กระทรวงดิจิทัลฯ ลงพื้นที่ภาคอีสาน ขานรับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 เร่งผลักดัน “เครือข่ายเน็ตอาสาประชารัฐ”

14 Dec 2018
กระทรวงดิจิทัลฯ ลงพื้นที่ภาคอีสาน ขานรับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 เร่งผลักดัน "เครือข่ายเน็ตอาสาประชารัฐ" พัฒนาคนในหมู่บ้านเป็นอาสาสมัครนำดิจิทัลส่งเสริมการใช้ประโยชน์-ขับเคลื่อนต่อยอดสร้างการเปลี่ยนแปลงหมู่บ้านเน็ตประชารัฐทั้ง 24,700 หมู่บ้าน เชื่อเน็ตอาสาประชารัฐช่วยกระตุ้นพัฒนาจุดแข็ง สร้างโอกาสและมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและสังคมให้กับหมู่บ้านและชุมชน
กระทรวงดิจิทัลฯ ลงพื้นที่ภาคอีสาน ขานรับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 เร่งผลักดัน “เครือข่ายเน็ตอาสาประชารัฐ”

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวเนื่องในโอกาศเป็นประธานเปิดงาน"การพัฒนาเครือข่ายเน็ตอาสาประชารัฐ"ที่โรงแรมรอยัลนาคารา และคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ อำเภอเมืองหนองคาย จังหวัดหนองคาย ช่วงครม.สัญจร เมื่อวันที่ 11-13 ธันวาคม 2561 ว่า "การพัฒนาเครือข่ายเน็ตอาสาประชารัฐ" โดยสร้างบุคลากรในพื้นที่ เป็นตัวแทนอาสาสมัครจากหมู่บ้านในพื้นที่เน็ตประชารัฐ เพื่อเป็นกลไกพัฒนาและส่งเสริมการใช้ดิจิทัลขับเคลื่อนสร้างการเปลี่ยนแปลงหมู่บ้านเน็ตประชารัฐทั้ง 24,700 หมู่บ้าน โดยมีนางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นาวาอากาศเอก สมศักดิ์ ขาวสุวรรณ์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ดร.มนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีโอที นางพิมพ์วิมล วงษ์สุวรรณ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีโอที และนายประยุตต์ บุญญาศิริ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีโอที ร่วมพิธีเปิดในครั้งนี้

สำหรับ "เครือข่าย เน็ตอาสาประชารัฐ" จะเป็นเครือข่ายอาสาสมัครขนาดใหญ่ระหว่างภาคประชาชนและภาครัฐ ในการร่วมกันส่งเสริมให้เกิดการใช้ประโยชน์จากโครงข่ายประชารัฐ เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของรัฐบาล ซึ่งกระทรวงดิจิทัลฯ เร่งผลักดันด้วยการพัฒนาสร้างบุคลากรและผู้สนใจทั่วไป ร่วมเป็นตัวแทนอาสาสมัครจากหมู่บ้านในพื้นที่โครงการเน็ตประชารัฐ หมู่บ้านละ 1 คน เพื่อทำหน้าที่นำดิจิทัลไปพัฒนาและขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงหมู่บ้านเน็ตประชารัฐทั้ง 24,700 หมู่บ้าน

ทั้งนี้ในการพัฒนาเครือข่ายเน็ตอาสาประชารัฐจะมีการอบรมให้กับอาสาสมัครทั่วประเทศจำนวน 77 ครั้ง ระหว่างพฤศจิกายน 2561 ถึงกุมภาพันธ์ 2562 ซึ่งที่ผ่านมากระทรวงฯ ได้จัดอบรมไปแล้วจำนวน 11 รุ่น ปัจจุบันมีเน็ตอาสาประชารัฐ 1,851 คน ในครั้งนี้เป็นการอบรมรุ่นที่ 12 ในพื้นที่จังหวัดหนองคาย ซึ่งมีผู้อาสาทำหน้าที่เป็นเน็ตอาสาประชารัฐครบทุกหมู่บ้านในพื้นที่เน็ตประชารัฐถึง 179 คน

หัวใจสำคัญของ "เครือข่ายเน็ตอาสาประชารัฐ" คือการแลกเปลี่ยนและสร้างเครือข่ายการพัฒนาดิจิทัลในระดับหมู่บ้าน สร้างเครือข่ายการทำงานร่วมกัน การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ความร่วมมือ หรือศึกษาดูงานระหว่างกัน เพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้ประโยชน์จากโครงข่ายเน็ตประชารัฐ พร้อมกันนี้กระทรวงฯ ได้พัฒนาแอปพลิเคชั่น "เครือข่าย เน็ตอาสาประชารัฐ" เพื่อเป็นเครื่องมือสนับสนุนการทำงานของเครือข่ายในการสื่อสาร การแจ้งปัญหา การแจ้งข่าวสารกิจกรรมเพื่อถ่ายทอดให้กับประชาชนในหมู่บ้าน อาทิ วิธีการหาข้อมูลข่าวสารบนอินเทอร์เน็ต การขายของออนไลน์ การพยากรณ์อากาศ การเกษตร การดูแลสุขภาพ เป็นช่องทางในการแจ้งความต้องการของพื้นที่ รวมถึงเป็นช่องทางในการแจ้งเหตุข้อขัดข้องได้ทันที โดยไม่ต้องยกหูโทรศัพท์และสามารถติดตามสถานการณ์แก้ไขได้ รวมถึงเป็นช่องทางการติดต่อสื่อสารกับเครือข่ายในพื้นที่อื่นที่เกี่ยวข้องได้สะดวกยิ่งขึ้นนอกจากนี้ แอปพลิเคชั่น "เครือข่ายเน็ตอาสาประชารัฐ" ยังใช้เป็นช่องทางในการประชาสัมพันธ์กิจกรรมของหมู่บ้าน ของดี สินค้า เรื่องเล่า สถานที่ท่องเที่ยวผ่านแอปพลิเคชั่น โดยเชื่อมโยงกับเว็บไซต์ netpracharat.com

ด้านนางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันกระทรวงดิจิทัลฯ เร่งสร้างการรับรู้การใช้ประโยชน์โครงข่ายเน็ตประชารัฐผ่านกิจกรรมต่าง ๆ แก่ประชาชนในพื้นที่โครงการครบทุกหมู่บ้านมากกว่า 1 ล้านคน ขณะนี้มีผู้ลงทะเบียนและใช้งานบริการ WiFi จากโครงข่ายเน็ตประชารัฐ แล้วกว่า 5 ล้านคน

"เชื่อว่าการอบรมเครือข่ายเน็ตอาสาประชารัฐ สามารถให้ความรู้ความเข้าใจที่ชัดเจนยิ่งขึ้น อีกทั้งบุคคลเหล่านี้จะทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียง ในการชี้แจงทำความเข้าใจเกี่ยวกับเน็ตประชารัฐ บทบาท ภารกิจ และความสำคัญของเน็ตอาสาประชารัฐ รวมถึงการดูแลรักษาอุปกรณ์เน็ตประชารัฐในหมู่บ้าน เพื่อให้อุปกรณ์ในหมู่บ้านพร้อมใช้งานและให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ"

นอกจากนี้ในส่วนการใช้งานแอปพลิเคชั่น "เครือข่ายเน็ตอาสาประชารัฐ" ซึ่งเป็นเครื่องมือสำหรับใช้ในการติดต่อสื่อสารรับส่งข้อมูลระหว่างกระทรวงดิจิทัลฯ หน่วยงานรัฐ และเครือข่ายเน็ตอาสาประชารัฐ จะเป็น Big data ของชุมชน และยังเป็นช่องทางในการเข้าถึงองค์ความรู้ และการเรียนรู้ออนไลน์จากสถาบันการศึกษาต่าง ๆ สามารถต่อยอดการใช้เน็ตประชารัฐในการสร้างโอกาส และมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและสังคมให้กับหมู่บ้าน

ส่วน ดร.บุญฤทธิ์ อดิพัฒน์ นักวิชาการคอมพิวเตอร์ ชำนาญการ สำนักงานปลัดกระทรวงดิจิทัล เพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า จุดบริการเน็ตประชารัฐ จำนวน 24,700 หมู่บ้าน ซึ่งกระทรวงฯ ได้วางระบบที่มีมาตรฐานระดับสากลคอยตรวจสอบและควบคุมคุณภาพ การให้บริการพร้อมด้วยวิศวกรและเจ้าหน้าที่ของทีโอทีที่พร้อมปรับปรุงคุณภาพ ให้ประชาชนพึงพอใจ และเกิดความมั่นใจในคุณภาพของโครงการเน็ตประชารัฐ สำหรับคุณภาพการให้บริการ Wi-Fi สาธารณะ มีความพร้อมในการให้บริการ มากถึง 99% หากประชาชนผู้ใช้บริการ Wi-Fi ท่านใดประสบปัญหาในการใช้บริการสามารถโทรหมายเลข 1111 กด 88 เพื่อแจ้งปัญหาหรือข้อสงสัยได้ตลอด 24 ชั่วโมง

ทั้งนี้ โครงการ เน็ตประชารัฐ เป็นโครงการที่กระทรวงดิจิทัลฯ เร่งผลักดันเนื่องจากเป็นโครงการสำคัญของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ของประเทศไทย ที่มีนโยบายให้ประเทศไทยก้าวเข้าสู่ ประเทศแห่ง การพัฒนา หรือ ไทยแลนด์ 4.0 บนวิสัยทัศน์ มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ซึ่งทาง กระทรวงดิจิทัลฯ ได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และสังคม ผลักดันให้เกิด โครงการยกระดับ โครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ หรือโครงการ "เน็ตประชารัฐ" ขึ้น เพื่อลด ความเหลื่อมล้ำ และสร้างโอกาสในการเข้าถึงโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง และเทคโนโลยีดิจิทัล รวมทั้งการบริการของภาครัฐให้กับประชาชนในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ

HTML::image(