ผศ.ดร.รวิน ระวิวงศ์ ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณทุกความห่วงใยจากประชาชนจำนวนหนึ่งที่แชร์เชิญชวนให้ร่วมเข้ามาใช้บริการและให้กำลังแหล่งเรียนรู้ จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. ถึงการจะหมดสัญญาเช่าพื้นที่ ซึ่งสถานที่ที่จัตุรัสวิทยาศาสตร์ตั้งอยู่แห่งนี้ เป็นพื้นที่ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อพวช. ได้ทำสัญญาเช่าเป็นระยะเวลา 12 ปี ตั้งแต่วันที่ 26 เดือนมีนาคม 2551 และจะสิ้นสุดในวันที่ 25 มีนาคม 2563 ซึ่งในขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการเจรจาถึงรายละเอียดการต่อสัญญา โดยทาง อพวช. คาดหวังว่า จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช. จะยังคงได้ทำหน้าที่เป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสังคมวิทยาศาสตร์ให้เกิดขึ้นในสังคมไทยต่อไป และยังมีแนวคิดขยายแหล่งเรียนวิทยาศาสตร์รู้สู่ภูมิภาคอีก 2 แห่ง คือ "จัตุรัสวิทยาศาสตร์ ณ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร" จังหวัดเชียงใหม่ และ "จัตุรัสวิทยาศาสตร์" ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา คาดว่าจะเปิดดำเนินการได้ในปี 2562 นี้
"จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช." เป็นแหล่งเรียนรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในรูปแบบ EDUTAINMENT ที่สะดวกสบาย ทันสมัย ให้บริการแก่เยาวชนและประชาชน ตั้งอยู่บนพื้นที่ 3,000 ตารางเมตร บริเวณชั้น 4 และชั้น 5 ของอาคารจัตุรัสจามจุรี บนถนนพระรามที่ 4 และสามย่าน ซึ่งเป็นศูนย์การค้าแนวใหม่ที่รวบรวมความทันสมัยมาไว้ ณ ที่แห่งนี้ อาทิ สถาบันพัฒนาการเรียนรู้ที่มีชื่อเสียง ร้านหนังสือคุณภาพจากทั่วประเทศ เครื่องใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย และบริการร้านอาหารนานาชนิด สามารถเดินทางมาด้วยระบบคมนาคมที่สะดวกสบาย ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ส่วนตัว รถไฟฟ้าใต้ดิน รถไฟฟ้า BTS และมีรถประจำทางผ่านเป็นจำนวนมาก
จัดแสดงนิทรรศการและกิจกรรม โดยแบ่งออกเป็นนิทรรศการถาวรอย่างนิทรรศการ "สวนสนุกวิทยาศาสตร์" นำเสนอหลักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีพื้นฐาน ที่พบเจอในชีวิตประจำวัน เช่น ไฟฟ้า การสัมผัส การมองเห็น และกลไกต่าง ๆ นิทรรศการหมุนเวียนทุก 6 เดือน ที่กำลังจะจัดแสดงในต้นเดือนธันวาคม 2561 คือ นิทรรศการภาพถ่าย "วิทย์ติดเลนส์" เป็นการใช้ภาพถ่ายเป็นสื่อกลางในการส่งต่อและแชร์ประสบการณ์ในการพบเห็นเรื่องราวทางวิทยาศาสตร์รอบตัวจากมุมมองต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน และนิทรรศการวิกฤตขยะ นิทรรศการสร้างความตระหนักเกี่ยวกับความสำคัญของการจัดการขยะ และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการกำจัดขยะ นิทรรศการพิเศษ บทเรียนในความมืด : Dialogue in The Dark นิทรรศการที่เปิดประสบการณ์ให้แก่ผู้ชมถึงโลกที่มองไม่เห็น การรับรู้โดยประสาทสัมผัสอื่น ๆ ที่เราอาจคาดไม่ถึง ซึ่งทำให้เข้าใจความสามารถที่ไร้ขีดจำกัดของการรับรู้ของมนุษย์ และการใช้ชีวิตในโลกของผู้พิการทางสายตา
นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมเสริมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ประกอบด้วย 8 กิจกรรม ได้แก่ การแสดงทางวิทยาศาสตร์ (Science Show) เป็นการถ่ายทอดหลักการและทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ ผ่านการแสดงประกอบอุปกรณ์ เพื่อให้ผู้เข้าชมเพลิดเพลินและเข้าใจง่ายขึ้น การทดลองทางวิทยาศาสตร์ (Science Lab) การถ่ายทอดความรู้ทางวิทยาศาสตร์ในรูปแบบการทดลอง และฝึกทักษะพื้นฐานการใช้เครื่องมือวิทยาศาสตร์ ซึ่งผู้ทดลองจะได้เห็นผลด้วยตนเอง บ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย (Little Science House) กิจกรรมปลูกฝังนิสัยรักวิทยาศาสตร์ให้กับเด็กปฐมวัย (อายุ 3-6 ปี) ผ่านการทำกิจกรรม ฝึกการสังเกต การตั้งคำถาม การตอบคำถาม รวมถึงฝึกการใช้
กล้ามเนื้อมือ โลกของหนูน้อยนักประดิษฐ์ (Enjoy Maker Space) เป็นการนำแนวคิดการเรียนรู้แบบ STEM Education มาประยุกต์ใช้ จัดสร้างพื้นที่ปลดปล่อยจินตนาการของเยาวชน ปลุกความเป็นนักคิด สู่นักสร้างสรรค์นวัตกรรม เพื่อปั้นเมกเกอร์รุ่นใหม่ของเมืองไทย Engineering is Elementary (EIE) เป็นหลักสูตรที่พัฒนาขึ้นโดยพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ เมืองบอสตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา (Museum of Science, Boston, USA) องค์กรชั้นนำที่มีความเชี่ยวชาญด้านหลักสูตร สะเต็มศึกษา (STEM Education) ซึ่ง อพวช. โดยจัตุรัสวิทยาศาสตร์นำมาเป็นกิจกรรมเพื่อส่งเสริมความเข้าใจและสร้างทักษะด้านวิศวกรรม และการฝึกแก้ไขปัญหาในชีวิตประจำวันให้กับเยาวชนไทย Inside Us กิจกรรมการทดลองวิทยาศาสตร์ที่จะสร้างความเข้าใจร่างกายของมนุษย์มากยิ่งขึ้น ผ่านทางการเรียนรู้การทำงานของระบบต่าง ๆ ภายในร่างกาย กิจกรรมค่ายวิทยาศาสตร์ (science Day Camp) ค่ายวิทยาศาสตร์ 1 วัน แบบเช้าไปเย็นกลับ ส่งเสริมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และการทำงานร่วมกับผู้อื่น กิจกรรม Play & Learn เพลินวิทย์ เป็นการบูรณาการสาระความรู้และทักษะทางวิทยาศาสตร์ ด้วยกิจกรรมวิทยาศาสตร์หรรษา จากพิพิธภัณฑ์สำนักต่าง ของ อพวช.
"จัตุรัสวิทยาศาสตร์ อพวช." เปิดบริการทุกวันจันทร์ – ศุกร์ 10.00 – 18.00 น. เสาร์ – อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ 10.30 – 18.30 น.สอบถามรายละเอียดโทรศัพท์ : 0 2160 5356
HTML::image( HTML::image(