บัญชีกลางแจงหลักการและเหตุผลในการปรับหลักเกณฑ์การเบิกจ่าย ค่ายารักษาโรคมะเร็งและโลหิตวิทยาที่มีค่าใช้จ่ายสูง

16 Jul 2018
กรมบัญชีกลางชี้แจงหลักการและเหตุผลในการกำหนดหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายค่ายารักษาโรคมะเร็งและโลหิตวิทยาที่มีค่าใช้จ่ายสูง

นางสาวสุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า ตามที่กรมบัญชีกลางได้กำหนดหลักเกณฑ์และแนวทางปฏิบัติในการเบิกจ่ายตรงค่ารักษาพยาบาลสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งและโลหิตวิทยา (ระบบ OCPA) ซึ่งจำเป็นต้องใช้ยาที่มีค่าใช้จ่ายสูง การกำหนดหลักเกณฑ์ดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล คุ้มค่า เกิดประโยชน์และปลอดภัยกับผู้ป่วย เนื่องจากยากลุ่มดังกล่าวมีความเหมาะสมสำหรับการรักษาเฉพาะบางโรค บางกรณี เท่านั้น และเป็นยาอันตรายซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยได้รับผลข้างเคียงรุนแรงจากการใช้ยาหรืออาจเป็นอันตรายต่อชีวิตได้อีกด้วย นอกจากนี้ หากใช้ยากับผู้ป่วยที่มีภาวะไม่เหมาะสม เช่น ผู้ป่วยติดเตียง หรือผู้ป่วยที่มีร่างกายอ่อนแอมาก ๆ อาจเกิดอันตรายกับผู้ป่วยได้ นอกจากนี้ ยากลุ่มนี้เป็นยาที่มีคุณสมบัติเฉพาะ ซึ่งไม่เหมาะสมที่จะใช้หลักเกณฑ์การเบิกจ่ายค่ายาที่กระทรวงการคลังกำหนดไว้เดิม (หนังสือกระทรวงการคลัง ด่วนที่สุด ที่ กค 0422.2/ว 111 ลงวันที่ 24 กันยายน 2555)

ในการปรับปรุงหรือกำหนดรายการยาและเงื่อนไขข้อบ่งชี้สำหรับการเบิกจ่ายค่ายามะเร็งฯ ที่มีค่าใช้จ่ายสูงดำเนินการโดยมีคณะทำงาน ซึ่งประกอบไปด้วยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากองค์กรวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง เช่น มะเร็งวิทยาสมาคมแห่งประเทศไทย สมาคมโลหิตวิทยาแห่งประเทศไทย เป็นต้น เพื่อทำหน้าที่พิจารณากลั่นกรองข้อมูลวิชาการทางการแพทย์ พร้อมทั้งเสนอแนวทางพัฒนาระบบการเบิกจ่ายค่ายาดังกล่าว โดยคณะทำงานได้เห็นควรกำหนดห้ามเบิกจ่ายค่ายาที่มีราคาสูงบางรายการ ซึ่งเป็นยาที่สามารถใช้ยาอื่นหรือการรักษาอื่นทดแทนได้ และมีผลการรักษาที่ใกล้เคียงกันหรือไม่แตกต่างกัน โดยผู้ป่วยสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการยังคงได้รับการรักษาพยาบาลที่มีคุณภาพ ตามความเหมาะสม และจำเป็น แต่เพื่อลดผลกระทบจากการกำหนดมาตรการ จึงกำหนดเป็นรายการยาที่ยังคงให้เบิกจ่ายได้ แต่ในกรณีการรักษาพยาบาลประเภทผู้ป่วยนอก ผู้มีสิทธิต้องทดรองจ่ายเงินไปก่อน แล้วนำใบเสร็จรับเงินไปเบิกกับต้นสังกัด ทั้งนี้ ใช้บังคับเฉพาะผู้ป่วยรายใหม่ สำหรับผู้ป่วยที่ใช้ยาและเบิกจ่ายตรงก่อน 14 กุมภาพันธ์ 2561 ยังคงเบิกจ่ายตรงได้เช่นเดิม อีกทั้งคณะทำงาน ได้พิจารณาเห็นควรปรับปรุงรายการและเงื่อนไขข้อบ่งชี้ในการเบิกจ่ายค่ายาในระบบ OCPA และในกรณีที่มียาซึ่งสามารถใช้ทดแทนได้ในการรักษาโรคหรือข้อบ่งชี้เดียวกัน ให้มีการต่อรองราคาเพื่อคัดเลือกยาเข้าระบบ OCPA เพียงรายการเดียว เพื่อให้กรมบัญชีกลางมีอำนาจในการต่อรองราคาทำให้ผู้ป่วยทั้งสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ ผู้ป่วยสิทธิอื่น รวมถึงผู้ป่วยที่จ่ายเงินเอง ได้รับประโยชน์ในการเข้าถึงยาได้มากกว่า เนื่องจากยาบางรายการสามารถลดราคาได้มากกว่า 50%

การปรับปรุงระบบ OCPA ได้มีการปรับเพิ่มรายการยาในระบบดังกล่าว จากเดิม มียา 6 รายการ เป็น 9 รายการ และเพิ่มเงื่อนไขและข้อบ่งชี้ในการใช้ยา จากเดิม 7 โรค เพิ่มเป็น 17 โรค ซึ่งจากการปรับเพิ่มรายการแล้ว ทำให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งเข้าถึงการรักษาได้มากขึ้น ประมาณ 1.5 เท่า สำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งปอด และเพิ่มขึ้น 2 เท่า ในผู้ป่วยมะเร็งเต้านม

นอกจากนี้ การกำหนดรายการยาในระบบ OCPA จำนวน 6 รายการ เป็นยาที่กำหนดไว้ในบัญชียาหลักแห่งชาติ บัญชี จ(2) ด้วย เพียงแต่ข้อบ่งชี้ในการเบิกจ่ายในระบบ OCPA กำหนดไว้มากกว่า ซึ่งทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาได้มากยิ่งขึ้น เช่น ยา Rituximab ข้อบ่งชี้ในการเบิกจ่ายที่กำหนดในระบบ OCPA ได้แก่ Diffuse large B cell lymphoma (DLBCL) Follicular lymphoma Mantle cell lymphoma Chronic lymphocytic leukemia และ Marginal zone lymphoma ส่วนกำหนดใช้ในข้อบ่งชี้บัญชียาหลักแห่งชาติ บัญชี จ(2) มีเพียง Diffuse large B cell lymphoma (DLBCL) เท่านั้น

อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวในตอนท้ายว่า กรมบัญชีกลางดำเนินการปรับปรุงหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งและโลหิตวิทยาซึ่งจำเป็นต้องใช้ยาที่มีค่าใช้จ่ายสูง ดำเนินการภายใต้คณะทำงานที่ประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านในสาขาวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง โดยคำนึงถึงความสมเหตุสมผลในการใช้ยา สอดคล้องกับวิวัฒนาการทางการแพทย์ เกิดประโยชน์ และที่สำคัญคือต้องมีความปลอดภัยกับผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาด้วย และการกำหนดหลักเกณฑ์ดังกล่าว ผู้ป่วยสิทธิสวัสดิการ ยังคงสามารถเข้าถึงยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติได้ หากมีความจำเป็นทางการแพทย์ ตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงการคลังกำหนด (ว 111)