นพ.ดนัย เจียรกูล ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 10 จังหวัดอุบลราชธานี (สคร.10) เปิดเผยว่า ในปีที่ผ่านมาประเทศไทยมีเด็กจมน้ำเสียชีวิตมากถึง 904 คน โดยช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อน เดือนมีนาคม-พฤษภาคมมีเด็กจมน้ำเสียชีวิตสูงสุด และพบว่าเด็กที่เสียชีวิตจากการจมน้ำส่วนใหญ่พบในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เขตสุขภาพที่10 มีเด็กอายุต่ำกว่า15 ปีเสียชีวิตจากการจมน้ำ 52 คน ปัจจัยสำคัญที่เป็นสาเหตุการจมน้ำคือ การลงเล่นน้ำคลายร้อนในพื้นที่เสี่ยง การขาดทักษะความรู้ความปลอดภัยทางน้ำ และการเฝ้าระวังดูแลเด็กในช่วงปิดภาคเรียนที่ไม่ทั่วถึง และยังพบว่าแหล่งน้ำที่เด็กจมน้ำเสียชีวิตมากที่สุด คือแหล่งน้ำธรรมชาติ
นพ.ดนัย กล่าวต่ออีกว่า ในช่วงนี้ขอให้ผู้ปกครองดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด อย่าปล่อยให้เด็กชวนกันไปเล่นน้ำกันเองตามลำพัง และขอให้ทุกชุมชนดำเนินการดังนี้ 1.สำรวจแหล่งน้ำเสี่ยงในชุมชน 2.เฝ้าระวังและแจ้งเตือนในชุมชน เช่น ประกาศเสียงตามสาย คอยตักเตือนเมื่อเห็นเด็กเล่นน้ำตามลำพัง 3.จัดการแหล่งน้ำเพื่อให้เกิดความปลอดภัย เช่น สร้างรั้ว ติดป้ายคำเตือน จัดให้มีอุปกรณ์ช่วยคนตกน้ำไว้บริเวณแหล่งน้ำเสี่ยง เช่น ถังแกลลอนเปล่าผูกเชือก ขวดน้ำพลาสติกเปล่า ไม้ และ 4.สอนให้เด็กรู้จักแหล่งน้ำเสี่ยงและอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น
สำหรับวิธีการช่วยคนจมน้ำ หากพบเห็นคนตกน้ำไม่ควรกระโดดลงไปช่วย เพราะอาจจมน้ำพร้อมกันได้ แต่ขอให้ช่วยด้วยการ "ตะโกน โยน ยื่น" คือตะโกนให้ผู้ใหญ่มาช่วย โยนอุปกรณ์ใกล้ตัวให้คนตกน้ำเกาะจับพยุงตัว และยื่นอุปกรณ์ใกล้ตัวให้คนตกน้ำจับและดึงขึ้นจากน้ำ พร้อมเน้นย้ำห้ามจับพาดบ่าหรือกระแทกเอาน้ำออกแต่ให้โทรแจ้ง1669 และทำการปฐมพยาบาลด้วยการช่วยฟื้นคืนชีพ (CPR) โดยการเป่าปาก และนวดหัวใจแทน จะทำให้ไม่เสียเวลาในการช่วยเหลือ และมีโอกาสรอดชีวิตสูงขึ้น สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit