นายเยี่ยม ถาวโรฤทธิ์ รักษาการผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย ในฐานะเจ้าภาพในการจัดงานจับคู่ทางธุรกิจครั้งนี้กล่าวว่า การจับคู่ทางธุรกิจเป็นการเปิดโอกาสให้กลุ่มสถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ซึ่งเป็นผู้ผลิตยางพาราได้พบกับผู้ซื้อยางซึ่งเป็นผู้ประกอบกิจการยางพาราจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมถึงกลุ่มประเทศตลาดใหม่ ได้แก่ เม็กซิโก เกาหลีใต้ ศรีลังกา อินเดีย ไต้หวัน อเมริกา อิหร่าน เป็นต้น โดยมีการสั่งซื้อยางจากกลุ่มสถาบันเกษตรกรและ กยท. คิดเป็น ร้อยละ 57 ของจำนวนบริษัททั้งหมดที่เข้าร่วมการจับคู่เจรจาธุรกิจ ทั้งนี้ มีการสั่งจองยางหลายประเภท ได้แก่ น้ำยางข้น ยางเครปขาว ยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง เป็นต้น รวมเป็นปริมาณกว่าเดือนละ 58,000 ตัน หรือ 696,000 ตันต่อปี
"การจัดกิจกรรมจับคู่ทางธุรกิจในครั้งนี้ ถือเป็นการเพิ่มโอกาสให้กับเกษตรสถาบันเกษตรกร กลุ่มเกษตรกร ได้เพิ่มทักษะในการเจรจาธุรกิจ เพิ่มช่องทางในการจำหน่ายและยอดขายยางแปรรูปของไทยไปยังต่างประเทศและรวมถึงกลุ่มประเทศตลาดใหม่ โดยมี กยท. ทำหน้าที่เป็นผู้ติดต่อขายยางให้แก่ผู้ซื้อทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งเป็นการกระตุ้นให้กลุ่มเกษตรกรผลิตยางพาราให้มีคุณภาพ เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าให้สูงขึ้น ทั้งนี้ ยังส่งผลให้ต่างประเทศทราบว่าประเทศไทยสามารถแปรรูปยางประเภทต่างๆ ที่มีคุณภาพดี และมีมาตรฐาน ซึ่งจะเป็นวัตถุดิบในการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ยางต่างๆ ได้ทั่วโลก" รก.ผู้ว่าการ กยท. กล่าวทิ้งท้าย
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit