ชี้แจงกรณีเครื่องบินฝนหลวง CN 235 หมายเลขเกษตร 2221 เกิดอุบัติการณ์

13 Mar 2019
นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและ การบินเกษตร เปิดเผยว่า ตามที่เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2562 เครื่องบิน CN 235 หมายเลขเกษตร 2221 ของ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติภารกิจสนับสนุนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายกฤษฎา บุญราช) เข้าร่วมเป็นประธานในพิธีเปิดปฏิบัติการฝนหลวงสู้ภัยแล้ง ประจำปี 2562 ณ สนามบินนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ พร้อมคณะเจ้าหน้าที่ สื่อมวลชน จำนวน 23 คน และเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานบนอากาศยาน จำนวน 9 คน รวมจำนวนทั้งสิ้น 32 คน และออกเดินทางจากท่าอากาศยานทหาร 2 กองบิน 6 ดอนเมือง กรุงเทพฯ เวลา 08.10 น. นั้น ในเวลาประมาณ 09.18 น. ขณะเครื่องบินจะทำการลงจอด พบว่า ระบบไฟฟ้าภายในขัดข้อง จึงบินวนรอบที่ 1 เพื่อแจ้งให้หอบังคับการบินทราบว่าระบบวิทยุสื่อสาร ไม่สามารถติดต่อได้ ต่อมาทำการบินรอบที่ 2 เพื่อให้หอบังคับการบินตรวจสอบว่าฐานล้อกางออกอย่างสมบูรณ์หรือไม่ และรอบที่ 3 หอบังคับการบินได้ให้สัญญาณว่านำเครื่องบินลงจอดได้ ซึ่งขณะที่แตะพื้นRunway ได้สังเกตเห็นควันออกจากฐานล้อ จากนั้นได้ยินเสียงคล้ายยางระเบิด และเครื่องบินได้จอดหยุดนิ่งบริเวณด้านซ้ายของ Runway เจ้าหน้าที่ภาคพื้นของสนามบินนครสวรรค์ จึงได้เข้าไปปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้ความช่วยเหลือ ณ จุดเกิดเหตุ ซึ่งผู้โดยสารและเจ้าหน้าที่บนเครื่องบินทุกคนปลอดภัย และตรวจสอบพบว่า ยางฐานล้อหลักด้านหน้าข้างซ้ายแตก เจ้าหน้าที่ช่างเครื่องบินจึงทำการเปลี่ยนยางและย้ายเครื่องบินออกจาก Runway
ชี้แจงกรณีเครื่องบินฝนหลวง CN 235 หมายเลขเกษตร 2221 เกิดอุบัติการณ์

จากเหตุการณ์ดังกล่าว กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ทำการตรวจสอบและสอบสวนตามระเบียบกรมฝนหลวงและการบินเกษตรว่าด้วยการบิน พ.ศ. 2558 โดยได้ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง คือ คณะกรรมการสอบสวนอากาศยานอุบัติเหตุด้านนิรภัยการบิน ซึ่งคณะกรรมการฯ พิจารณาดำเนินการตรวจสอบอุบัติการณ์ครั้งนี้ เกิดขึ้นเนื่องจากอุปกรณ์ Mode Selector Switch (สวิทช์ควบคุมการเลือกหน้าที่การทำงานการจ่ายไฟฟ้าจากแหล่งจ่ายไฟฟ้าในการติดเครื่องยนต์) ที่แผง Engine Start ซึ่งอยู่บริเวณแผงควบคุม เหนือศีรษะ (Overhead panel) ชำรุดไม่ทำงาน ซึ่งเป็นตัวเลือกแหล่งกำเนิดไฟฟ้า (Generator) ไปสู่ระบบไฟฟ้าภายในเครื่องบิน โดยใช้งานมาเป็นเวลานาน จึงทำให้เกิดความเสื่อมสภาพของอุปกรณ์ดังกล่าว

ร้อยโท บัญชา พาลี ผู้ควบคุมหน่วยการบิน กล่าวเพิ่มเติมว่า ก่อนทำการบินในแต่ละครั้ง นักบินจะต้องมีการตรวจสอบความพร้อมการใช้งานระบบต่างๆ ของเครื่องบินตามคู่มือการปฏิบัติการบิน โดยจะตรวจความเรียบร้อยภายนอกเครื่องบิน ได้แก่ อุปกรณ์ตรวจวัดข้อมูล เสาอากาศ พื้นผิวลำตัว พื้นบังคับหลักและรอง ฐานล้อ กระจก ดวงไฟ และประตู ตรวจเตรียมความพร้อมภายในห้องโดยสาร ตรวจและเตรียมความพร้อมการใช้งานในห้องนักบิน และตรวจระบบต่างๆ เช่น อุปกรณ์ฉุกเฉิน ระบบไฟฟ้าวิทยุสื่อสารและนำร่อง ระบบวัดปริมาณเชื้อเพลิง ระบบสวิทช์ควบคุมการเลือกหน้าที่การทำงานการจ่ายไฟฟ้าจากแหล่งจ่ายไฟฟ้าในการติดเครื่องยนต์ ระบบปรับความดัน และระบบสนับสนุนอื่นๆ เป็นต้น

สำหรับอุปกรณ์ Mode Selector Switch เป็นสวิทช์ควบคุมการเลือกหน้าที่การทำงาน การจ่ายไฟฟ้าจากแหล่งจ่ายไฟฟ้าในการติดเครื่องยนต์ มีหน้าที่ในการเลือกที่มาของแหล่งไฟฟ้าเพื่อนำไปใช้งาน และป้องกันไม่ให้ไฟฟ้าที่ไม่ได้เลือกเข้ามาในระบบ ซึ่งการเสียจะเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น การลัดวงจร วงจรขาด ขั้วหรือขาในการเลือกตำแหน่งของสวิทช์ชำรุด โดยในกรณีของเครื่องบิน CN 235 เกิดจากสาเหตุ ขั้วหรือขาในการเลือกตำแหน่งของสวิทช์ชำรุด และเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก จึงทำให้กระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้จากแหล่งกำเนิดไฟฟ้า (Generator) ไม่สามารถนำไปใช้งานได้ และไม่ชาร์จกระแสไฟฟ้าเข้าสู่แบตเตอรี่ ทำให้อุปกรณ์ที่ใช้ไฟฟ้าในเครื่องบินทั้งหมดใช้ไฟฟ้าจากแบตเตอรี่เพียงอย่างเดียว ซึ่งสามารถใช้ได้ในเวลาที่จำกัด ทำให้กระแสไฟฟ้าจากแบตเตอรี่หมด เป็นเหตุให้อุปกรณ์ที่ใช้ระบบไฟฟ้าไม่สามารถใช้งานได้ เช่น ระบบวิทยุสื่อสารจอแสดงผล แผ่นเพิ่มแรงยก (Flap) ระบบป้องกันล้อล็อค (Anti-skid) และระบบฐานล้อ (Landing gear) นักบินจึงต้องนำเครื่องบินลงจอดด้วยความเร็วมากกว่าปกติ และต้องทำการกางล้อ-ห้ามล้อด้วยระบบฉุกเฉิน ทำให้ล้อล็อค เป็นสาเหตุทำให้ยางล้อระเบิด ทั้งนี้ เรื่องอายุการใช้งานของเครื่องบินไม่ได้เป็นปัจจัยให้เกิดเหตุ เพราะมีการตรวจซ่อมตามวงรอบ และหลังจากนี้จะมีการเพิ่มขั้นตอนการตรวจสอบระบบไฟฟ้าขณะทำการบิน ทุกๆ 30 นาที ลงในคู่มือปฏิบัติการบิน และทำการตรวจเช็คอุปกรณ์ดังกล่าวทุกการตรวจซ่อม 100 ชั่วโมง เป็นมาตรการป้องกันเพิ่มเติมต่อไป

อย่างไรก็ตาม กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ดำเนินการซ่อมบำรุง เปลี่ยนอุปกรณ์ Mode Selector Switch และรายงานให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ทราบแล้ว ซึ่งรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กำชับให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร หมั่นตรวจเช็คอากาศยานอย่างสม่ำเสมอ เนื่องจากต้องทำงานเกี่ยวข้องกับสารเคมี ทั้งนี้ เครื่องบิน CN 235 สามารถใช้งานได้ตามปกติ โดยหลังจากนี้ จะนำเครื่องบินไปเสริมการปฏิบัติการฝนหลวงที่จังหวัดอุดรธานี เพื่อช่วยเหลือพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่กำลังประสบกับปัญหาภัยแล้งในด้านการเกษตรและความต้องการน้ำในเขื่อนสำคัญ ตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม 2562 เป็นต้นไปอีกด้วย นายสุรสีห์ กล่าวทิ้งท้าย

HTML::image( HTML::image( HTML::image(