การบริโภคภาคเอกชน (C)
เติบโตโดดเด่นในปี 2561 ราวร้อยละ 5 ซึ่งเกิดขึ้นไม่บ่อยนักที่การบริโภคภาคเอกชนโตเร็วกว่า GDP โดยภาพรวมแม้จะพอหวังได้บ้าง แต่เมื่อดูองค์ประกอบด้านใน กลับพบว่าเกิดจากปัจจัยชั่วคราว คือการซื้อรถยนต์ สัดส่วนการบริโภครถยนต์อยู่ที่ราวร้อยละ 5 และเติบโตเกือบร้อยละ 20 จากปีก่อน อาจเป็นเพราะถึงรอบการเปลี่ยนรถหลังสิ้นสุดนโยบายรถคันแรกเมื่อ 5 ปีก่อน หรือเพราะกำลังซื้อของคนระดับกลาง-บนยังดี แต่ต้องเข้าใจว่าเราไม่ได้เปลี่ยนรถกันทุกปี สุดท้ายการเติบโตของยอดการขายรถก็จะลดลง คาดว่าจะถึงจุดสูงสุดไตรมาสแรกปี 62 ส่วนจะหวังพึ่งการบริโภคตัวอื่นเพื่อทดแทนก็ยาก เพราะที่ผ่านมา การบริโภคกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับชีวิตคนไทยระดับกลาง-ล่าง โตน้อยหรือติดลบกันไปหมด เช่น อาหาร เครื่องดื่ม และ เสื้อผ้า ส่วนที่พอหวังได้เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว เช่น ร้านอาหาร โรงแรม และการขนส่ง ด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวที่คาดว่าจะฟื้นตัวต้นปีหน้า แต่ก็ไม่น่าจะเติบโตแรงเหมือนช่วงครึ่งแรกปีนี้ ก่อนเกิดเหตุการณ์เรือล่มที่ภูเก็ตจนนักท่องเที่ยวจีนหาย
การลงทุนภาคเอกชน (I)
พอคาดหวังได้บ้าง จากสัญญาณการลงทุนที่ชัดเจนขึ้นกว่าในอดีต เช่น การนำเข้าสินค้าทุนประเภทเครื่องจักร อาจเพื่อทดแทนแรงงานขาดแคลน หรือเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต แต่การลงทุนภาครัฐมีความผันผวนมาก โดยเฉพาะการก่อสร้างภาครัฐที่ล่าช้า และหากโครงการสำคัญถูกเลื่อนออกไป อาจกระทบต่อความเชื่อมั่นภาคเอกชนปีหน้า
การบริโภคภาครัฐ (G)
แม้เติบโตเพียงร้อยละ 2 แต่เริ่มมีนโยบายเพิ่มสวัสดิการให้คนสูงอายุและคนจน เห็นได้ว่าส่วนการโอนเงินจากรัฐสู่ประชาชนเติบโตสูง แต่ต้องเข้าใจว่า การแจกเงินช่วยค่าใช้จ่ายเหล่านี้เป็นเพียงการช่วยประคองคนกลุ่มระดับล่างไม่ให้มีปัญหาเศรษฐกิจหนักไปกว่านี้ โดยเฉพาะช่วงหลายปีมานี้ที่รายได้ภาคเกษตรหดตัว แม้จะพลิกเป็นบวกได้ในปีนี้ แต่การกระจายตัวในกลุ่มภาคเกษตรยังไม่ทั่วถึง ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรโดยมากยังลดลง ซึ่งมาตรการนี้คงไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ หากไม่สามารถเพิ่มความสามารถของคนเหล่านี้ในการหารายได้เองในระยะยาว เช่นร่วมกับการฝึกอาชีพ หรือหาตลาดสำหรับสินค้าเกษตรเพื่อเพิ่มรายได้ ลดค่าใช้จ่ายหรือตัดตัวแทนคนกลางออกด้วยการขายตรง
การส่งออกสุทธิ X-M
เป็นพระเอกของเศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งแรกของปี 61 แต่กลับอ่อนแรงลงช่วงไตรมาสสาม จากการส่งออกที่หดตัวในเดือนกันยายน และจากรายได้ภาคการท่องเที่ยวที่ชะลอตัว มองไปข้างหน้าปี 2562 สำนักวิจัยฯคาดว่าการส่งออกยังคงเติบโตได้ราวร้อยละ 3-4 จากเศรษฐกิจโลกที่ยังคงเติบโตได้ต่อเนื่อง แม้จะชะลอไปบ้างจากปัญหาสงครามการค้าและการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน แต่เมื่อปัญหาต่างๆ มีความชัดเจนมากขึ้นแล้วก็น่าจะช่วยสนับสนุนการค้าโลกได้ต่อเนื่อง ปัจจัยเสี่ยงอีกด้านคือสต๊อกสินค้าที่สูงปีนี้ก่อนสงครามการค้า อาจกดดันการนำเข้าของประเทศคู่ค้าในปีหน้า ซึ่งจะมีผลให้การส่งออกไทยโตช้า ส่วนการท่องเที่ยวนั้น คาดว่านักท่องเที่ยวจีนจะกลับมาเติบโตได้ในช่วงต้นปีหน้า เรามองว่าคนจีนยังคงมีทัศนคติที่ดีต่อประเทศไทย แต่ที่หายไปเพราะอาจยังมีความวิตกกังวลด้านความปลอดภัย แต่แม้จะกลับมาเติบโตได้ ก็คงไม่เร่งแรงเหมือนในอดีต
คาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจ - มุมมองค่าเงินและดอกเบี้ย
สำนักวิจัยฯคาดว่า เศรษฐกิจไทยปี 61 จะขยายตัวได้ร้อยละ 4.0 และจะชะลอลงไปที่ร้อยละ 3.7 ในปี 62 แม้จะลดลงและยังต่ำกว่าศักยภาพการเติบโตในระยะยาวของประเทศ แต่นับว่ายังสูงกว่าช่วงหลายปีก่อนหน้า
ด้านค่าเงินบาท คาดว่าจะกลับมาแข็งค่าเล็กน้อยเทียบดอลลาร์สหรัฐ โดยประมาณการค่าเงินบาทปลายปี 61 ที่ระดับ 32.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และปี 62 ที่ระดับ 32.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ปัจจัยสำคัญคือการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดที่ยังสูง และความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่น่าจะเพิ่มขึ้นในตลาดเกิดใหม่จากความชัดเจนของการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐ ซึ่งคาดว่าจะขึ้นน้อยกว่าที่ตลาดคาด จากภาวะเงินเฟ้อในสหรัฐที่ไม่น่าจะเร่งแรง
ด้านอัตราดอกเบี้ย มีโอกาสสูงที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะขึ้นดอกเบี้ย 2 ครั้งในอีก 12 เดือนข้างหน้า ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายปลายปี 62 อยู่ที่ร้อยละ 2.00
ส่วนคำถามว่าจะเริ่มขึ้นเมื่อไหร่ จะเดือนธันวาคมนี้หรือจะรอมีนาคมปีหน้าเรามองว่าไม่สำคัญนัก ขึ้นอยู่กับว่าเสียงส่วนใหญ่ของกนง. กังวลอะไร หากกังวลเรื่องการเติบโตที่ยังช้าและมีความเสี่ยง ก็จะรอตัวเลข GDP ไตรมาสสี่ 61 ซึ่งสภาพัฒน์จะรายงานตัวเลขช่วงเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า ก่อนตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยเดือนมีนาคม กรณีกนง.กังวลเรื่องเสถียรภาพตลาดเงินที่มีความเสี่ยงจากดอกเบี้ยต่ำนาน ทำให้นักลงทุนเข้าถือสินทรัพย์เสี่ยงมากเกินไปและประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร อีกทั้งทางกนง. อาจเตรียมสะสมขีดความสามารถในการดำเนินนโยบาย หรือ policy space ด้วยการขึ้นดอกเบี้ยสะสมไว้ใช้ลดเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเมื่อถึงคราวจำเป็น ก็อาจขึ้นดอกเบี้ยเดือนธันวาคมนี้ เพื่อส่งสัญญาณดอกเบี้ยขาขึ้นให้ชัด และหาจังหวะขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งกลางปี 62
"เราให้น้ำหนักกรณีแรก คือ การรอดูตัวเลขเศรษฐกิจ โดยมองดอกเบี้ยที่ร้อยละ 1.50 ในปีนี้ และขึ้นครั้งแรกเดือนมีนาคม 61 ส่วนอีกครั้งในช่วงไตรมาสสามปี 62 การขึ้นดอกเบี้ยในรอบนี้ไม่ว่าจะขึ้นช้าหรือเร็วก็ไม่น่ากระทบการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไทย เพราะเป็นการขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่รวดเร็วเหมือนในอดีต" ดร.อมรเทพ กล่าว
โอกาสและความท้าทายในปี 2562
ปี 2562 เต็มไปด้วยโอกาสและความท้าทาย เพียงแต่ทั้งคู่นั้นเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน เช่น ตลาดเกิดใหม่จะยังคงผันผวนเหมือนปีนี้หรือไม่ หรือเมื่อการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐชัดเจนแล้วว่าไม่รีบขึ้น เงินก็น่าจะไหลกลับเข้ามาในตลาดเกิดใหม่ กรณีการแยกตัวจากสหภาพยุโรปของอังกฤษจะเรียบร้อยดี หรือส่งผลให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจ และอาจลามไปสู่ยุโรป แม้ยูโรโซนเองจะสงบขึ้น แต่ปัญหาหนี้ภาครัฐของอิตาลียังสูงและจะเป็นชนวนให้เกิดวิกฤติหนี้ครั้งใหญ่หรือไม่ โดยสรุป เราอยากบอกนักลงทุนว่า อย่าไปตกใจกับปัญหาต่างๆ มากเกินไป เพราะปัญหาเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ เราได้เผชิญกันมาแล้วและผ่านพ้นไปได้ แต่มีโอกาสและความท้าทายอยู่ 3 ประเด็นที่ต้องพิจารณาให้ดีในปีหน้าและปีถัดๆ ไป แต่เราเห็นเป็นโอกาสมากกว่าความท้าทายหรือความเสี่ยง
1. สงครามการค้ายังไม่จบ
แม้ประธานาธิบดีทรัมป์จะตกลงกับประธานาธิบดีสีจิ้นผิง เพื่อเลื่อนการขึ้นภาษีนำเข้าจากร้อยละ 10 เป็นร้อยละ 25 ไปอีก 90 วัน แต่ไม่ได้แปลว่าสงครามการค้ายุติลง มองต่อไปข้างหน้า สงครามการค้าอาจเปลี่ยนรูปแบบจากการใช้ภาษีนำเข้าเป็นการกีดกันการค้าที่ไม่ใช่ภาษี หรือ Non-tariff barriers (NTB) เช่น กฎระเบียบการลงทุน การแก้ปัญหาทรัพย์สินทางปัญญา และการใช้ค่าเงินอ่อนเพิ่มขีดความสามารถการส่งออก ซึ่งไทยและตลาดเกิดใหม่ในอาเซียนอาจได้รับผลกระทบจากการแผ่อิทธิพลของทุนจีน ที่ระบายกำลังการผลิตส่วนเกินในประเทศ ส่วนความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับจีนคงยากที่จะหาทางออกได้ เพราะหากสงบศึก และปล่อยให้เป็นไปดังเช่นที่ผ่านมา ภายในปี 2568 หรืออีกไม่เกิน 7 ปี เศรษฐกิจจีนจะมีขนาดใหญ่กว่าเศรษฐกิจสหรัฐ เพราะจีนการเติบโตรวดเร็ว แม้จะชะลอต่ำกว่าร้อยละ 6 ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า แต่ยังสูงกว่าการเติบโตของสหรัฐที่ราวร้อยละ 2 ซึ่งสหรัฐคงยอมไม่ได้หากต้องกลายเป็นเบอร์ 2 ทางเศรษฐกิจโลก ซึ่งการตอบโต้ของสหรัฐคือการกดดันจีนไม่ให้สามารถเติบโตได้เร็ว ด้วยการขัดขวางการที่จีนจะเป็นใหญ่ด้านเทคโนโลยี ซึ่งการจำกัดการส่งออกของจีนก็จะเป็นหนึ่งในแนวทางที่สหรัฐจะทำต่อไป
2. คาดผลการเลือกตั้งกับเศรษฐกิจไทย – ความเสี่ยงของรัฐบาลเสียงข้างน้อย
การเมืองมีผลต่อเศรษฐกิจ ผ่านความเชื่อมั่นนักลงทุนและผู้บริโภค และนโยบายภาครัฐที่ใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แม้วันนี้เราไม่ได้ประเมินผลกระทบของการเลือกตั้งในมุมมองเศรษฐกิจ แต่อยากฝากนักลงทุนให้ลองคิดตามว่าความไม่แน่นอนทางการเมืองอาจมีผลต่อการตัดสินใจในการลงทุนและการบริโภคได้ ซึ่งการเลือกตั้งที่คาดว่าจะมีขึ้นในวันที่ 24 กุมภาพันธ์นี้ จะเป็นผลบวกต่อเศรษฐกิจไทยในระยะยาว ที่ประเทศไทยจะได้รับการยอมรับจากชาติตะวันตก และสามารถเจรจาการค้าเสรี FTA กับยุโรปได้สะดวกขึ้น จะมีการลงทุนจากต่างชาติมากขึ้น โดยเฉพาะในเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC แต่ในระยะสั้น อาจมีความผันผวนได้หากนักลงทุนมีความไม่ชัดเจนกับผลการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญใหม่ที่กำหนดให้วุฒิสมาชิก 250 คนร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 500 คน โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ซึ่งหากพรรคการเมืองมีคะแนนเสียงรวมกันได้เกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนฯ หรือ 250 เสียง และเมื่อได้เสียงสนับสนุนจากวุฒิสมาชิกแล้ว คะแนนเสียงเกินครึ่งของทั้งสองสภา หรือ 375 เสียง ก็จะเป็นรัฐบาลที่มีเอกภาพ และมีเสถียรภาพพอจะผ่านร่างกฎหมายสำคัญได้โดยง่าย ซึ่งจะเป็นผลดีต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาลชุดใหม่ แต่ความเสี่ยงทางการเมืองอยู่ที่ว่าประเทศไทยจะได้รัฐบาลเสียงข้างน้อยหรือไม่ นั่นเพราะหากมีพรรคการเมืองรวมกันเกิน 125 เสียง เมื่อรวมกับสว. อีก 250 เสียง ก็จะสามารถเลือกนายกรัฐมนตรีได้ แต่ปัญหายังไม่จบ เพราะนายกรัฐมนตรีอาจจะไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมาก ที่ได้รับการสนับสนุนจากสส. ได้ถึง 250 คนได้ แล้วรัฐบาลชุดใหม่นี้จะเดินหน้าผ่านร่างกฎหมายสำคัญๆ โดยเฉพาะกฎหมายด้านงบประมาณได้หรือไม่ หรือจะผ่านการอภิปรายไม่ไว้วางใจได้อย่างไร คำถามนี้คงต้องรอตอบหลังรู้ผลการเลือกตั้งและมีการคัดเลือกตัวนายกรัฐมนตรี ซึ่งอาจใช้เวลาหลายเดือน และนี่อาจเป็นความเสี่ยงที่นักลงทุนต่างชาติอาจรอความชัดเจนก่อนเข้ามาลงทุนในไทย อย่างไรก็ดี ไม่ว่าผลจะออกมาเช่นไร และจะมีความผันผวนแค่ไหน ผมยังเชื่อมั่นในการกระจายตัวของเศรษฐกิจไทยที่ลื่นไหลเหมือนกระทะเทฟล่อน หรือ Teflon Thailand ที่แม้จะมีความเสี่ยงทางการเมือง เศรษฐกิจไทยก็จะไม่สะดุดชะงัก เพียงแต่อาจจะชะลอไปบ้างชั่วคราวก่อนจะฟื้นมาได้ใหม่หลังมีความชัดเจนในที่สุด
3. ต้องปฏิรูปเศรษฐกิจเต็มสูบหลังเลือกตั้ง
หากจะมองเศรษฐกิจไทยในระยะยาว คงหนีไม่พ้นเรื่องการปฏิรูป เราจึงควรตั้งคำถามถึงพรรคการเมืองในประเด็นนโยบายเศรษฐกิจด้วยว่า เขาจะสานต่อ "ประยุทธ์โนมิกส์" ที่เน้นการปฏิรูปการคลัง อุตสาหกรรม และภาครัฐและสังคม หรือไม่ และจะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงอย่างไร การปฏิรูปการคลังคือการหาเงินมาใช้จ่ายเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อสร้างขีดความสามารถด้านการแข่งขัน ผ่านการลดต้นทุนด้านการขนส่ง การปฏิรูปอุตสาหกรรมคือ การสนับสนุนอุตสาหกรรมแบบมีเป้าหมายชัดเจน กลุ่ม Thailand 4.0 เพื่อยกระดับมาตรฐานของอุตสาหกรรมไทย เพื่อให้เราก้าวไปสู่การเป็นศูนย์กลางของห่วงโซ่อุปทานโลก และ การปฏิรูปภาครัฐและสังคม คือการปฏิรูประบบภาษีมีความจำเป็นต่อการเพิ่มรายได้ภาครัฐและลดความไม่เท่าเทียมกันในสังคมไทย และเพิ่มการใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย นอกจากนี้ รัฐบาลชุดใหม่ยังควรเน้นการปฏิรูปเศรษฐกิจระยะยาว โดยเฉพาะด้านการศึกษาและตลาดแรงงานให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของโลกยุคดิจิทัลให้ได้มากขึ้น
โดยสรุป แม้การคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปี 2562 ไม่ได้พิจารณาการปฏิรูประยะยาว แต่ก็หนีไม่พ้นที่นักเศรษฐศาสตร์และนักลงทุนต่างประเทศจะตั้งคำถามว่า ศักยภาพการเติบโตของเศรษฐกิจไทยอยู่ที่เท่าใด เพราะในวันนี้เราคงเติบโตได้ราวร้อยละ 3.5-4.0 ซึ่งไม่เพียงพอที่จะหลุดพ้นกับดักประเทศที่มีรายได้ระดับกลาง หรือ Middle Income Trap ไปได้ ยิ่งไปกว่านั้น ประเทศไทยกำลังเผชิญภาวะสังคมสูงอายุอย่างรวดเร็ว สัดส่วนวัยแรงงานกำลังลดลง การออมเพื่อใช้ยามเกษียณไม่เพียงพอ ทักษะแรงงานยังต้องเพิ่มขีดความสามารถ การเติบโตทางเศรษฐกิจยังเต็มไปด้วยความเหลื่อมล้ำของรายได้ ธุรกิจ SME และฐานรากยังอ่อนแอ และอีกหลากหลายประการที่รอการแก้ไข ซึ่งตอกย้ำว่า แม้มีสิ่งดีๆ ที่รัฐบาลชุดนี้ได้เดินหน้าปฏิรูปเศรษฐกิจไปแล้ว การปฏิรูปเศรษฐกิจยังไม่สิ้นสุด และยังคงต้องฝากความหวังให้กับรัฐบาลชุดต่อไปหลังเลือกตั้งว่าจะเลือกเดินข้างการปฏิรูประยะยาวมากกว่าการใช้นโยบายกระตุ้นระยะสั้นแต่ไม่ยั่งยืน
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit