“รมช.วิวัฒน์” เร่งพัฒนาฟื้นฟูพื้นที่เสี่ยงดินถล่ม จ.นครศรีธรรมราช น้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร เข้าแก้ไขปัญหา พร้อมจับมือบูรณาการกระทรวงที่เกี่ยวข้องวางแผนรับมือดินถล่ม

31 Jan 2019
นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังติดตามความก้าวหน้าการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยธรรมชาติที่เกิดจากการชะล้างพังทลายของดินและดินถล่ม อำเภอนบพิตำ จังหวัดนครศรีธรรมราช ว่า เนื่องจากพื้นที่ อำเภอนบพิตำ จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นพื้นที่ที่มีความลาดชัน โดยมีสภาพพื้นที่เป็นลูกคลื่นลอนชันสลับภูเขา ล้อมรอบด้วยภูเขาสูง ส่วนมากเป็นดินที่สลายตัวจากหินแกรนิต ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดดินถล่มได้ง่ายหากมีปริมาณน้ำฝนมากและตกติดต่อกันต่อเนื่อง อีกทั้งเคยประสบปัญหาดินถล่มจากน้ำท่วม เมื่อปี 2554 สร้างความเสียหายกับพืชผลทางการเกษตรและบ้านเรือนของเกษตรกรเป็นอย่างมาก โดยอำเภอนบพิตำ มีพื้นที่รวมทั้งอำเภอ จำนวน 450,097 ไร่ มีพื้นที่เสี่ยงที่อาจเกิดดินถล่มสูงหากมีปริมาณน้ำฝนมากประมาณ 88,000 ไร่ โดยพื้นที่ของจังหวัดมีการใช้ที่ดินเป็นพื้นที่ป่า 274,875 ไร่ ไม้ยืนต้น/ ยางพารา 141,699 ไร่ ไม้ผล (ทุเรียน มังคุด) 20,881 ไร่ และชุมชน6,351 ไร่ เป็นต้น

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมพัฒนาที่ดิน และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช จึงเข้าไปศึกษาและดำเนินการพัฒนาฟื้นฟูพื้นที่ที่เสี่ยงดินถล่ม พร้อมทั้งวางระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ โดยน้อมนำแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในการปลูกหญ้าแฝกเพื่อป้องกันการชะล้างพังทลายของหน้าดิน โดยพื้นที่ดังกล่าวได้รับการฟื้นฟูทั้งทางกล เช่น ทำทางเบนน้ำทำขั้นบันได และทางระบบพืช การปลูกไม้ผล โดยมีเครื่องตรวจวัดน้ำฝน และมีแปลงทดลองเก็บตะกอนดิน เพื่อช่วยในการเก็บข้อมูลพื้นที่เสี่ยงดินถล่ม จัดระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ พร้อมทั้งวางแนวทางป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยธรรมชาติที่เกิดจากการชะล้างพังทลายของดินและดินถล่ม อาทิ การอบรมให้ความรู้เข้าใจถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ โดยส่งเสริมมาตรการอนุรักษ์ดินและน้ำที่เหมาะสม สาธิต สนับสนุนปัจจัยเพื่อป้องกันดินถล่มและการชะล้างพังทลายของดิน จัดทำแผนการใช้ที่ดินตามฤดูกาล ติดตั้งอุปกรณ์เตือนภัย และกำหนดพื้นที่ห้ามอยู่อาศัย

"การชะล้างหน้าดินในประเทศไทยมีความรุนแรงมากถึง 100 กว่าล้านไร่ เกษตรกรที่เข้ามาทำการเกษตรในพื้นที่ป่า มีประมาณไม่น้อยกว่า 10 ล้านไร่ ซึ่งมีพื้นที่เสี่ยงดินถล่มอันตรายถึงชีวิตและทรัพย์สิน มากกว่า 100 จุด พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตรและสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงห่วงใยประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติดังกล่าว ดังนั้น หน่วยงานภาครัฐจึงต้องบูรณาการทำงานร่วมกันอย่างจริงจัง ทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานอื่นๆที่เกี่ยวข้อง โดยให้ผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้านร่วมบูรณาการศึกษาข้อมูลภัยพิบัติ เพื่อนำมาวางแผนป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยธรรมชาติที่เกิดจากการชะล้างพังทลายของดิน โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อประชาชน" นายวิวัฒน์กล่าว

จากนั้นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เดินทางไปยังพื้นที่ หมู่ 11 ซึ่งเคยประสบเหตุการณ์ดินถล่มเมื่อปี 2554 ทำให้ถนนถูกตัดขาด รถไม่สามารถสัญจรได้ ทางหน่วยงานราชการได้เข้ามาฟื้นฟูพื้นที่ มีการทำถนนลดระดับเป็นสะพานที่เหมาะสมกับพื้นที่ภัยพิบัติพร้อมทั้งเยี่ยมชมบ้าน นายวิรัช ชูศรีสุข ชาวบ้านชุมชนที่มีการสร้างบ้านที่มีความเหมาะสมกับพื้นที่ดินถล่ม โดยมีการสร้างกำแพงป้องกันดินถล่มด้วย