน ทำให้หัวใจเกิดการทำงานผิดปกติ การสูญเสียเลือดมาก เลือดมาเลี้ยงหัวใจไม่ทัน ทางเดินหายใจอุดกั้น รวมทั้งอาจเกิดจากการได้รับยาเกินขนาดหรือแพ้ยา[1] ซึ่งสถิติจากสมาคมหัวใจอเมริกัน (American Heart Association: AHA) พบว่าการทำ CPR อย่างถูกวิธีสามารถช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิต (Survival Rate) ได้ถึง 3 เท่า
แพทย์หญิง พรรณอร เฉลิมดำริชัย ภาควิชาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า "อุบัติเหตุ หรือเหตุการณ์ฉุกเฉินที่มีผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้น เราทุกคนเจออยู่แล้วแทบจะทุกอาทิตย์ในข่าว ดังนั้น การมีความรู้เรื่องการทำ CPR จึงมีความสำคัญอย่างมาก โดยมีหลักฐานออกมาชัดเจนว่า ประชาชนในประเทศที่มีความรู้เรื่องการกู้ชีพเบื้องต้น จะมีอัตราการรอดชีวิตมากกว่าในประเทศที่ประชาชนยังไม่มีความรู้ในเรื่องนี้ ซึ่งในต่างประเทศก็มีการตื่นตัวกันมานาน และในประเทศไทย ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ก็เริ่มมีบุคคลากรทางการแพทย์ได้จัดทำการสอน CPR ขึ้น ทั้งในภาคส่วนของรัฐบาลและเอกชน เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนทุกคน และในอนาคตก็อยากที่จะให้บรรจุในหลักสูตรการเรียน ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย เพื่อให้ทุกคนมีความรู้พื้นฐานในการกู้ชีพเบื้องต้น รวมทั้งถ้าในประเทศของเรามีเครื่อง AED ซึ่งเป็นเครื่องมือที่สำคัญ ติดตั้งในทุกๆที่ที่เป็นสาธารณะหรือแหล่งชุมชน ห้างสรรพสินค้า สถานีขนส่งมวลชน หรือแม้กระทั่งสถานศึกษา และองค์กรใหญ่ๆทุกองค์กร ก็จะเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยจนกว่าจะถึงโรงพยาบาลมากขึ้นได้"
ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน สามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ทุกเวลา โดยกระทรวงสาธารณสุขระบุว่าโรคหัวใจเป็นสาเหตุสำคัญอันดับแรกของการเสียชีวิต ซึ่งสถิติล่าสุดของกระทรวงสาธารณสุข ณ วันที่ 16 กันยายน 2561 พบมีผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด 432,943 คน อัตราการเสียชีวิต 20,855 คน ส่วนใหญ่พบในช่วงอายุ 60 ปีขึ้นไป มีผู้ป่วยอยู่ราว 305,667 คน และเสียชีวิต 18,256 คน[2] แพทย์หญิง พรรณอร กล่าวเสริมว่า "กรณีของการเสียชีวิตส่วนใหญ่เกิดขึ้นในกรณีฉุกเฉิน เมื่อมีบุคคลที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้นโอกาสที่จะมีชีวิตอยู่รอดของพวกเขาจึงขึ้นอยู่กับการได้รับ CPR จากคนใกล้เคียงเนื่องจากแพทย์ต้องใช้เวลาจนกว่าจะมาถึงที่เกิดเหตุ"
ดังนั้น บริษัท ฟิลิปส์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้นำด้านเทคโนโลยีเพื่อสุขภาพ จึงได้จัดกิจกรรม "CPR 4 นาทีทอง… สติต้องพร้อม 2 แขนต้อง PUSH" ซึ่งเป็นกิจกรรมฝึกอบรมการช่วยชีวิตพื้นฐานด้วยการทำ CPR และการใช้เครื่อง AED ให้กับเยาวชนในระดับอุดมศึกษา เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการต่อยอดและขยายเครือข่ายสังคมแห่งการช่วยชีวิตตามปณิธานของบริษัท โดยได้รับความร่วมมือจากคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตบางเขน โดยในงานได้รับความสนใจจากน้อง ๆ เยาวชนจำนวนมาก
"4 นาทีทอง… สติต้องพร้อม 2 แขนต้อง PUSH"
ตามหลักแล้วหากสมองคนเราขาดออกซิเจนไปเลี้ยงเกินกว่า 4 นาที จะมีผลทำให้เกิดการสูญเสียของเซลล์สมองบางส่วนไปอย่างถาวร แม้หัวใจจะสามารถกลับมาเต้นใหม่ได้ในภายหลัง แต่สมองส่วนที่เสียหายไปแล้วจะทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถฟื้นคืนสติกลับมาได้สมบูรณ์ดังเดิมอีก ดังนั้น การช่วยชีวิตขั้นพื้นฐาน หรือที่เรียกว่า "CPR" จึงถือเป็นหนึ่งวิธีการที่จะยื้อชีวิตของผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้นกระทันหันได้เป็นอย่างดี โดยอาการหัวใจหยุดเต้นกระทันหันจะพบได้ทั้งในผู้ป่วยที่มีปัญหาโรคหัวใจมาก่อน หรือผู้ป่วยที่มีปัญหาโรคหัวใจวายเฉียบพลัน หากสามารถรู้ถึงวิธีการปฐมพยาบาลที่ถูกวิธี จะยิ่งเพิ่มโอกาสให้ผู้ป่วยรอดชีวิต ลดการบาดเจ็บได้อีก และการช่วยฟื้นคืนชีพจะได้ผลดี และหากให้ได้ผลดีจะต้องทำควบคู่กับการใช้เครื่องฟื้นคืนคลื่นหัวใจด้วยไฟฟ้าชนิดอัตโนมัติ หรือ AED ก็จะเพิ่มโอกาสรอดได้ถึง ร้อยละ 45[3]
5 ขั้นตอนเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตของผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้นนอกโรงพยาบาล
1. ประเมินสถานการณ์และแจ้งหน่วยแพทย์ฉุกเฉินให้เร็วที่สุด (Early Access)
2. ทำการนวดหัวใจที่มีคุณภาพอย่างทันท่วงที (Early CPR)
3. ใช้เครื่องกระตุกหัวใจด้วยไฟฟ้า ให้เร็วที่สุด (Early Defibrillation)
4. การช่วยฟื้นคืนชีพขั้นสูงอย่างมีคุณภาพ (Effective Advanced Life Support)
5. การดูแลหลังการช่วยฟื้นคืนชีพ (Post-Cardiac Arrest Care)
นายจักรกฤษณ์ นาคนิยม นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะศึกษาศาสตร์ ภาควิชาพลศึกษา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงความรู้สึกที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมฯ "กิจกรรม 4 นาทีทอง… สติต้องพร้อม 2 แขนต้อง PUSH นี้ ทำให้ผมได้เรียนรู้ถึงวิธีการทำ CPR และวิธีการใช้เครื่อง AED ที่ถูกต้องและเป็นวิธีการที่ไม่ยากอย่างที่คิด เพียงแค่เราต้องมีสติและความกล้า ผมเชื่อว่า ถ้าทุกคนได้เรียนรู้จากการอบรมในครั้งนี้เช่นเดียวกับผม ทุกคนก็สามารถที่จะเป็นผู้ที่ช่วยเหลือคนที่หัวใจหยุดเต้นให้กลับมามีชีวิตอีกครั้งได้เช่นกัน ตัวผมเองก็จะนำวิธีการ CPR ในครั้งนี้กลับไปฝึกฝนและเรียนรู้เพิ่มเติม เพื่อที่จะสามารถนำไปช่วยชีวิตคนได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นครับ"
ด้าน นางสาวธนพร ตั้งสัตย์สุจริต นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะศึกษาศาสตร์ ภาควิชาพลศึกษา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวว่า "การฝึกอบรมในวันนี้ ช่วยให้ดิฉันและเพื่อน ๆ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการช่วยชีวิต เพราะการเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินที่มีผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้น สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ทั้งกับคนในครอบครัว เพื่อน หรือแม้กระทั่งคนที่เราไม่รู้จัก ซึ่งช่วงเวลาเพียงเสี่ยวนาที ก็สามารถพรากชีวิตของคนที่เรารักไปได้ แต่หากเราทุกคนมีความรู้เรื่องการทำ CPR ควบคู่กับรู้วิธีการใช้เครื่อง AED ที่ถูกต้องและเป็นเรื่องที่ทุกคนสามารถทำได้ง่าย ๆ ก็จะช่วยเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตของคนที่เรารักหรือคนรอบข้างได้ และหวังว่าจะมีกิจกรรมดีๆแบบนี้จัดขึ้นอีก ทั้งในสถานศึกษาและแหล่งชุมชนต่าง ๆ เพื่อเพิ่มความรู้ของคนไทยทุกคนให้สามารถช่วยชีวิตคนที่เรารักและคนรอบข้างได้ค่ะ"
เกี่ยวกับ รอยัล ฟิลิปส์
รอยัล ฟิลิปส์ (NYSE: PHG, AEX: PHIA) เป็นบริษัทชั้นนำด้านเทคโนโลยีเพื่อสุขภาพ มุ่งเน้นการพัฒนาด้านสุขภาพของผุ้คนให้ดีขึ้น และการเสริมสร้างสุขภาพแบบครบวงจร ตั้งแต่ความเป็นอยู่ที่ดี การป้องกัน การตรวจวินิจฉัย การรักษา และการดูแลรักษาตัวเองที่บ้าน ฟิลิปส์ได้นำเทคโนโลยีขั้นสูง ข้อมูลเชิงลึกทางคลีนิก และความต้องการของผู้บริโภค มาพัฒนาเพื่อส่งมอบโซลูชั่นที่ครบวงจร ฟิลิปส์ เป็นผู้นำระดับโลกด้านนวัตกรรมการตรวจวินิจฉัยและการรักษาด้วยภาพนำวิถี เครื่องตรวจวัดชีพจรผู้ป่วย และสารสนเทศด้านสุขภาพ รวมถึงนวัตกรรมเพื่อการดูแลสุขภาพของผู้บริโภคและการดูแลรักษาที่บ้าน สำนักงานใหญ่ฟิลิปส์ตั้งอยู่ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยในปี พ.ศ. 2559 พอร์ทโฟลิโอด้านเทคโนโลยีเพื่อสุขภาพของฟิลิปส์ สร้างยอดขายได้ถึง 17.4 พันล้านยูโร โดยฟิลิปส์ดำเนินธุรกิจอยู่ในทั่วโลกมากกว่า 100 ประเทศ และมีพนักงานประมาณ 71,000 คน 100 ประเทศทั่วโลก สามารถติดตามข่าวสารฟิลิปส์เพิ่มเติมได้ที่ www.philips.com/newscenter