กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ขอใช้เรื่องนี้เป็นบทเรียนสำคัญที่ต้องตระหนักในการนำมาปรับเพิ่มภารกิจของกระทรวงฯ ในแง่ที่ต้องมีการสำรวจข้อมูลพื้นฐานแหล่งท่องเที่ยวทางถ้ำ ภูเขา น้ำตก หน้าผาตลอดถึงการเที่ยวทางน้ำ ทางทะเล ให้ครบถ้วน เพื่อมุ่งเน้นในเรื่องความปลอดภัยสำหรับการท่องเที่ยว และด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
ส่วนด้านการกีฬาซึ่งเป็นอีกหนึ่งภารกิจของกระทรวงฯ ก็สามารถนำบทเรียนของเหตุการณ์ครั้งนี้ไปเน้นการพัฒนาบุคลากรให้มีองค์ความรู้ที่จำเป็น สามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้เป็นอย่างดี ปัจจุบันกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬามีบุคลากรทางด้านกีฬาที่ประจำอยู่ในทุกอำเภอ จำนวน 878 อำเภอ และประจำในเขตจังหวัด ครบทั้ง 76 จังหวัด เรียกว่า "เจ้าหน้าที่พลศึกษาประจำอำเภอ" โดยมีจำนวนรวมทั้งสิ้น 954 คน
จึงนับเป็นเครือข่ายสำคัญที่จะสามารถสร้างให้มีจิตอาสาพัฒนากีฬาและนันทนาการ (อสก.) ที่ร่วมส่งเสริมให้มีการเล่นกีฬาและออกกำลังกายของประชาชนประจำทุกหมู่บ้าน ตามแผนพัฒนากีฬาแห่งชาติ (พ.ศ. 2560 – 2564) และที่ผ่านมา ได้เริ่มดำเนินการฝึกอบรมจิตอาสาฯ เหล่านี้ นับแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 เป็นต้นมา มากกว่า 4,000 หมู่บ้าน สิ่งที่ต้องทำเพิ่มขึ้นอีกจากที่รับผิดชอบอยู่ คือ
1) การสร้างความรัก ความสามัคคี ให้กับประชาชนในทุกพื้นที่ โดยใช้กิจกรรม กีฬาและนันทนาการ
2) การดูแลและสนับสนุนให้ความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อป้องกันภัย ที่จะเกิดกับนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศ
3) การให้ความรู้ทางด้านพลศึกษา เพื่อพัฒนาทักษะให้สามารถช่วยเหลือตนเองเมื่อมีภัยใกล้ตัว ปลัดฯพงษ์ภาณุ กล่าวทิ้งท้ายว่าหากเรารู้จักพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาส ครั้งนี้น่าจะเป็นอีกหนึ่งสถานการณ์ที่เราจะสามารถนำเอาบทเรียนที่ไม่เคยเกิดขึ้นที่ใดในโลกมาผลักดันงานด้านการท่องเที่ยวและด้านการกีฬาทั้งการวางแผนการพัฒนางาน ซึ่งแต่ละท้องถิ่นแต่ละพื้นที่อาจมีสภาพแวดล้อมที่ต้องดำเนินการแตกต่างกันไป อันนี้จะเป็นเรื่องที่หน่วยงานรับผิดชอบจะต้องหาแนวทาง กำหนดบทบาทให้บุคลากรทุกระดับแม้กระทั่งเจ้าหน้าที่พลศึกษาประจำอำเภอ อาสาสมัครกีฬาและนันทนาการ (อสก.) สามารถนำไปปฏิบัติเพื่อให้งานเกิดประสิทธิผลมากที่สุด
ติดต่อเราได้ที่ facebook.com/newswit