ททท. สำนักงานแม่ฮ่องสอน ชวนนักท่องเที่ยว – ทุกภาคส่วน สืบสานประเพณีปอยส่างลอง จังหวัดแม่ฮ่องสอน

04 Mar 2019
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ร่วมกับ จังหวัดแม่ฮ่องสอน เทศบาลเมืองแม่ฮ่องสอน และหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนในพื้นที่ ร่วมสืบสานประเพณีปอยส่างลอง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ประจำปี ๒๕๖๒ โดยงานดังกล่าวเป็นการบรรพชาสามเณรหมู่ตามความเชื่อดั้งเดิมของชาวไต (ไทยใหญ่) ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ประเพณีปอยส่างลองเป็นประเพณีของชาวไตที่มีความสำคัญและยิ่งใหญ่ ซึ่งจัดงานเป็นประจำทุกปีเป็นงานประเพณีที่แสดงถึงความศรัทธาอันแรงกล้าในพระพุทธศาสนาของชุมชนท้องถิ่น ตลอดจนการสืบทอดประเพณีจากรุ่นสู่รุ่น เพื่อสืบสานและอนุรักษ์ประเพณีอันดีงามให้สืบไปชั่วลูกชั่วหลานที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น โดยเฉพาะขบวนแห่ส่างลอง (แห่ครัวหลู่)
ททท. สำนักงานแม่ฮ่องสอน ชวนนักท่องเที่ยว – ทุกภาคส่วน สืบสานประเพณีปอยส่างลอง จังหวัดแม่ฮ่องสอน

นับได้ว่ามีความสวยงามตามแบบประเพณีโบราณของชาวไตอย่างแท้จริง รวมถึงพิธีกรรมทางพุทธศาสนา ทำให้ประเพณีปอยส่างลอง ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติให้เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวยังจังหวัดแม่ฮ่องสอน พร้อมกับการร่วมทำบุญสืบสานงานประเพณีดังกล่าวด้วย

คำว่า " ปอยส่างลอง " เป็นภาษาไทใหญ่เกิดจากคำ ๓ คำ มาสมาสกัน คือ คำว่า " ปอย " แปลว่า " งาน " คำว่า " ส่าง " สันนิษฐานว่าเพี้ยนมาจากคำว่า " สาง " หรือ " ขุนสาง "หมายถึงพระพรหม ในหนังสือธรรมะของชาวไทใหญ่กล่าวถึงว่า " พระคณิตพรหมได้ถวายจีวรแก่เจ้าชายสิทธัตถะ ณ ริมฝั่งแม่น้ำอโนมา เมื่อคราวที่หนีออกไปบวช " อีกความหมายหนึ่งนั้น คำว่า " ส่าง " มาจากคำว่า " เจ้าส่าง " หมายถึงสามเณร ส่วนคำว่า " ลอง " มาจากคำว่า " อลอง " แปลว่า พระโพธิสัตว์ หรือหน่อพุทธางกูร ดังนั้นงาน " ปอยส่างลอง " ก็คืองานบวชลูกแก้วของชาวล้านนานั่นเอง ประวัติความเป็นมา ส่างลอง มีความหมาย

๒ นัย คือ นัยที่หนึ่งเป็นคำผสมระหว่างคำว่า " ส่าง " หมายถึง เจ้าส่าง คือสามเณรในภาษาไทย กับคำว่า " ลอง " หรือ " อลอง " หมายถึงหน่อกษัตริย์หรือผู้ที่เตรียมจะเป็นส่างลองคือผู้ที่เตรียมจะเป็นสามเณร ส่วนนัยที่สอง ถือตามความในวรรณกรรมไตเรื่อง " อ่าหนั่นต่าตองป่าน " หรือ เรื่องการทูลถามของพระอานนท์ เกี่ยวกับการเป็นส่างลองว่ามีอานิสงส์มากน้อยอย่างไร

การจัดงานบวชเณรของชาวไทใหญ่ หรือส่างลองนั้น เป็นพิธีที่ต้องเตรียมงานกันนานใช้เวลาจัดงาน ๓-๕ วันมีการเชิญผู้มาร่วมงานเป็นจำนวนมาก และมีขั้นตอนโดยแบ่งเป็นวันต่างๆดังนี้ วันแรก เรียกว่า วันรับส่างลอง

ในตอนเช้าเจ้าภาพส่างลองจะนำบรรดาเด็กชายไปวัด เพื่อแต่งชุดส่างลองด้วยการนุ่งโจงกระเบนสีสดปล่อยชายด้านหลังยาวจับกลีบ คาดด้วยเข็มขัดนาคหรือเงิน สวมเสื้อแขนกระบอกโค้งงอน เสื้อปักฉลุลายดอกไม้สีต่างๆ ศีรษะโพกผ้าแพรเกล้ามวยเสียบด้วยดอกไม้ เช่น ดอกเอื้องคำ หรือดอกไม้อื่นๆ แต่งหน้าส่างลองด้วยการ เขียนคิ้ว ทาปาก สีแดง และสวมถุงเท้าสีขาว ถือเป็นการแต่งตัวอลองเต็มตัว พระสงฆ์ให้ศีลให้พรอบรมสั่งสอน

หลังจากเสร็จพิธีรับส่างลองแล้ว "ตะแปส่างลอง" จะเอาส่างลองขี่คอลงมาจากวัดมาฟ้อนรำบริเวณหน้าวัดเป็นการเฉลิมฉลองและต้อนรับส่างลอง บรรดาพ่อแม่ส่างลองและเหล่าญาติก็จะโปรยข้าวตอกดอกไม้เป็นการอนุโมทนาสาธุ เป็นภาพที่น่าดูและน่าชื่นชมมาก หลังจากฟ้อนรำฉลองการต้อนรับส่างลองจนเป็นที่น่าพอใจแล้ว คณะส่างลองก็จะเคลื่อนขบวนไปยังศาลเจ้าพ่อหลักเมืองหรือศาลเจ้าประจำหมู่บ้าน ในขณะที่แห่ส่างลองไปตะแปส่างลองก็จะเต้นไปด้วยส่างลองก็จะโยกตัวไปตามเป็นภาพที่สวยงามยิ่ง และที่เด่นอีกอย่างในขบวนแห่ส่างลองก็คือ "ทีคำ" (ร่มทองคำ) ที่ใช้กางกั้นบังแดดให้ส่างลอง ซึ่งจะมีจำนวนเท่ากับจำนวนส่างลอง "ทีคำ"จะใช้กางเฉพาะส่างลองหรือพระพุทธรูปเท่านั้น

จากนั้น "ตะแปส่างลอง" หรือผู้ให้ขี่คอ นำส่างลองไปนมัสการสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ เช่น ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง ศาลหลักเมือง เจ้าคณะจังหวัด และญาติผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือในขบวนจะมี "ทีคำ"หรือร่มทองคำกางบังแดดให้ส่างลอง

ในวันแรกนี้ บ้านเจ้าภาพส่างลองทุกบ้านจะมีคนมาช่วยกันเตรียมอาหารไว้บริการส่างลอง ตะแปส่างลองและผู้มาร่วมงานทุกคนตลอดทั้งวัน แม้กระทั่งกลางคืนก็จะมีผู้คนมาเยี่ยมเจ้าภาพ มาร่วมทำบุญบ้าง ผู้มาร่วมงานจะมีจำนวนมากมาย เจ้าภาพก็จะจัดเตรียมน้ำดื่ม ขนมนมเนย หมากเมี่ยงบุหรี่มาเลี้ยงดูทุกคน และมีกลองมองเซิงมาตั้งไว้ให้บรรเลงกันเป็นที่สนุกสนานเป็นช่วงๆ ไป พอตกดึกก็จะมี "เฮ็ดกวาม" และบรรเลงกลองมองเซิงสลับกันจนถึงรุ่งเช้า วันที่ ๒ เรียกว่า วันข่ามแขก

คือ วันรับแขกนั่นเอง จะเป็นวันที่ญาติพี่น้องจากหมู่บ้านอื่นมาร่วมงานอย่างพร้อมเพรียงกัน วันนี้นับว่าสำคัญยิ่งเพราะจะมีพิธีต่างๆ ๓ พิธี คือ พิธีการแห่โคหลู่ (เครื่องไทยธรรม) การเลี้ยงอาหารส่างลองเต็มรูปแบบ (กับข้าว ๑๒ อย่าง) และทำพิธีเรียกขวัญส่างลอง

วันนี้เจ้าภาพจะต้องเตรียมข้าวปลาอาหารไว้มากกว่าปกติ ญาติที่มาร่วมงานจะผูกข้อมืออวยพรให้ อลอง ชื่นชมบารมีของอลอง ช่วยงาน และร่วมสนุกสนานต่างๆ เป็นการเฉลิมฉลองอลอง ตั้งแต่ตอนเช้าจะมีผู้คนจากทั่วทุกหมู่บ้านแต่งกายกันอย่างสวยงามใครมีแก้วแหวนเงินทองเครื่องประดับอะไรก็จะสวมใส่ประชันกันอย่างเต็มที่ต่างช่วยกันจัดเตรียมเครื่องไทยธรรมและอัฐบริขารที่จะนำไปเข้าขบวนแห่โคหลู่ (ไทยธรรม) เครื่องไทยธรรมทุกชิ้นจะนำมาแห่พร้อมกันในวันนี้เสมือนหนึ่งเป็นการเลียบนครของอลอง เป็นกิจกรรมแสดงถึงความหรูหราและพร้อมเพรียงของงานปอยส่างลอง เหล่าญาติ และศรัทธาประชาชนจะพร้อมเพรียงกันมาร่วมขบวนแห่อย่างสนุกสนาน ช่วยกันถือ ช่วยกันแบก ช่วยกันหามอัฐบริขาร เครื่องไทยธรรมทุกชิ้นทั้งเล็กและใหญ่ได้นำมาจัดเรียงร่วมขบวนให้ครึกครื้นสวยงาม ทุกคนมีความรู้สึกร่วมในส่วนบุญด้วยศัทธาและเต็มใจวันที่ ๓ เรียกว่า วันแห่โคหลู่

เป็นวันแห่งเครื่องไทยทาน มีการแห่ส่างลองกับเครื่องไทยทานจากวัดกลางทุ่ง ไปตามถนนสายต่างๆ ในช่วงเช้ามีผู้มีจิตศรัทธาร่วมขบวนมากมายเพื่อช่วยกันแบกหามเครื่องอัฐบริขาร เครื่องไทยธรรม ทั้งเล็กและใหญ่ ขบวนแห่ประกอบด้วยจีเจ่ (กังสดาล) ม้าเจ้าเมือง ต้นตะเป่ส่าพระพุทธ ต้นตะเป่ส่าพระสงฆ์ ปุ๊กข้าวแตก เทียนเงินเทียนทอง พุ่มเงินพุ่มทองอู่ต่องปานต่อง หม้อน้ำต่า อัฐบริขาร ดนตรีประโคมและขบวนแห่ส่างลอง โดยให้ส่างลองขี่คอพี่เลี้ยงเรียกว่า "ตะแปส่างลอง" มีกลดทองหรือ "ทีคำ" แบบพม่าไว้บังแดด ตอนเย็นมีการแสดงมหรสพสมโภชตามประเพณีไตที่วัดหัวเวียง วันที่ ๔ เรียกว่า วันข่ามส่าง หรือวันหลู่

คือจะนำส่างลองไปบรรพชาเป็นสามเณรหากในการจัดงานมี จางลอง คือผู้ที่จะอุปสมบทเป็นพระภิกษุอยู่ด้วย ก็จะทำกันตั้งแต่เช้าตรู่ เรียกกันว่า ยาบจาง การหยาบจางหรืออุปสมทบจะเริ่มราวๆ ๐๔.๐๐ - ๐๕.๐๐ น. ตะแปจางลองจะแต่งตัวจางลองและนำจางลองขี่ม้าแห่ไปวัด โดยมี จีเจ่ (กังสดาล) ตีนำขบวน และอาจมีดนตรีพื้นบ้านหรือกล่องก้นยาวร่วมขบวนไปด้วย เมื่อถึงวัดก็จะเวียนรอบโบสถ์ ๓ รอบ แล้วทำพิธีอุปสมบทในโบสถ์ หากวัดใดไม่มีโบสถ์เจ้าภาพก็จะร่วมกับทางวัดจัดทำ สิ่มน้ำ คือจะทำศาสาที่ประกอบพีอุปสมบทอยู่กลางแม่น้ำหรือในบึงแล้วนิมนต์พระสงฆ์มาทำพิธีอุปสมบทในสิ่มน้ำนี้

ในวันข่ามส่าง ผู้คนจะมาชุมนุมกันที่วัดกันตั้งแต่เช้า โดยเฉพาะคนเฒ่าคนแก่จะไปถึงวัดก่อนพร้อม อุ๊บ หรือขันดอกไม้ จนได้เวลาพอสมควรก็จะมีการ ถ่อมลีก คืออ่านหนังสือธรรมะให้ทุกคนฟังอันเป็นการกล่อมเกลาจิตใจให้ตั้งมั่นอยู่ในความดีซึ่งถือเป็นประเพณีสืบทอดกันมานานผู้ฟังก็จะนั่งฟังอย่างสงบและสำรวมกิริยาอาการ

เมื่อได้เวลาฉันเพลก็จะมีการถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ที่นิมนต์มาร่วมพิธีบรรพชาสามเณรก่อนแล้วจึงเลี้ยงอาหารผู้มาร่วมงานในพิธี เป็นอันเสร็จสิ้นพิธี

โดยในปีนี้มีจัดงานปอยส่างลองอย่างยิ่งใหญ่ที่วัดหัวเวียง อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน ระหว่างวันที่ ๒-๕ เมษายน ๒๕๖๒ และยังมีกำหนดจัดงานประเพณีปอยส่างลองในหลายพื้นที่ของจังหวัดแม่ฮ่องสอน อาทิเช่น

อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน

  • วันที่ ๒๐-๒๓ มีนาคม ๒๕๖๒ ณ วัดปางหมู ต.ปางหมู อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน

แห่โคหลู่(เครื่องไทยทาน) วันที่ ๒๒ มีนาคม ตั้งแต่เวลา ๐๘:๐๐ น. ไปยังวัดปางหมู

  • วันที่ ๒๙-๓๑ มีนาคม ๒๕๖๒ ณ วัดห้วยทรายขาว ต.ห้วยผา อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน

แห่ครัวหลู่(เครื่องไทยทาน) วันที่ ๓๐ มีนาคม ไปวัดห้วยทรายขาว

  • วันที่ ๒๘-๓๑ มีนาคม ๒๕๖๒ ณ วัดผาบ่องเหนือ ต.ผาบ่อง อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน

แห่โคหลู่(เครื่องไทยทาน) วันที่ ๓๐ มีนาคม ตั้งแต่เวลา ๐๘:๐๐ น. ไปวัดผาบ่องเหนือ

  • วันที่ ๒-๕ เมษายน ๒๕๖๒ ณ วัดหัวเวียง ต.จองคำ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน

แห่โคหลู่(เครื่องไทยทาน) วันที่ ๔ เมษายน ตั้งแต่เวลา ๐๘:๐๐ น. ไปวัดหัวเวียง

  • วันที่ ๘-๑๐ เมษายน ๒๕๖๒ ณ วัดไม้ฮุง ต.ห้วยโป่ง อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน

แห่โคหลู่(เครื่องไทยทาน) วันที่ ๙ เมษายน ตั้งแต่เวลา ๐๘:๐๐ น. ไปวัดไม้ฮุง

  • วันที่ ๑๙-๒๒ เมษายน ๒๕๖๒ ณ วัดหมอกจำแป่ ต.หมอกจำแป่ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน

แห่โคหลู่(เครื่องไทยทาน) วันที่ ๒๑ เมษายน ตั้งแต่เวลา ๐๘:๐๐ น. ไปวัดหมอกจำแป่อำเภอขุนยวม จังหวัดแม่ฮ่องสอน

  • วันที่ ๒๕-๒๗ มีนาคม ๒๕๖๒ ณ วัดม่วยต่อ ต.ขุนยวม อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน

แห่โคหลู่(เครื่องไทยทาน) วันที่ ๒๖ มีนาคม ตั้งแต่เวลา ๐๘:๐๐ น. เป็นต้นไปวัดม่วยต่อ อ.ขุนยวม

  • วันที่ ๒๙-๓๑ มีนาคม ๒๕๖๒ ณ วัดประตูเมือง ต.แม่เงา อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน

แห่โคหลู่(เครื่องไทยทาน) วันที่ ๓๐ มีนาคม ตั้งแต่เวลา ๐๘:๐๐ น. ไปวัดประตูเมือง

  • วันที่ ๕-๗ เมษายน ๒๕๖๒ ณ วัดคำใน ต.ขุนยวม อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน

แห่โคหลู่(เครื่องไทยทาน) วันที่ ๖ เมษายน ตั้งแต่เวลา ๐๘:๐๐ น. ไปวัดคำใน

  • วันที่ ๘-๑๐ เมษายน ๒๕๖๒ ณ วัดเมืองปอน ต.เมืองปอน อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน

แห่โคหลู่(เครื่องไทยทาน) วันที่ ๙ เมษายน ตั้งแต่เวลา ๐๘:๐๐ น. ไป วัดเมืองปอนอำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน

  • วันที่ ๔-๗ เมษายน ๒๕๖๒ ณ วัดศรีบุญเรือง ต.แม่สะเรียง
  • วันที่ ๕-๗ เมษายน ๒๕๖๒ ณ วัดสุพรรณรังษี ต.แม่สะเรียง

แห่โคหลู่(เครื่องไทยทาน) พร้อมกันในวันที่ ๖ เมษายน ๒๕๖๒ ตั้งแต่เวลา ๑๖:๐๐ น. ไปยังวัดศรีบุญเรือง และวัดสุพรรณรังษีอำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน

  • วันที่ ๙-๑๓ เมษายน ๒๕๖๒ ณ ศรีดอนชัย อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน

แห่เครื่องไทยทาน (โคหลู่) วันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๖๒ ตั้งแต่เวลา ๑๕:๐๐ น. เป็นต้นไปอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน

  • วันที่ ๒๙-๓๑ มีนาคม ๒๕๖๒ ณ วัดถ้ำลอด ต. ถ้ำลอด อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน

แห่โคหลู่(เครื่องไทยทาน) วันที่ ๓๐ มีนาคม ๒๕๖๒ ไปยังวัดถ้ำลอด

นอกจากนี้ยังมีการจัดงานประเพณีปอยส่างลองในหมู่บ้านต่างๆ อีกหลายหมู่บ้านของจังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยภาพบรรยากาศงานประเพณี ปอยส่างลอง สามารถติดตามได้ทาง เพจ คน ฟ้า ป่า น้ำ https://www.facebook.com/wildlife.feelfree/photos/pcb.842917692563351/842917639230023/?type=3&theater , เพจ โพสต์พาเที่ยว https://www.facebook.com/PostATrip/และ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ททท.สำนักงานแม่ฮ่องสอน โทร ๐๕๓-๖๑๒-๙๘๒-๓

ททท. สำนักงานแม่ฮ่องสอน ชวนนักท่องเที่ยว – ทุกภาคส่วน สืบสานประเพณีปอยส่างลอง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ททท. สำนักงานแม่ฮ่องสอน ชวนนักท่องเที่ยว – ทุกภาคส่วน สืบสานประเพณีปอยส่างลอง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ททท. สำนักงานแม่ฮ่องสอน ชวนนักท่องเที่ยว – ทุกภาคส่วน สืบสานประเพณีปอยส่างลอง จังหวัดแม่ฮ่องสอน