กษ. จัดโครงการส่งเสริมความร่วมมือนวัตกรรมถนนผสมยางพารา แก่รัฐสุลต่านโอมาน หวังผลักดันนวัตกรรมถนนยางสู่ระดับนานาชาติ

12 Mar 2019
วันนี้ (11 มี.ค. 62) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดบ้านต้อนรับคณะรัฐมนตรีจากประเทศรัฐสุลต่านโอมาน นำโดย นายยูซุฟ บิน อลาวี บิน อับดุลลาห์ รัฐมนตรีรับผิดชอบด้านการต่างประเทศ เข้าร่วมโครงการส่งเสริมความร่วมมืออุตสาหกรรมยางด้านนวัตกรรมถนนผสมยางพารา ลงพื้นที่ศึกษาดูงานต้นแบบถนนยางพารา ณ จังหวัดฉะเชิงเทรา มุ่งต่อยอดงานวิจัยร่วมกัน พร้อมผลักดันนวัตกรรมถนนยางพาราไทยสู่เวทีโลก
กษ. จัดโครงการส่งเสริมความร่วมมือนวัตกรรมถนนผสมยางพารา แก่รัฐสุลต่านโอมาน หวังผลักดันนวัตกรรมถนนยางสู่ระดับนานาชาติ

นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า นับเป็นโอกาสอันดีที่รัฐมนตรีรับผิดชอบด้านการต่างประเทศรัฐสุลต่านโอมาน ในฐานะเป็นแขกของกระทรวงการต่างประเทศมีความสนใจเทคโนโลยีการผสมยางสำหรับทำถนนของไทย เนื่องจากถนนลาดยางพาราเป็นนวัตกรรมงานวิจัยที่ประเทศไทยพัฒนาขึ้นเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มกับยางพารา เพราะประเทศไทยมียางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจและผลิตมากที่สุดในโลก ถนนผสมยางพาราได้รับการรับรองมาตรฐานอุตสาหกรรมระดับชาติ ความโดดเด่นของการนำยางพาราผสมเพื่อทำถนนจะเป็นการเพิ่มคุณสมบัติการทนความร้อนได้มากกว่าถนนยางมะตอยปกติ และมีค่าความยืดหยุ่นและคืนตัวดีกว่า มีความแข็งแรงและอายุการใช้งานที่มากกว่า ทำให้เหมาะสมกับประเทศในเขตร้อน โดยในช่วงเช้าการยางแห่งประเทศไทยได้จัดการบรรยายรายละเอียดขั้นตอนการนำยางพารามาทำถนน 2 แบบ ประกอบด้วย ถนนยางพาราซอยด์ซีเมนต์ และถนนแอสฟัลต์คอนกรีตปรับปรุงคุณภาพด้วยยางพาราคุณภาพ

สำหรับความก้าวหน้าการดำเนินโครงการสร้างถนน 1 หมู่บ้าน 1 กิโลเมตร ทางองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) อยู่ระหว่างออกข้อบัญญัติในด้านงบประมาณ ซึ่งได้เริ่มครงการฯ ตั้งแต่กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีการใช้น้ำยางสดทำถนนไปแล้ว 30,000 ตัน หากดำเนินการไปจนถึงกันยายนนี้คาดว่าจะใช้ปริมาณน้ำยางสดไม่ต่ำกว่า 800,000 ตัน นอกจากนี้ กระทรวงคมนาคมยังมีแผนซื้อน้ำยางสดมาปรับปรุงถนนตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยางพาราภายในประเทศ อีก 40,000 ตัน ทั้งนี้ประเทศไทยมีความพร้อมในการจัดส่งพารา โดยดำเนินการผ่านหน่วยธุรกิจของการยางแห่งประเทศไทย และสหกรณ์การเกษตรยางพาราอีก 32 แห่ง

นายเยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ กรรมการการยางแห่งประเทศไทย รักษาการแทนผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กยท. ได้มีการศึกษาวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมยางพารา เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับยางธรรมชาติมาอย่างต่อเนื่องการขับเคลื่อนงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์ จะเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ยางพารา โดยภาครัฐมีนโยบายในการส่งเสริมใช้ยางในประเทศ เพื่อกระตุ้นการนำยางพาราไปใช้ในกิจกรรม รูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การนำยางพาราไปใช้ในระบบการคมนาคมของประเทศ โดยการสร้างถนนผสมยางพาราซึ่งมีความทนทานและแข็งแรง และที่สำคัญมีคุณสมบัติช่วยลดการลื่นไถลของยานพาหนะ จากการทดสอบค่าการลื่นไหลของถนนยางพารามีน้อยกว่า มีความฝืดมากขึ้น และมีความต้านทานการเกิดร่องล้อ จึงช่วยให้การขับขี่ปลอดภัยมากขึ้นด้วย

ผู้ว่าการ กยท. กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดโครงการส่งเสริมความร่วมมืออุตสาหกรรมยางด้านนวัตกรรมถนนผสมยางพารากับกับรัฐสุลต่านโอมานในครั้งนี้ ได้นำคณะลงพื้นที่ศึกษาดูงานถนนยางพาราต้นแบบในจังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งนอกจากเป็นการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศในการพัฒนาอุตสาหกรรมยางพาราแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมต่อยอดงานวิจัย นวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับการนำยางพาราไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในระดับนานาชาติ เพื่อพัฒนานวัตกรรมถนนผสมยางพารา เสริมสร้างศักยภาพงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมยางให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเป็นการประชาสัมพันธ์คุณภาพ และมาตรฐานนวัตกรรมถนนผสมยางพาราของไทยให้เป็นที่รู้จักและยอมรับในระดับนานาชาติ ช่วยสร้างโอกาสในการค้าการลงทุน และร่วมกันขับเคลื่อนงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ยางพาราต่อไป

ดร.ถาวร ตะไก่แก้ว วิศวกรโยธาปฏิบัติการ กรมทางกลวง กล่าวว่า ปัจจุบันกรมทางหลวงดำเนินการนำยางพารามาใช้ตามภารกิจทั้งหมด 4 โครงการได้แก่ โครงการฉาบผิวแบบพาราสเลอรี่ซิล (Para Slurry Seal) ใช้ฉาบผิวทางเดิมที่ลื่น เพื่อเพิ่มความฝืด และช่วยอุดรอยแตกกันน้ำลงได้ ป้องกันการเกิดออกซิเดชันของผิวทาง การฉาบผิวถนนแบบนี้จะสามารถเปิดการจราจรได้ภายในเวลา 2 ชั่วโมง เนื่องจากมีคุณสมบัติเด่น คือ บ่มตัวเร็วและยังมีความทนทานกว่าการฉาบผิวแบบธรรมดาที่ไม่มีส่วนผสมของยางพารา ทั้งนี้ ในการฉาบผิวถนนที่มีความหนา 5-10 มิลลิเมตร และมีความกว้าง 12 เมตร ใช้น้ำยางพาราข้น ประมาณ0.98 ตัน/กิโลเมตร โครงการแอสฟัลต์คอนกรีตปรับปรุงคุณภาพด้วยยางธรรมชาติ เป็นการนำยางพารามาใช้ในสัดส่วนร้อยละ 5 ของน้ำหนักของแอสฟัลต์ซีเมนต์ผสมเสร็จ ตามข้อกำหนด มาตรฐาน และ มอก. โดยคุณสมบัติและลักษณะเด่นของแอสฟัลต์คอนกรีตปรับปรุงคุณภาพด้วยยางธรรมชาติจะมีความทนทานมากกว่าร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับแอสฟัลต์คอนกรีตที่ใช้ AC 60-70 ซึ่งปริมาณการใช้ยางพาราสำหรับยางพาราร้อยละ 5 เพื่อปูผิวทางหนา 5 เซนติเมตร และถนนมีความกว้าง 12 เมตร จะใช้น้ำยางพาราข้นประมาณ 5.716 ตัน/กิโลเมตร โครงการนำยางพารามาใช้ก่อสร้างชั้นพื้นทางดินซีเมนต์ (Para soil cement) เป็นการนำยางพารามาใช้ประโยชน์ในการปรับปรุงคุณภาพวัสดุชั้นพื้นทาง ด้วยวิธีการเติมน้ำยางข้น และสารผสมเพิ่มในชั้นพื้นทางดินซีเมนต์ (ดินลูกรัง) กระบวนการนี้เป็นแนวทางหนึ่งที่สามารถใช้ในการปรับปรุงคุณสมบัติโครงสร้างชั้นทางให้ดีขึ้น โดยอาศัยข้อดีของยางพาราเช่น ความคงตัวสูง ความยืดหยุ่นดี ทนความล้าดี มาเป็นตัวเสริมคุณสมบัติ สามารถช่วยยืดอายุการใช้งานของถนนโดยเฉลี่ยประมาณ 2-3 เท่าของอายุการใช้งานเดิมช่วยประหยัดงบประมาณในการซ่อมบำรุงถนน

นอกจากนี้ โครงการผลิตภัณฑ์อำนวยความปลอดภัยจากยางพาราในภารกิจของกรมทางหลวง ซึ่งได้ทำบันทึกความตกลงร่วมกันระหว่างกรมทางหลวง และการยางแห่งประเทศไทย โดยกรมทางหลวงมีแผนการนำยางพารามาใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตอุปกรณ์อำนวยความปลอดภัย ได้แก่ เสาหลักนำทางผสมยางพารา ใช้ยางแห้งประมาณ 2,049 ตัน กำแพงน้ำพลาสติก ใช้ยางแห้งประมาณ 2,205 ตัน และหลักนำทาง กม. ย่อย ใช้ยางแห้งประมาณ 660 ตัน ดร.ถาวร กล่าว

HTML::image( HTML::image( HTML::image(