ต่อจากนั้นเสด็จฯทรงกดปุ่มไฟฟ้าเปิดแพรคลุมป้ายอาคารเรือนนอน "สุขเขษม" ทรงทอดพระเนตรนิทรรศการอาคารเรือนนอน "สุขเขษม" ก่อนจะเสด็จฯไปยังอาคาร "เกษตรเมธี" เพื่อทรงตัดริบบิ้นเปิดอาคาร "เกษตรเมธี" พร้อมทอดพระเนตรนิทรรศการอาคาร "เกษตรเมธี" และปลูกต้นพะยูง ทรงฉายพระรูปร่วมกับคณะกรรมการและครูอาจารย์จำนวน ๔ ชุด ใต้อาคารเรือนนอน "สุขเขษม"
สำหรับโรงเรียนเฉลิมพระเกียรติ ๔๘ พรรษา เดิมชื่อ โรงเรียนร่วมน้ำใจ เป็นโรงเรียนประจำหญิงล้วน ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๕ โดยมูลนิธิร่วมน้ำใจต้านภัยเอดส์ มีนางสายสม วงศาสุลักษณ์ ประธานมูลนิธิร่วมน้ำใจต้านภัยเอดส์ ร่วมกับคณะกรรมการก่อตั้งมูลนิธิฯ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้การอุปการะเด็กหญิงกำพร้าที่บิดามารดาเสียชีวิตจากโรคเอดส์ เด็กที่ขาดผู้อุปการะเลี้ยงดูรวมถึงเด็กด้อยโอกาสจากทุกจังหวัดทั่วประเทศ ที่จบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ เพื่อให้ได้รับการศึกษาต่อในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑-๖ เป็นโรงเรียนประจำกินนอนโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้นซึ่งต้องใช้งบประมาณปีละ ประมาณ ๑๘ ล้านบาท ซึ่งงบประมาณดังกล่าวได้มาจากผู้มีจิตเมตตาบริจาคทั้งสิ้น และทางโรงเรียนยังได้รับพระเมตตาจากพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานความช่วยเหลือเป็นค่าอาหาร และค่าอุปกรณ์การเรียน การสอนแก่เด็กที่น่าสงสารเหล่านี้มาโดยตลอด
เมื่อเริ่มก่อตั้งโรงเรียนในช่วงแรกนั้น โรงเรียนมีอาคารจำนวนทั้งสิ้น ๓ หลัง ประกอบด้วย อาคารเรียน ๑ หลัง ขนาด ๓ ชั้น ๑๕ ห้องเรียน โดยใช้ชื่ออาคารว่า "รวม...ร่วมน้ำใจ",อาคารเรือนนอน ที่ชื่อ "Spansion"จำนวน ๑ หลัง และอาคารเรือนรับรองสำหรับครูและอาสาสมัคร อีก ๑ หลัง ใช้งบประมาณรวมทั้งหมด ๑๐ ล้านบาท และจัดหาอุปกรณ์สำหรับใช้ในการเรียนการสอน เช่น คอมพิวเตอร์ โสตทัศนูปกรณ์ เครื่องทำน้ำเย็นสำหรับใช้ดื่มรวมทั้งอุปกรณ์เสริมหลักสูตรอื่นๆ จัดการศึกษาแบบให้เปล่า ไม่เก็บค่าเล่าเรียน ค่าที่พัก ค่าอาหารและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ซึ่งได้รับอนุญาตให้เปิดทำการเรียนการสอนได้ตามระเบียบและข้อบังคับจากกระทรวงศึกษาธิการให้เป็นโรงเรียนสามัญ ประเภท ๑๕ (๓) โดยมีนางสายสม วงศาสุลักษณ์ ประธานมูลนิธิฯ เป็นผู้รับใบอนุญาต ตั้งแต่วันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๔๕
ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๔๖ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โปรดเกล้าฯพระราชทานนามให้โรงเรียนใหม่ว่า"โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติ ๔๘ พรรษา" ในวโรกาสที่ทรงมีพระชนมายุครบ ๔๘ พรรษา โดยเสด็จพระราชดำเนินเปิดอาคารเรียน เมื่อวันที่ ๓๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๗ ปัจจุบัน มีอาคารเรียน ๒ หลัง ,อาคารเรือนนอน จำนวน ๓ หลัง ,อาคารเรือนรับรองสำหรับครูและอาสาสมัคร ๑ หลัง ,อาคารหอประชุมเฉลิมพระเกียรติ ๕๐ พรรษา ,อาคารหอสมุดดรุณปัญญา ,อาคารหอศิลป์ดรุณนิรมิต เป็นอาคารใช้แสดงผลงานนักเรียนและมีศูนย์การเรียนรู้ด้านการท่องเที่ยวจังหวัดลำพูน,อาคารศูนย์ฝึกอาชีพ "ศิลป์สิริ" เป็นอาคารสำหรับการทำงานฝีมือของนักเรียน และอาคารโรงยิมเฉลิมพระเกียรติ สำหรับการฝึกซ้อมกีฬาประเภทต่างๆ
และเมื่อวันที่ ๑ สิงหาคม ๒๕๕๙ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงรับ โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติ ๔๘ พรรษา อยู่ในพระราชูปถัมภ์ โดยใช้คำว่า "ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี" ต่อท้ายชื่อโรงเรียน ทางโรงเรียนฯ จัดการเรียนการสอนด้านวิชาการตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานควบคู่กับการฝึกอบรมด้านอาชีพให้แก่นักเรียนทุกคน เพื่อให้นักเรียนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันหรือนำไปประกอบอาชีพในอนาคตได้ เช่น การทำขนม ,การทอผ้า ,การประดิษฐ์ดอกไม้ ,การร้อยมาลัย ,การทำพานพุ่ม ,งานเซรามิค ,งานเสริมสวย และยังมีโครงการเศรษฐกิจพอเพียงในโรงเรียนตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เช่น การทำเกษตรผสมผสาน ,การปลูกผักอินทรีย์ ,การปลูกข้าวไรซ์เบอรี่อินทรีย์ ,การปลูกพืชสมุนไพร ,การเลี้ยงหมู ,การเลี้ยงไก่ไข่ ,การเลี้ยงไก่ประดู่หางดำ ,การเลี้ยงปลาดุก และการเพาะเห็ดนางฟ้า เป็นต้น
นอกจากจะได้รับการฝึกอบรมด้านงานอาชีพแล้ว นักเรียนบางกลุ่มยังมีความสนใจในการเล่นกีฬาและทำการฝึกซ้อมจนสามารถสร้างชื่อเสียงทางด้านกีฬาให้กับโรงเรียน อาทิเช่น เรือพาย ,กรีฑา, เทควันโด ,ซอฟท์บอล ,คาราเต้โด ,วอลเล่ย์บอลและเซปรักตะกร้อ ซึ่งนักเรียนได้เข้าเป็นตัวแทนนักกีฬาเยาวชนแห่งชาติและได้รับคัดเลือกเป็นตัวแทนทีมชาติในกีฬาเรือพายและกีฬาซอฟท์บอล
ปัจจุบันมีนักเรียนทั้งสิ้น ๔๑๔ คน จากจำนวนนักเรียนที่เพิ่มมากขึ้นทุกปี ทำให้อาคารเรือนนอนทั้ง ๓ หลัง ไม่เพียงพอต่อการรองรับจำนวนนักเรียนได้ทั้งหมด จึงจำเป็นต้องมีการสร้างอาคารเรือนนอนหลังใหม่ขึ้น ซึ่งต้องใช้งบประมาณในการก่อสร้างทั้งสิ้น เป็นเงิน ๗,๗๑๓,๐๐๐ บาท ทางโรงเรียนจึงได้ของบประมาณจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนเพื่อสนับสนุนการสร้างโดยได้รับการจัดสรรงบประมาณเป็นเงิน ๕,๓๙๙,๑๐๐ บาท ทางโรงเรียนจึงต้องจัดหางบประมาณจากผู้มีจิตเมตตาเพิ่ม อีกจำนวน ๒,๓๑๓,๙๐๐ บาท และได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานชื่อ "อาคารสุขเขษม"
อีกทั้งโรงเรียนยังได้จัดทำโครงการเศรษฐกิจพอเพียงด้านการเกษตรในโรงเรียนโดยฝึกให้นักเรียนทำการเกษตรตามแนวหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง จึงได้จัดสร้างอาคารขึ้นเพื่อใช้เป็นแหล่งการเรียนรู้ ให้กับเด็กเยาวชน และผู้ที่สนใจ โดยจัดให้มีนิทรรศการด้านการเกษตรอินทรีย์ ,การสาธิตฐานการเรียนรู้กลุ่มเศรษฐกิจพอพียงของโรงเรียน นอกจากนี้ยังให้บริการในการใช้สถานที่ในการจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินโครงการด้านการเกษตรอินทรีย์ โดยได้รับความกรุณาจาก คุณเฉิดโฉม จันทราทิพย์ บริจาคเงินค่าก่อสร้าง จำนวน ๓,๓๐๐,๐๐๐ บาท และได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานชื่อ "อาคารเกษตรเมธี"อีกด้วย
เด็กนักเรียนที่จบชั้นมัธยมศึกษา ปีที่ ๖ ส่วนใหญ่เกือบ ๑๐๐% สามารถสอบเข้าเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยได้ เช่น จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิยาลัยหัวเฉียว มหาวิทยาลัยพะเยา และมหาวิทยาลัยนเรศวร และวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี เป็นต้น
สำหรับผู้มีจิตศรัทธาอยากจะร่วมบริจาคเงินให้กับโรงเรียนฯ สามารถบริจาคเงินโดยวิธีการโอนเข้าบัญชีโรงเรียนเฉลิมพระเกียรติ ๔๘ พรรษา ธนาคารกรุงเทพ สาขาบางกะปิ เลขที่ ๑๐๕-๔-๗๑๕๔๔-๔ หรือสามารถติดต่อขอบริจาคได้ที่ โรงเรียนเฉลิมพระเกียรติ ๔๘ พรรษา ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีเลขที่ ๕ หมู่ ๙ ตำบลต้นธง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน ๕๑๐๐๐โทรศัพท์ ๐๕๓-๐๙๒๔๔๔ โทรสาร ๐๕๓-๐๙๒๔๔๔ โดยสามารถนำใบเสร็จไปลดหย่อนภาษีได้ ๒ เท่า ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่www.chalermprakietschool.org และhttps://www.facebook.com/clpk48school
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit