"กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เตรียมแผนการดำเนินงานตั้งแต่ความพร้อมของระบบชลประทาน ความเหมาะสมของสภาพดินในพื้นที่ที่จะปลูกข้าวโพด ตลอดจนช่วงเวลาที่เหมาะสมในการปลูก สามารถดำเนินการได้ แม้ว่าความชื้นจะเกิน 14% แต่ราคาข้าวโพดไม่ต่ำกว่าจากที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากมีความต้องการของตลาดโลก และแม้ว่าในช่วงเดือนที่ผ่านมาจะมีการระบาดของหนอนกระทู้ก็ตาม กระทรวงเกษตรฯ ก็สามารถจำกัดการแพร่ระบาดศัตรูพืชได้ ซึ่งนับว่าทั้งหมดนี้เป็นการเริ่มต้นที่ดีในการสนับสนุนการปลูกพืชอื่นนอกจากการทำนา เพื่อเป็นการรักษาเสถียรภาพทั้งราคาข้าวและช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการปลูกพืชอื่นตามความต้องการของตลาด"
นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรฯ ได้ปรับแผนการดำเนินงานโดยมีการบูรณาการเชื่อมโยงทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมส่งเสริมสหกรณ์ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมพัฒนาที่ดิน กรมชลประทาน และบริษัทเอกชนผู้ผลิตอาหารสัตว์ ร่วมกันทำงานในพื้นที่เพื่อวิเคราะห์สภาพดินเพื่อการเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อย่างละเอียด ตลอดจนได้ถ่ายทอดเทคนิคการปลูก การดูแลรักษา การลดต้นทุน และการเพิ่มประสิทธิภาพผลผลิต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การวางแผนการตลาดกับสหกรณ์ซึ่งทำหน้าที่รวบรวมผลผลิตและเชื่อมโยงกับภาคเอกชนผู้ผลิตอาหารสัตว์เข้ามารับซื้อข้าวโพดของเกษตรกร โดยสหกรณ์จะทำหน้าที่ในการบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แบบครบวงจร
สำหรับการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนา ในปีการผลิต 2561/62 มีเกษตรกรที่สมัครใจเข้าร่วมโครงการ 96,928 ราย พื้นที่ 814,916 ไร่ (ข้อมูล ณ วันที่ 4 มกราคม 2562) โดยการรับสมัครในปี 2561/2562 นี้ ยังรับสมัครไปจนถึงวันที่ 15 มกราคม 2562 ซึ่งเกษตรกรมีความสนใจที่จะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หลังฤดูทำนาเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามกระทรวงเกษตรฯ จะใช้หลักการตลาดนำการผลิต วิเคราะห์แนวโน้มความต้องการของตลาดและส่งเสริมการปลูกพืชที่จะสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรโดยใช้โมเดลการปลูกข้าวโพดเป็นแนวทางในการดำเนินงานส่งเสริมปลูกพืชอื่นๆ อาทิ ถั่วเขียว ถั่วเหลือง พืชผักต่างๆ ฯลฯ ต่อไป
ด้านนายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตัวอย่างความสำเร็จในแปลงนำร่องเป็นของนายสมพร แตงน้อย เนื้อที่ 10 ไร่ เพาะปลูกเดือนสิงหาคม 2561 และเก็บเกี่ยวผลผลิตเมื่อวันที่ 27 ธ.ค.61 ขายให้กับสหกรณ์การเกษตรบ้านหม้อ จำกัด ในระดับความชื้นที่ 28% ราคา 7.20 บาท/กก. ทำให้มีรายได้ 86,400 บาท และมีกำไรเฉลี่ยไร่ละ 4,850 บาท ส่วนแปลงของนายทองเหลือ มูลนิล สมาชิกสหกรณ์ ที่รมว.กษ. เป็นประธานในการเก็บเกี่ยวข้าวโพดในแปลงนี้ มีเนื้อที่ปลูก 3 ไร่ ลงทุนไป 11,370 บาท เริ่มเพาะปลูกเมื่อวันที่ 3 กันยายน 61 และจะเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จทั้งหมดในวันนี้ คาดว่าจะได้ผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ประมาณ 1,200 ก.ก. ความชื้นประมาณ 27% ซึ่งสหกรณ์จะรับซื้อในราคากิโลกรัมละ 8 บาท ทำให้นายทองเหลือ มีรายได้ทั้งสิ้น 28,800 บาท เมื่อหักต้นทุนในการเพาะปลูกผลิต 11,370 บาท จะมีกำไร 17,430 บาท และได้กำไรเฉลี่ย 5,810 บาทต่อไร่.
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit