บี.กริม ผนึกกำลังจัดสัมมนา “โครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อยในชั้นเรียน”

25 Jul 2018
มูลนิธิสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ร่วมกับ กลุ่มบริษัท บี.กริม, บริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด, สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี, สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน, สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ, องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ และมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จัดงานสัมมนาวิชาการโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ครั้งที่ 1 หัวข้อ 'การจัดการเรียนรู้โครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อยในชั้นเรียน' เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างครูที่เข้าร่วมโครงการฯ ผู้บริหารโรงเรียน ผู้นำเครือข่ายท้องถิ่น และวิทยากรเครือข่ายท้องถิ่น ได้นำข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์มาพัฒนาต่อยอดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ระดับปฐมวัย ปลูกฝังนิสัยรักวิทยาศาสตร์ให้เด็กอนุบาล และนำไปปรับใช้ตามบริบทของโรงเรียนอย่างเหมาะสม โดยได้รับเกียรติจาก Miss Karen Brunger วิทยากรจากมูลนิธิบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย ประเทศเยอรมนี ร่วมบรรยายพิเศษในหัวข้อ 'การจัดการเรียนรู้วิทยาการคอมพิวเตอร์สำหรับเด็กปฐมวัยและประถมศึกษา' พร้อมทั้งมีการจัดกิจกรรม Mini Workshop จากวิทยากรหลักของโครงการฯ เรื่อง 'ทำโครงงานอย่างไร..ให้เป็นโครงงาน' และ 'การใช้คำถามกระตุ้นการเรียนรู้ในชั้นเรียน'
บี.กริม ผนึกกำลังจัดสัมมนา “โครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อยในชั้นเรียน”

นางกรรณิการ์ เฉิน ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า ในปีนี้มีการกำหนดหัวข้อการนำเสนอโดยแบ่งออกเป็น 1.หัวข้อสำหรับเครือข่ายท้องถิ่น ได้แก่ การบริหารจัดการเครือข่ายท้องถิ่น และการอบรมและพัฒนาครูของวิทยากรเครือข่ายท้องถิ่น ให้ครูสามารถนำไปต่อยอดในชั้นเรียนตามบริบทของโรงเรียนได้อย่างประสบความสำเร็จ และ 2.หัวข้อสำหรับคุณครูและโรงเรียน ได้แก่ การจัดการเรียนรู้โครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อยในชั้นเรียน โดยเชื่อมโยงกับบริบทท้องถิ่นหรือการจัดการเรียนรู้ของโรงเรียน และการบริหารจัดการโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อยในโรงเรียนให้บรรลุเป้าหมายของโครงการ โดยผลงานที่นำมาเสนอทุกชิ้นจะได้รับเกียรติบัตรประทับตราพระราชทานโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อยประเทศไทย ประจำปีการศึกษา 2560 ในวันที่ 23-24 สิงหาคม 2561

นายเชิดชาย ยิ่วเหล็ก กรรมการผู้จัดการ กลุ่มโรงไฟฟ้า อมตะ บี.กริม เพาเวอร์ (ชลบุรี) เปิดเผยว่า ทางกลุ่มโรงไฟฟ้าฯ เข้าร่วมโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อยมาตั้งแต่ปี 2553 ปัจจุบันมีโรงเรียนในเครือข่าย 74 โรง และจะเพิ่มเป็น 82 โรงภายในปีนี้ เนื่องจากมองว่าวิทยาการคอมพิวเตอร์ (Computer Science) เป็นสิ่งจำเป็นต่อการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ Thailand 4.0 ตามนโยบายรัฐบาล และในประเทศไทยยังมีผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์ค่อนข้างน้อย การปลูกฝังให้เยาวชนรักวิทยาศาสตร์ตั้งแต่เด็กจึงเป็นเรื่องที่ดี

"โรงเรียนเอกชนซึ่งเป็นโรงเรียนส่วนใหญ่ในเครือข่าย ยังมีข้อจำกัดเรื่องบุคลากรที่มีศักยภาพมากพอจะพัฒนาให้เป็นวิทยากรเครือข่ายท้องถิ่น ดังนั้นแนวทางขับเคลื่อนโครงการฯ ในระยะสั้น จะเน้นการพัฒนาบุคลากรกลุ่มดังกล่าวเป็นหลัก ควบคู่กับการสนับสนุนให้โรงเรียนที่อยู่ในเครือข่ายขับเคลื่อนโครงการใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง" นายเชิดชัยกล่าว

นอกจากโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย อมตะ บี.กริม เพาเวอร์ ยังร่วมกับวิทยาลัยเทคนิคชลบุรี จังหวัดชลบุรี จัดโครงการพัฒนาศักยภาพวิชาชีพของนักศึกษา ด้วยการส่งเสริมให้ได้ฝึกงานในสถานที่จริง สัปดาห์ละ 3 วัน เป็นระยะเวลา 2 ปี ขณะนี้ดำเนินการมาแล้ว 6 รุ่น มีผู้สำเร็จหลักสูตรประมาณ 58-68 คน โดยในปี 2562 เตรียมลดเวลาของหลักสูตรเหลือเพียง 1 ปี แต่เพิ่มจำนวนวันต่อสัปดาห์เป็น 4 วัน รวมถึงหากเห็นฝีมือและความตั้งใจของนักศึกษาที่จบหลักสูตร ก็พร้อมจะรับเข้ามาทำงานกับบริษัทฯ

นายพงษ์ศักดิ์ เรืองปฏิกรณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บี.กริม เรียลเอสเตท จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทฯ อยู่ระหว่างเชิญชวนให้โรงเรียนอนุบาลบริเวณโดยรอบอาคารอัลม่า ลิงค์ ถนนชิดลม และอาคารเกฮาร์ด ลิงค์ ถนนกรุงเทฑกรีฑา เข้าร่วมโครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อย เบื้องต้นมีโรงเรียนสนใจเข้าร่วมโครงการฯ แล้วจำนวนหนึ่ง คาดว่าจะเริ่มดำเนินโครงการฯ ได้ช่วงต้นปี 2562นางสาวคิม จงสถิตย์วัฒนา กรรมการผู้จัดการ บริษัท นานมีบุ๊คส์ จำกัด กล่าวว่า โครงการบ้านนักวิทยาศาสตร์น้อยดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 8 ร่วมกับเครือข่ายท้องถิ่นจำนวน 232 แห่ง และโรงเรียน 21,352 โรงทั่วประเทศ เพื่อหาแนวทางการพัฒนาครูในเครือข่ายให้มีมาตรฐานสูง ได้รับความร่วมมือจากโรงเรียนและชุมชน รวมถึงสื่อสารให้โรงเรียนเข้าใจถึงปรัชญาของโครงการและสามารถต่อยอดเข้ากับบริบทของชุมชนได้

HTML::image( HTML::image(