นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank กล่าวในงาน "เรื่องเล่าจากใจ ก้าวต่อไปของ SME D Bank" เพื่อสรุปผลการดำเนินงานในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ซึ่งจะครบวาระในวันที่ 8 มีนาคม 2562 นี้ ว่า สถานการณ์ ก่อนที่จะเข้ารับตำแหน่ง ธนาคารมีหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ 3.7 หมื่นล้านบาท หรือประมาณ 40% ในช่วงกลางปี 2557 ธพว. เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ซึ่งจากการร่วมแรงร่วมใจของผู้บริหาร พนักงาน ตลอดจนผู้เกี่ยวข้อง ช่วยปรับปรุงระบบการทำงานต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาในอดีต และสร้างความยั่งยืนในอนาคต เช่น จัดทำระบบถ่วงดุลอำนาจของกระบวนการอำนวยสินเชื่อ ระบบบริหารความเสี่ยง ส่งเสริมองค์กรคุณธรรม ปรับลดวงเงินสินเชื่อใหม่ไม่เกิน 15 ล้านบาทต่อราย และยึดบทบาทการเป็นธนาคารเพื่อการพัฒนามอบความรู้คู่เงินทุนอย่างชัดเจน เป็นต้น ส่งผลให้ผลการดำเนินงานดีขึ้นโดยลำดับ จนวันที่ 19 มกราคม 2561 คณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือซูเปอร์บอร์ด มีมติให้ ธพว. เป็นหน่วยงานแรกออกจากแผนฟื้นฟูสำเร็จ
ผลจากการปรับปรุงการทำงานดังกล่าว ตั้งแต่ต้นปี 2558 ถึง ม.ค.2562 ที่ผ่านมา ธนาคารสามารถอำนวยสินเชื่อเบิกจ่ายให้ผู้ประกอบการได้กว่า 5.2 หมื่นราย วงเงินกว่า 1.44 แสนล้านบาท รักษาการจ้างงานได้กว่า 5.2 แสนคน สร้างผู้ประกอบการใหม่มากกว่า 1 พันราย ก่อให้เกิดเงินทุนหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 7.2 แสนล้านบาท สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ 2.5 แสนล้านบาท และมีหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้จากสินเชื่อใหม่นับถึงสิ้นเดือน ธ.ค.2561 เพียง 3.6% ส่วนยอดปล่อยสินเชื่อใหม่ เฉพาะปี 2561 จำนวน 17,666 ราย วงเงิน 36,714 ล้านบาท นอกจากนั้น ธนาคารจัดกิจกรรมเพิ่มความรู้และเสริมการตลาดให้ลูกค้าต่อเนื่อง เช่น สัมมนาความรู้กว่า 540 ครั้ง มีผู้เข้าร่วมกว่า 2.4 หมื่นราย พาผู้ประกอบการกว่า 1,500 รายออกบูธขายสินค้ามากกว่า 100 ครั้ง สร้างรายได้กว่า 225 ล้านบาท ช่วยส่งเสริมการตลาดผ่านสื่อมวลชนกว่า 290 ราย คิดเป็นมูลค่ากว่า 18.5 ล้านบาท และแนะนำผู้ประกอบการขยายตลาดออนไลน์ ซึ่งมียอดผู้มองเห็นมากกว่า 1.2 ล้าน Reach ต่อเดือน
นายมงคล กล่าวต่อว่า สิ่งที่ได้วางแผนไว้ และจะส่งมอบภารกิจให้แก่ผู้บริหาร ตลอดจนพนักงานธนาคาร ได้ยึดถือต่อไป คือ การมุ่งมั่นยึดบทบาทสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อย "จุลเอสเอ็มอี" หรือที่เรียกว่า "คนตัวเล็ก" ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้ค้า-แผงค้าในตลาด กลุ่มรถจำหน่ายอาหารเคลื่อนที่ FoodTruck + รถพุ่มพวง โชวห่วย และผู้ประกอบอาชีพอิสระ เป็นต้น ซึ่งมีจำนวนกว่า 3 ล้านรายทั่วประเทศ เนื่องจากผู้ประกอบการกลุ่มนี้ ความสามารถทางธุรกิจต่ำมาก เพราะเข้าไม่ถึงความช่วยเหลือจากภาครัฐ ยิ่งเมื่อต้องการเงินทุนในระบบสถาบันการเงิน แทบเป็นไปไม่ได้เลย เพราะไม่เคยมีประวัติการเงินใดๆ มาก่อน หลายรายชักหน้าไม่ถึงหลัง ต้องหันไปพึ่งเงินกู้นอกระบบแทน กลายเป็นว่า คนตัวเล็กอ่อนแอที่สุด กลับเข้าไม่ถึงมาตรการช่วยเหลือภาครัฐ ส่วนรายระดับกลางที่ปรับตัวได้ดีอยู่แล้ว สามารถเข้าถึงมาตรการสนับสนุนภาครัฐได้ด้วย ช่วยให้มีศักยภาพเพิ่มสูงขึ้นไปอีก ทำให้ช่องว่างความเหลื่อมล้ำไปถูกฉีกกว้างมากขึ้น
นอกจากนั้น ด้วยโครงสร้างเศรษฐกิจปัจจุบันเข้าสู่ยุคดิจิทัล หลายธุรกิจถูกเทคโนโลยีบีบให้เปลี่ยนแปลง จำเป็นต้องลดคนงาน มีคนล้มกำลังมองหาอาชีพใหม่ เช่น ธุรกิจสื่อ สถาบันการเงิน เป็นต้น อีกทั้ง ผู้เกษียณอายุเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หนุ่มสาวที่ไม่ได้เรียนจบในสาขาที่ตลาดต้องการ จะหางานประจำยากขึ้น ผลักให้ต้องก้าวมาเป็นผู้ประกอบการหน้าใหม่กระจายอยู่มากมายทั่วประเทศ รวมถึง ต้องสร้างโอกาสให้แก่สตาร์ทอัพ ดังนั้น ธนาคารจึงกำหนดบทบาทที่จะดูแลสนับสนุนและเพิ่มความแข็งแกร่งให้รายย่อยอย่างใกล้ชิดและทั่วถึง เพื่อให้ผู้ประกอบการอยู่รอด ขยายตลาด และประสบความสำเร็จ เพราะความสำเร็จของผู้ประกอบการ คือ ความสำเร็จของ SME D Bank
ทั้งนี้ แนวทางการสนับสนุนให้เกิดผลสำเร็จอย่างยั่งยืนนั้น ต้องครบทั้งความรู้ การเงิน และคุณภาพชีวิต มาพร้อมยกระดับการทำงานสู่ดิจิทัลแบงก์กิ้งสมบูรณ์แบบ นำเทคโนโลยีทันสมัยสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเข้าถึงบริการของธนาคารได้ง่าย สะดวก และรวดเร็ว ขอแค่มีสมองกับสองมือ สามารถดำเนินธุรกิจได้ ธนาคารจึงกำหนดยุทธศาสตร์การทำงานด้วยการมอบ "3เติม"ผ่านกระบวนการ "3D" กล่าวคือ 3 เติม ได้แก่ 1.เติมทักษะให้ความรู้เพิ่มขีดความสามารถธุรกิจ 2.เติมทุนด้วยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ ซึ่งธนาคารได้รับมอบหมายจากรัฐบาล เช่น สินเชื่อเพื่อยกระดับเศรษฐกิจชุมชน บุคคลธรรมดาปีที่ 1-3 เพียง 0.42% ต่อเดือน และนิติบุคคล อัตราดอกเบี้ย ปีที่ 1-3 เพียง 0.25% ต่อเดือน และสินเชื่อเถ้าแก่ 4.0 จากกระทรวงอุตสาหกรรม สำหรับนิติบุคคล อัตราดอกเบี้ยคงที่ 1% ต่อปี เป็นต้น และ 3.เติมคุณภาพชีวิต พาเข้าถึงสิทธิ์ประโยชน์และสวัสดิการภาครัฐ สร้างความมั่นคงในอาชีพ ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น
"3D" ได้แก่ 1.D-Development = ช่วยพัฒนาธุรกิจด้วยความรู้คู่เงินทุน 2.D-Digital = บริการทันสมัยรวดเร็วเทคโนโลยีแพลตฟอร์ม SME D Bank ยื่นขอสินเชื่อ และหาความรู้ ผ่านออนไลน์ได้ทุกเวลา ทุกสถานที่ 24x7 (24 ชั่วโมง ตลอด 7 วัน) และ3.D-Delivery = บริการถึงถิ่นทั่วไทย ผ่านหน่วยบริการเคลื่อนที่ "รถม้าเติมทุน ส่งเสริมSMEsไทยฉับไวไปถึงถิ่น"ภายใต้โครงการนี้จะมี Mobile Unit จำนวนถึง 1,000 คัน ให้บริการครอบคลุม 7,255 ตำบลทั่วประเทศ สามารถพิจารณาอนุมัติสินเชื่อจากข้อมูลเชิงประจักษ์ ไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันโดยเจ้าหน้าที่ธนาคาร จะทำงานภายใต้รหัส 8-8-7 (8 โมงเช้า ถึง 2 ทุ่ม ตลอด 7 วัน) เพื่อให้ผู้ประกอบการได้รับบริการสะดวกสบายที่สุด
นายมงคล กล่าวต่อว่า จากการสำรวจดัชนีสถานการณ์ธุรกิจ SMEs และดัชนีความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ SMEs ตลอดไตรมาสที่ 1, 2 , 3 และ 4 ประจำปี 2561 ที่ผ่านมา โดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พบว่า ลูกค้า ธพว. ที่ได้รับ3เติม และ 3D จะมีดัชนีความสามารถธุรกิจ สูงกว่าค่าเฉลี่ยของเอสเอ็มอีทั่วไป บ่งชี้แนวทางดังกล่าว สร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้ประกอบการได้จริง ดังนั้น ธนาคารจึงเดินหน้าแนวทางดังกล่าวขยายไปสู่เอสเอ็มอีไทยอย่างกว้างขวาง ตั้งเป้าปีนี้ จะสนับสนุนเข้าถึงบริการสินเชื่อมูลค่า 5.7 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็นสำหรับเอสเอ็มอีทั่วไป วงเงินเกิน 1 ล้านบาทต่อราย ประมาณ 3.5 หมื่นล้านบาท และสำหรับรายย่อย วงเงินไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อราย ประมาณ 2.2 หมื่นล้านบาท ก่อให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ เงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจกว่า 2.86 แสนล้านบาท
"จากแนวทางให้ 3 เติม ผ่านกระบวนการ 3D และยกระดับองค์กรสู่ดิจิทัลแบงก์กิ้งของ SME D Bank จะก่อประโยชน์แก่ทุกฝ่าย ช่วยผู้ประกอบการคนตัวเล็ก อยู่รอด ตลาดเติบโต ก้าวไปสู่ธุรกิจขนาดกลางและใหญ่ในอนาคต ซึ่งความสำเร็จของผู้ประกอบการ นั่นคือความสำเร็จของ SME D Bank" นายมงคล ทิ้งท้าย
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit